กะแย

ชื่อเรียกตนเอง : กะแย, กะยา

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ยางแดง, กะหยิ่นนี, คะเรนนี, กะเหรี่ยงแดง

ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต

ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 06 พ.ย. 2566

321

กลุ่มชาติพันธุ์กะแย หรือที่รู้จักในประเทศไทยว่ากะเหรี่ยงแดงนั้น มีชื่อเรียกในภาษาตนเองคือ “กะแย” หมายถึงคน หรือมนุษย์ บางครั้งออกเสียงว่ากะแยลี นอกจากนี้ยังเรียกตัวเองว่า บเว อาจออกเสียงเป็น แบร บวอย หรือปะแย ได้ด้วยช่นกัน ขณะที่คนนอกวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือมักรู้จักในชื่อยางแดง อย่างไรก็ตามเนื่องจากชาวกะแยสัมพนธ์กับชาวเมียนมาในรัฐคะยา ทำให้ในสังคมเมียนมาร์ และเอกสารจากต่างประเทสรู้จักพวกเขาในชื่อ กะยา กะหยินนี หรือคะเรนนี อย่างไรก็ตามระยะหลังคนรุ่นใหม่รณรงค์ให้ใช้ชื่อเรียก “กะแย” มากขึ้น เนื่องจากต้องการสื่อสารให้คนนอกวัฒนธรรมเข้าใจวิถีวัฒนธรรมและตัวตนของชาวกะแย

กะเหรี่ยงแดงหรือ หรือกะแยนั้น นักวิชาการอนุมานว่าได้เริ่มอพยพเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าเข้ามาสู่ประเทศไทยหลังยุคล่าอาณานิคม และมีความเข้มข้นของการเคลื่อนย้ายเมื่อเกิดสถานการณ์สู้รบในประเทศพม่าหลังการปลอดปล่อยพม่าจากการเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองและการต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยเพื่อการแยกตัวเป็นอิสระ ขณะที่หลักฐานตำนานพื้นบ้านของโยนกนั้นระบุว่า ผู้ครองแค้วนคะยาก่อนเข้ามาของอังกฤษนั้น อยู่ภายใต้อาณัติของโยนกผู้อาศัยอยู่ในดินแดนนี้มีหน้าที่จ่ายค่าที่ดินรายปีให้กับเจ้านครเชียงใหม่ โดยมีสนธิสัญญาระหว่างกันว่าตราบใดที่แม่น้ำสาละวินไม่แห้ง เขาความไม่ตรง ถ้ำหลวงไม่ยุบ นครเชียงใหม่กับเมืองยางแดงเป็นพันธมิตรไม่รุกรานกัน หลักฐานดังกล่าวชี้ชัดว่า ดินแดนแถบนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวกะแยมาเนิ่นนาน ก่อนที่คนไตจะเข้ามารุกไลจนชาวกะแยถอยร่นขึนไปทางเหนือ ออกไปบริเวณชายขอบของเมืองแม่ฮ่องสอนและเคลื่อนย้ายเข้าไปในประเทศพม่าที่สุด อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้ายในพื้นที่ชายแดนก่อนการขีดเส้นแบ่งรัฐชาตินั้นเป็นเรื่องปรกติ เนื่องการเป็นการเคลื่อนย้ายเพื่อหาพื้นที่ทำกิน ชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่รอยต่อจึงเคลื่อย้ายไปมาระหว่างรัฐอย่างเสรี ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่หลักที่มีชาวกะแยอาศัยอยู่ ในพื้นที่อำเภอเมือง กระจัดกระจายไปสิบสี่ชุมชน จากคำบอกเล่าพวกเขาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาสามชั่วอายุคน หากแต่เคลื่อนย้ายไปมาตามไหล่เขาเพื่อหาที่ทำกิน ก่อนเริ่มตั้งหมู่บ้านถาวรเมื่อราวห้าสิบปีที่ผ่านมา

อิลู หรือปอต้นที ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญอันแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกะแยไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งกระบวนการประกอบพิธีกรรมที่ชุมชนร่วมไม้ร่วมมือกัน การแบ่งสรรบทบาทหน้าที่ระหว่างชาย หญิงในพิธีกรรม การประดิษตกแต่งอิลูอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของการเชื่อมโยงระหว่างโลกของพระเจ้ากับโลกของมนุษย์ การเสี่ยงทายชะตาหมู่บ้าน และเสี่ยงทายชะตาประจำปีของผู้ชายในชุมชนด้วยกระดูกไก่ตามความเชื่อวิญญาณณิยม การประกอบอาหารและเครื่องดื่มตามความเชื่อเพื่อถวายแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแต่งกายตามอัตลักษณ์ทาวัฒนธรรมและการเต้นรำเพื่อถวายแก่พระเจ้าตามความเชื่อ

ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

ชื่อเรียกตนเอง : กะแย, กะยา

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ยางแดง, กะหยิ่นนี, คะเรนนี, กะเหรี่ยงแดง

ภาษา

ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต

ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า

ตัวอักษรที่ใช้เขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือชนชาวเขา

ชาวกะแยในประเทศไทยนั้น พบข้อมูลการตั้งถิ่นฐานเพียงในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่เริ่มตั้งเป็นชุมชนถาวรได้ไม่นานนัก นับย้อนไปประมาณห้าสิบปีที่ผ่านมานี่เอง หากแต่ตามประวัติคำบอกเล่า กะแยอยู่อาศัยในแถบนี้มานานนับเท่าที่ผู้อาวุโสในชุมชนจำความได้คือสามชั่วอายุคน โดยก่อนหน้านั้นต่างตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหย่อมบ้านเป็นกลุ่มเครือญาติ ตามไหล่เขาห่างไกลชุมชน เนื่องจากวิถีชีวิตทำไร่หมุนเวียนและระบบเกษตรแบบยังชีพ พึ่งพาอาศัยผลผลิตจากป่า จึงโยกย้ายไปมาหลายที่ กระจัดกระจายออกไปตามไหล่เขา ที่ราบในหุบเขา หลายกลุ่มบ้านที่ตั้งบ้านเรือนห่างไกลจากชุมชนหลัก ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ทำกินในเขตภูเขา การตั้งชุมชนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการโยกย้ายไปมาในหลายชุมชนหลายหมู่บ้าน ทั้งเนื่องจากความเหมาะสมของที่ทำกินประกอบกับความเชื่อ หากอาศัยอยู่ในชุมชนไหนแล้วอยู่ไม่สงบสุข ไม่ดี มีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ก็ย้ายไปชุมชนอื่นย้ายที่ตั้งชุมชนใหม่ บางครอบครัวก็ย้ายไปมาหลายชุมชนหลายหมู่บ้านกว่าจะตั้งบ้านเรือนอยู่ได้ ประกอบกับเมื่อหน่วยงานราชการเริ่มมีการสำรวจชุมชนด้วยความห่างไกลกระจัดกระจายและสัญจรลำบากทั้งการเข้าไปสำรวจพบกลุ่มบ้านที่ห่างไกลมาก ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นได้ชักชวนให้ลงมาอยู่ในพื้นที่ใกล้ชุมชนมากขึ้น เพื่อจะได้ดูแลเรื่องสิทธิและการอยู่อาศัย การศึกษาของเด็กการให้ความช่วยเหลือหรือการดูแลเรื่องสุขภาพ หลังจากนั้นไม่นานได้โยกย้ายมาอาศัยในชุมชนที่ราชการรับรองและมีความสะดวกในการเดินทาง บางชุมชนเริ่มต้นจากการเป็นหย่อมบ้านของอีกหมู่บ้านหนึ่ง เมื่อจำนวนประชากรที่ย้ายลงมาสมทบกันมีจำนวนมากพอ มีองค์ประกอบครบถ้วนจึงจัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่แยกออกมาจากหมู่บ้านเดิม ในช่วงสิบปีแรกนั้น บางครอบครัวย้ายไปย้ายมาในหลายหมู่บ้าน ตามสายสัมพันธ์ของเครือญาติและปัจจัยด้านที่ทำกิน รวมถึงความสบายใจในการอยู่ในแต่ละชุมชน เนื่องจากคนกะแยนับถือผีเป็นศาสนาหลัก การย้ายถิ่นไปมาจึงพิจารณาจากการเสี่ยงทายเมื่อเกิดเหตุหรือเกิดความไม่สบายใจในครอบครัว (แปล ปราสาทดียิ่ง, อำนาจ มีเมืองงาม 2561)

สุชาติ งามประพฤติ ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงแดง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ช้อมูลว่า ชุมชนกะแยในแม่ฮ่องสอนนั้นมีสองลักษณะคือ เป็นชุมชนที่มีเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะแยและเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันตั้งแต่สองกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในลักษณะแรกนั้นถึงแม้จะกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนที่อยู่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะแย แต่ในความเป็นจริงแล้วมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วยในลักษณะของการแต่งงานเข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัวเข้ามาเป็นเขย เข้ามาเป็นสะใภ้ ซึ่งจะมีทั้งคนไทใหญ่ คนเมือง คนลีซู ฯลฯ ถึงแม้ว่าคนจากต่างกลุ่มชาติพันธุ์จะแต่งงานเข้ามาอยู่ในชุมชน แต่วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็ยึดรูปแบบของกลุ่มชาติพันธุ์กะแยโดยมีชุมชนลักษณะนี้จำนวนเจ็ดชุมชน ได้แก่ 1)บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา 2)บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ 3)บ้านทบศอก ตำบลหมอกจำแป่ 4)บ้านไม้สะเป่ ตำบลปางหมู 5)บ้านดอยแสง ตำบลปางหมู 6)บ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง 7)บ้านห้วยช่างเหล็ก ตำบลผาบ่อง ทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในส่วนของชุมชนที่อยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอีกจำนวนเจ็ดชุมชน ได้แก่

หนึ่ง บ้านห้วยเสือเฒ่า ตำบลผาบ่อง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแย กะยัน และกะยอ

สอง บ้านห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแยและ ไทใหญ่

สาม บ้านห้วยช่างคำ ตำบลห้วยโป่ง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแยและ ปกาเกอะญอ

สี่ บ้านนาป่าแปก ตำบลหมอกจำแป่ มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ม้ง ไทใหญ่ ปะโอ และปกาเกอะญอ

ห้า บ้านห้วยมะเขือส้ม ตำบลหมอกจำแป่ มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ปะโอ ม้ง และไทใหญ่

หก บ้านสบป่อง ตำบลปางหมู มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแย และไทใหญ่

เจ็ด บ้านใหม่ในสอย ตำบลปางหมู ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านใหม่ในสอย เป็นศูนย์ดูแลผู้เคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าอันเนื่องมาจากหลบหนีภัยสงคราม ซึ่งมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ไทใหญ่ กะยัน กะยอ และเมียนมา ในขณะที่พื้นที่นอกศูนย์พักพิงชั่วคราวจะมีชุมชนชาวไทใหญ่อยู่ร่วมกัน

ทั้ง 14 ชุมชนในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะแยอาศัยอยู่นั้น ทั้งที่เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นและอาศัยอยู่เพียงกลุ่มชาติพันธุ์เดียว หากแต่เนื่องจากชุมชนรายรอบรวมถึงประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ส่งผลให้มีการหยิบยืมและเปลี่ยนผสานความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมหลายอย่างระหว่างกัน เป็นลักษณะของความลื่นไหลทางวัฒนธรรม (สุชาติ งามประพฤติ 2561)

แหล่งข้อมูล

เอกสารอ้างอิง :

กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2559). ข้อมูลพื้นฐาน ศูนย์จัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ ที่ 31 ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563. สืบค้นจาก https:// www.forest.go.th/preserve/wp-content/uploads/sites...

กุลธิดา นิวิฐกุลนิภา. (2560). การสร้างพื้นที่อัตลักษณ์ของผู้ลี้ภัยคะเรนนี: กรณีศึกษาของค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ดุลยภาค ปรีชาปรัชช. (2562). ตามหา "ลอร์ด ออฟ คะเรนนี". ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2562. สืบค้นจากhttps://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=...
ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และพรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์.(2562). ใจแผ่นดิน : แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน.กรุงเทพ. พี เพรส จำกัด
บัณฑิต ไกรวิจิตร. (2549). ชีวิตพลัดถิ่น : คนคาเร็นนีที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน. วิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2545[2506]). ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์. (2562) การแต่งกายชุดกะยา/กะแย ยางแดงหรือกะเหรี่ยงแดง. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2562. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/media/set/?vanity=doi.tho...
ยศ สันตสมบัติ และคณะ.(2544). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากร. นพบุรีการพิมพ์. เชียงใหม่.
รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์. (2550) กะเหรี่ยงกะยัน. ออนไลน์ สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563. สืบค้นจาก http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/ Ka%20yan.htm
วันดี สันติวุฒิเมธี. (2563). นักรบชายขอบ. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2563 สืบค้นจากhttps://www.sarakadee.com/feature/2000/03/soldiers...
วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข (2555). เรื่องเล่าจากชายแดนไทย-พม่า : ประกายไฟทางปัญญาเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร.
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.(2563). เปิดศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวบ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 สืบค้นจาก http://www.sri.cmu.ac.th/sriweb/th/news/index.php?...
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2551). วัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2564). ข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์กะแย (กะเหรี่ยงแดง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน.ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน (สกสว.มส.). แม่ฮ่องสอน. หจก.ดาราวรรณการพิมพ์
Alex Q. Arbuckle. (1935). Padaung women in London ออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 สืบค้นจาก https://mashable.com/2015/08/14/padaung-women-lond...



สัมภาษณ์ :

เท ชุติขจรไพร, บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 24 มกราคม 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์

ปัญญา พงศ์ธรรมชาติ, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 24 มกราคม 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์
แปล ปราสาทดียิ่ง, บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 25 มกราคม 2561/ 13 เมษายน 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์
พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์ บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 23 มกราคม 2561/ 15 เมษายน 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์
ลู พงศ์พิรมย์, บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 24 มกราคม 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์
สุชาติ งามประพฤติ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.25 มกราคม 2561/ 14 เมษายน 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์
สุวิชาน พัฒนไพรวัลย์, วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแม่สอด จังหวัดตาก, 25 มีนาคม 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์
อำนาจ มีเมืองงาม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 24 มกราคม 2561/ 15 เมษายน 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์
เอกชัย ธิตินันท์วิริยกุล, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 24 มกราคม 2561, ศิราพร แป๊ะเส็ง ผู้สัมภาษณ์

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :

ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : กะเเย