กูย

ชื่อเรียกตนเอง : กูย, กุย, กวย, โกย, โก็ย

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เขมรป่าดง, ส่วย, ข่า, ไทย-กูย, ไท-กวย, ส่วย-ลาว, ส่วย-เขมร, เขมรส่วย

ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก

ภาษาพูด : ภาษากูย

ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

บทความฉบับเต็ม : ดาวน์โหลด

ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 12 ต.ค. 2566

651

กลุ่มชาติพันธุ์กูยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในกลุ่มของภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) คำว่า “กูย” ซึ่งอาจกลายเป็นสำเนียงว่า “กุย, กวย, โกย หรือ โก็ย” ก็ได้ คำว่า “กูย”แปลว่า “คน” (ไม่ใช่ผี) และในบางพื้นที่เรียกกลุ่มเดียวกันนี้ว่า “ส่วย” คำว่า “ส่วย” เป็นคำเรียกตามพันธะทางสังคมของคนกลุ่มหนึ่งที่ชำนาญการจับช้างมาฝึกและเลี้ยงช้าง ใช้เรียกตนเองด้วยความเข้าใจว่าเป็นชื่อเรียกตนเองมาแต่เดิมไม่ได้กำหนดจากชาติพันธุ์ เมื่อมีพันธะที่ต้องส่งส่วยแล้วผู้คนในลุ่มแม่น้ำมูนและเทือกเขาพนมดงรักก็ถูกชนชั้นนำสยามเรียกว่า “พวกส่วย” คำว่า “ส่วย” จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกของคนกูยหรือกวย

ถิ่นฐานและประวัติศาสตร์ของชาวกูยนั้น นักวิชาการสรุปได้มีสามแนวทาง ดังนี้

แนวทางแรก เห็นว่า ถิ่นกำเนิดของชาวกูยคือแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย อีริก ไซเดนฟาเดน นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก รองผู้ตรวจราชการภูธรหัวเมืองอีสาน ระหว่างปี พ.ศ. 2451–2462 ได้ชี้ให้เห็นว่า ถิ่นกำเนิดของชาวกูยในประเทศไทยอยูบริเวณตอนเหนือของอินเดีย โดยได้อพยพลงมาทางใต้เข้าสู่ประเทศพม่า ถึงบริเวณภาคอีสานของประเทศพม่า จนกระทั่งถึงบริเวณภาคอีสานของประเทศไทยเมื่อประมาณกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

แนวทางที่สอง เห็นว่า ชนชาติที่เรียกว่า “กูย” (กวย) นั้นได้อพยพมาจากเมืองกุยจิ๋ว มณฑลไกวเจา ประเทศจีน

แนวทางที่สาม ถิ่นกำเนิดของชาวกูย ก็คือ บริเวณที่อยู่ของชาวกูยในปัจจุบัน ชาวกูยเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมในบริเวณลุ่มแม่น้ำมูน เทือกเขาพนมดงที่ตั้งถิ่นอยู่อาศัยในตอนเหนือของกัมพูชา บริเวณเขตแดนอัตตะปือ แสนปาง ประเทศลาว ภาคอีสานตอนใต้และบางบริเวณของภาคตะวันออกของประเทศไทย ปัจจุบันในประเทศไทยสำรวจพบชาวกูยอาศัยอยู่ใน จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดบุรีรัมย์, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดสระแก้ว, จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี

ชาวกูย มักเป็นที่รู้จักกันในนามกลุ่มที่เลี้ยงช้าง ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มย่อยหนึ่งของชาวกูยเท่านั้น ขณะที่ชาวกูยแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง มีความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป เช่น กูยมะไฮ จังหวัดอุบลราชธานี มีความเชื่อเกี่ยวกับศาลผีอาหย๊ะจำนักที่สถิตอยู่บนภูเขาว่าเป็นประตูเปิดเข้าสู่ป่าเป็นการอนุญาตใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ในบริเวณกูยมะโล จังหวัดศรีษะเกษ มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษหรือศาลปู่ตา ในขณะที่กูยมะโลและกูยมะลัวใน จังหวัดสุรินทร์ และ จังหวัดศรีสะเกษ มีความเชื่อเกี่ยวกับตะกวดว่าเป็นสัตว์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นผีบรรพบุรุษผู้คุ้มครองความปลอดภัยแห่งชีวิต และอาจจะมีลักษณะร่วมกันบางประการด้านภาษา ด้านประเพณีการถือผี แต่ชาวกูยเองก็มีอัตลักษณ์เป็นของตนเองตามพื้นที่เฉพาะแต่ละท้องถิ่น กล่าวคือ ชาวกูยแต่ละท้องถิ่นจะยืนยันอัตลักษณ์ของตนเองตามอัตลักษณ์ของหมู่บ้านและเครือข่ายหมู่บ้านของตนเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองแตกต่างกับชาวกูยกลุ่มอื่น ๆ

ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

ชื่อเรียกตนเอง : กูย, กุย, กวย, โกย, โก็ย

“กูย, กุย, กวย, โกย หรือ โก็ย” (แตกต่างกันไปตามสำเนียงพูด) ในฐานะที่เป็นคำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnonym) มีความหมายว่า “คน” (โต้ตอบคำที่คนอื่นเรียกตนเองว่าไม่ใช่ “ผี”) ตรงกันข้ามกับคำว่า “กวยกลวง” ซึ่งหมายถึง “คนป่า” เป็นคำรวมที่คนกูยใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขา (ไพฑูรย์ มีกุศล, 2542, น. 94) ที่ต้องการบ่งบอกตัวตน เพื่อย้ำให้เห็นความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่น และใช้ตอบโต้คำที่คนอื่นเรียกตนเอง นอกจากนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2562, น. 14) ยังได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า คำว่า “กุย” ในชื่ออำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น ไม่น่าจะหมายถึงคนกุย เป็นคำเขมรอ่านว่า “โก็ย” แปลว่า นอ เช่น นอแรด อันเป็นสินค้าส่งขายนานาชาติตั้งแต่สมัยต้นอยุธยา

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เขมรป่าดง, ส่วย, ข่า, ไทย-กูย, ไท-กวย, ส่วย-ลาว, ส่วย-เขมร, เขมรส่วย

“เขมรป่าดง” เป็นการสร้างคำเพื่อใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าซึ่งเป็นการจำแนกตามสภาพภูมิประเทศและนิเวศวิทยา โดยการใช้ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กับสภาพแวดล้อมถิ่นที่อยู่อาศัย ในอดีตชนชั้นนำไทยเรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นป่าเขาแถบลุ่มแม่น้ำมูน-ชี และเทือกเขาพนมดงรักว่า “เขมรป่าดง” และเรียกบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษในแถบลุ่มแม่น้ำมูนว่า “บริเวณเขมรป่าดง” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, น. 435) และในพงศาวดารก็เรียกหัวเมืองในแถบนี้ว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง” (ธวัช ปุณโณทก, 2527, น. 39-40) ในงานเขียนเรื่อง “นิทานโบราณคดีบางเรื่อง” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2498, น. 93) ได้อธิบายว่า

“...ที่เรียกว่า “ป่า” และ “ดง” เป็นท้องที่มีต้นไม้มากอันล้วนขึ้นเองโดยธรรมดาเหมือนกัน ที่ป่ากับดงผิดกันนั้น ป่าเป็นพื้นดินแห้งในฤดูแล้ง ต้นไม้ได้น้ำไม่พอบริโภค... แต่ในดง แผ่นดินเป็นที่มีน้ำชุ่มชื้นอยู่ตลอดปี ต้นไม้ใบหญ้าไม่มีเวลาแห้งเหี่ยว ก็งอกงามอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ในดงจึงมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกชัฏ...” ในสมัยก่อนจึงมีการใช้คำว่า “ป่าดง” ร่วมกันอยู่เสมอ

“ส่วย” เป็นชื่อเรียกตามพันธะทางสังคม ไม่ได้กำหนดจากเชื้อชาติ ไพร่ส่วย หรือ ส่วย จึงมีหลายเผ่าหลายเชื้อชาติ หากส่งส่วยของป่าก็เรียกพวกส่วย คำว่า “ส่วย” แปลว่า สิ่งของที่รัฐเก็บจากราษฎรแทนการเกณฑ์แรงงานหรือหัวเมืองประเทศราช กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “ขี้ข้า” (สื่อความหมายในเชิงลบหรือการดูถูก) เป็นชื่อที่ชนชั้นนำสมัยต้นรัตนโกสินทร์ใช้เรียกผู้คนที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง, ลุ่มแม่น้ำชี, ลุ่มแม่น้ำมูนและเทือกเขาพนมดงรัก (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2564, น. 68) อย่างไรก็ตาม บริเวณพื้นลุ่มแม่น้ำมูน กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดที่ต้องส่งส่วยสิ่งของ ก็คือ ชนชาติในตระกูลภาษามอญ-เขมร อันเป็นพวกเดียวกับที่อยู่ในพื้นที่ป่าเขาแถบเหนือของเขมร คําว่า “ส่วย” จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ นักวิชาการ อาทิ ธวัช ปุณโณทก (2527, น. 39) เห็นว่า การเรียกชื่อชาวกูยว่าส่วยน่าจะมาจากส่วยหรือไพร่ส่วย จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนพันตรี เอริก ไซเดนฟาเดน รองผู้ตรวจราชการตำรวจภูธรหัวเมืองมณฑลอีสาน ระหว่างปี พ.ศ. 2451-2462 เสนอว่า ที่มาของการเรียกชาวกูยว่า “ส่วย” นั้นเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, น. 438) ทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าเกณฑ์แรงงานผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขมรป่าดงในระบบเลขไพร่ธรรมดา เช่นเดียวกับชาวไทยกลุ่มอื่นๆ แล้วคงจะไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะภูมิประเทศเป็นอุปสรรคในการสื่อสารคมนาคม จึงได้มีการนําเอาระบบไพร่ส่วยขึ้นมาใช้ โดยกำหนดให้เขมรป่าดงส่งส่วยแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน เช่น ครั่ง ไม้เนื้อหอม และของป่าอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการเรียกชาวกูยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเขมรป่าดงว่า “ส่วย” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, น. 437-445)

“ข่า” เป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในภาษาลาว ซึ่งแปลว่า “ขี้ข้า” เหตุที่เรียกนั้นมาจากชาวลาวล้านช้างเห็นว่าชาวกูยคนโง่ เหมาะแก่การเป็นทาส (ธวัช ปุณโณทก 2527, น. 40) โดยชาวลาวล้านช้างที่จําปาศักดิ์ใช้เรียกชาวกูยที่บังคับมาจับและฝึกช้างเพื่อใช้ในสงครามว่า “ข่า” (เจริญ ไวรวัจนกุล และคณะ, 2533, น. 68-70)

“ไทย-กูย” หรือ “ไท-กวย” เป็นชื่อที่คนภายนอกเรียกมีความหมายว่า คนไทยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และบางส่วนของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งพูดภาษากูยหรือภาษาส่วยเป็นภาษาถิ่น (ชื่น ศรีสวัสดิ์, 2534, น. 13)

“ส่วย-ลาว” เป็นชื่อที่คนภายนอกเรียกมีความหมายว่า ชาวส่วยที่อยู่อาศัยใกล้ชิดกับกลุ่มคนลาว มีการผสมผสานกลมกลืนทั้งทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมกับคนลาว จนลักษณะทางกายภาพและทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับกลุ่มคนลาว (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, น. 437-438 ; ชื่น ศรีสวัสดิ์, 2534, น. 13)

“ส่วย-เขมร” หรือ “เขมรส่วย” เป็นชื่อที่คนภายนอกเรียกมีความหมายว่า ชาวส่วยที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเขมรและมีการผสมกลืนกลายทั้งทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมกับกลุ่มเขมร จนลักษณะทางกายภาพและทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับกลุ่มเขมร (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, น. 437-438 ; ชื่น ศรีสวัสดิ์, 2534, น. 13)

นอกจากนี้ ใน “พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ” (2506) เรียบเรียงโดย หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ปลัดมณฑลประจำจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รวบรวมรายงานการปฏิบัติราชการต่าง ๆ ในหัวเมืองอีสานโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลอีสานและหัวเมืองใกล้เคียงเรียกชาวกูยที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ว่า เขมรส่วย, ส่วยป่าดง, เขมรส่วยป่าดง และ ข่ากวย สลับกันไปมา (หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร), 2506)

การนิยามตนเองของชาวกูย

หลังจากคำว่า “ส่วย” มีตัวตนอยู่ในคำขวัญของเมืองศรีสะเกษร่วม 20 ปี ในปี 2554 จังหวัดศรีสะเกษกลับได้รื้อฟื้นคำว่า “กูย” มาเพื่อใช้แทนคำว่า “ส่วย” ในการนิยามชนเผ่าจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีข้อถกเถียงเรื่องคำว่าส่วยว่าไม่เหมาะที่จะนำมาเรียกคนศรีสะเกษ เพราะคำว่าส่วยมีนัยความหมายในทางดูถูกเหยียดหยาม ควรจะใช้คำว่ากูย ซึ่งหมายถึง “คน” ส่วนคำว่า “ส่วย”หมายถึง ส่วยสาอากร เป็นคำดูถูกเหยียดหยามชาวศรีสะเกษ โดยเฉพาะเมื่อคนส่วนใหญ่กล่าวถึงเมืองศรีสะเกษจะนึกถึงภาพของเมือง “ส่วยศรีสะเกษ” บริบทเหล่านี้เป็นข้อถกเถียงของนักวิชาการในพื้นที่ศรีสะเกษมายาวนานพอสมควร ข้อสรุปของนักวิชาการท้องถิ่นต่างยังคงมุ่งเสนอแนวคิดของตนเองทั้งด้านการมีตัวตนของส่วย กูย และต่างแสดงจุดยืนคำนิยามส่วยและกูย ผ่านวาทกรรมเรื่อง “ชื่อชนเผ่า” ซึ่งหากวิเคราะห์ในระดับโครงสร้างชุมชนแล้วจะพบว่า ส่วยและกูย ต่างมีรากฐานของความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีเดียวกันแต่คนหลายกลุ่มในศรีสะเกษไม่ยอมรับคำว่า “ส่วยศรีสะเกษ” เช่น คำกล่าว“เมื่อใดที่ถูกเรียกว่าบักส่วยศรีสะเกษ เราอายเขามาก เพราะดูต้อยต่ำ ไม่มีค่า”“เราไม่ใช่ส่วย เราเป็นกูย ซึ่งหมายถึงคน” (วีระ สุดสังข์, 2565, สัมภาษณ์)

การนิยามตนเองว่า “กูย” ไม่ใช่ “ส่วย” จึงมีการปฏิบัติการในระดับชุมชนหลายชุมชนในจังหวัดศรีสะเกษ ตัวอย่างเช่น ที่บ้านตาตา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ ได้สร้างพื้นที่ทางสังคมของตนเองเรียกตัวเองว่า “กูย”(กวย) ในชุมชนมีปฏิบัติการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกาย ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี การรักษาโรค นอกจากนั้นยังสร้างชุมชนปฏิบัติการผ่านงานวิชาการระดับท้องถิ่น สร้างหนังสั้นแสดงตัวตนซึ่งเป็นงานทางวิชาการที่ชาวบ้านทำงานวิจัยร่วมกับ กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และปัจจุบันเกิดชุมชนปฏิบัติการ สร้างสำนึกชุมชนชาวกวยตั้งแต่ระดับเด็กเยาชน จนถึงคนสูงอายุ

ภาษา

ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก

ตระกูลภาษาย่อย : กะตูอิก

ในด้านภาษาศาสตร์ได้จัดให้ภาษากูยหรือกวย อยู่ในกลุ่มของตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) สาขาภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) แขนงภาษากะตูอิค (Katuic) กลุ่มภาษากะตูอิคตะวันตก เป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ ไม่มีตัวอักษรเขียน สืบทอดวัฒนธรรม

ภาษาพูด : ภาษากูย

ภาษากูย เป็นภาษที่มีเฉพาะภาษาพูด สืบทอดผ่านการบอกเล่าสืบต่อกันมาจากคนเฒ่าคนแก่ แต่มีระบบเสียง คำ วลี และประโยคที่เป็นลักษณะเฉพาะ แต่ละท้องถิ่นจะมีการใช้สำเนียงภาษาที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ ความแตกต่างของสำเนียงภาษาอาจะเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากภาษาที่อยู่ใกล้เคียง เช่น หมู่บ้านชาวกูยที่อยู่ใกล้ชิดหมู่บ้านเขมรก็จะมีสำเนียงแบบหนึ่ง หมู่บ้านชาวกูยที่อยู่ใกล้ชิดกับหมู่บ้านลาวก็จะมีสำเนียงไปอีกแบบหนึ่ง (วีระ สุดสังข์, 2545, น. 82) ซึ่งถ้าหากใช้ระบบเสียงมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งจะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มภาษากูยถิ่นกูย (กุย-กูย) และภาษากูยถิ่นกวย (กูย-กวย) (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2537, น. 20) ภาษากูยถิ่นกูยกับภาษากูยถิ่นกวย มีข้อแตกต่างตรงสําเนียงเสียงในการพูด คือ กวย สําเนียงจะออก ล. และ กูย สําเนียงจะออก ร.(ชนาธิป พรมมี, 2560, น. 52)

ตัวอักษรที่ใช้เขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ภาษากูยไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน จึงไม่มีหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าชาวกูยมีความเป็นมาอย่างไร มีแต่เพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมาดังที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องตัวหนังสือเป็นนิทานว่า ครั้งหนึ่งเทพเจ้าได้มีบัญชาให้ชาวมนุษย์ไปรับตัวหนังสือมา ชาวกูยก็ได้เดินทางไปรับเอาพร้อมกับกลุ่มอื่น ๆ เหมือนกันโดยจารใส่หนังควาย เมื่อได้มาแล้วจึงพาเดินทางกลับ พอมาถึงกลางทางเกิดกระหายน้ำจึงวางหนังควายที่จารตัวหนังสือไว้บนโขดหิน สุนัขจึงกินหนังควายหมดไป ครั้นกลับมาเห็นสุนัขกินหนังควายหมด จึงพูดว่า “อาจ้อจาฉิ่ม” (สุนัขกินหมด) ชาวกูยจึงไม่มีตัวหนังสือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้น(อิศราพร จันทร์ทอง, 2543, น. 8)

ต่อมา โครงการแนวทางการสร้างเครื่องมือเพื่อบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวกูย ผ่านภูมิปัญญาการทอผ้าชุมชนบ้านขี้นาค ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาตัวเขียน โดยระบบเขียนภาษากูยประกอบไปด้วย 4 ส่วน ได้แก่ เสียงพยัญชนะต้น, เสียงพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด), เสียงวรรณยุกต์ (ลักษณะน้ำเสียง) และเสียงสระ โดยมีพยัญชนะต้น จำนวน 21 เสียง พยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) จำนวน 13 เสียง วรรณยุกต์หรือลักษณะน้ำเสียง จำนวนมี 2 เสียง คือ เสียงธรรมดา และเสียงทุ้ม (กำกับด้วยรูปวรรณยุกต์เอก) (สิดาวรรณ ไชยภา และคณะ, 2560, น. 45-48)


สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ราบ

ชาวกูยจะกระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดอีสานตอนใต้ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก ความยาว 544 กิโลเมตร อันเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ที่ทอดยาวจากจังหวัดอุบลราชธานี ผ่านศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ออกไปทาง อำเภอตาพระยา และอำเภออรัญประเทศจังหวัดสระแก้ว (สมคิด และคณะ, 2546, น. 25) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเป็นเส้นทางการอพยอของชาวกูยมาจากตอนใต้ของลาว ชาวกูยจะอาศัยกันมากทางฝั่งใต้แม่น้ำมูนลงมา จังหวัดที่มีชาวกูยอาศัยอยู่อยางหนาแน่นที่สุด คือ จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษ (สมทรง บุรุษพัฒน์, 2537, น. 2-3) ส่วนใหญ่อาศัยปะปนอยู่ในชุมชนกับชาวเขมรและชาวลาว ต่อมามีการสั่งสมประสบการณ์ร่วมกัน มีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม และปัจจุบันนี้กลายเป็นพื้นที่วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานใต้ที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สำหรับชาวกูยในประเทศไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำมูนและเทือกเขาพนมดงรักแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม (ไพฑรูย์ มีกุศล, 2542, น. 95) ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง กูยมะไฮ (Kui M’ai) อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเขาที่อยู่โดยรอบบริเวณริมแม่น้ำโขง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีที่ติดกับพรมแดนลาว กลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “บลู” หรือ “บรู” อันหมายถึง คนที่อาศัยอยู่ตามภูเขา นอกจากนี้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าบลูนี้ยังมีอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

กลุ่มที่สอง กูยมะโล (Kui M’lo) ใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดศรีสะเกษ

กลุ่มที่สาม กูยเยอ หรือ โย (Kui Yer,Yo) ใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดศรีสะเกษ

กลุ่มที่สี่ กูยมะลัว หรือมะหลั่ว (Kui M’loa) ใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษกับสุรินทร์

และกลุ่มที่ห้า กูยอาเจียง หรือ กูยอะจีง ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอท่าตูม, อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญในการจับช้าง หรือ “โพนช้าง” ในป่ามาฝึกเป็นช้างบ้านเพื่อใช้งาน และยังพบชาวกูยอาศัยอยู่ในบางบริเวณพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, นครราชสีมา,สระแก้ว, ปราจีนบุรี และสุพรรณบุรี อีกด้วย (บัญญัติ สาลี, 2558, น. 34)

นอกจากนี้ ยังพบชาวกูยที่เรียกตนเองว่า “กูยปรือใหญ่” (Kuiprue: jai) ในหมู่บ้านของตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่อพยพมาจากกัมพูชา จากบริเวณมะลูไปร (มโนไพร, มะลูเปร) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสตึงเตรง ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองกำปงธมและเมืองกำปงสวายของกัมพูชา (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุจังหวัดศรีสะเกษ, 2542, น. 32) ปัจจุบันชาวกูยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 422,000 คน

ศรีศักร วัลลิโภดม (2545, น. 291) ได้ชี้ให้เห็นว่า บริเวณทั้งสองฝั่งแม่น้ำมูนได้พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จนถึงตอนปลายมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง การตั้งชุมชนสมัยแรกเกิดขึ้นในบริเวณนี้ และน่าจะสัมพันธ์กับการปลูกข้าว และปัจจุบันนี้ ยังพบกลุ่มชาติพันธุ์กูยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำมูนขึ้นไปจนถึงเทือกเขาพนมดงรัก ประกอบกับพื้นที่มีสายน้ำ ในลำห้วยจำนวนมากได้ช่วยหล่อเลี้ยงสิ่งแวดล้อมรอบด้าน จึงเป็นแรงผลักดันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ยึดเป็นพื้นที่อาศัยและตั้งหลักแหล่งมานาน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กูย ชาวกูยจะอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม ๆ มีสําเนียงพูดแตกต่างกัน กลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับชาติพันธุ์ไทยอีสานก็จะมีสำเนียงเป็นอย่างหนึ่ง เช่น ชาวกูยที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเขต จะถูกเรียกว่า “ลาวส่วย” และกลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเขมรถิ่นไทยในจังหวัดสุรินทร์ จะถูกเรียกว่า “เขมรส่วย” (Seidenfaden, 1952, p. 163) มีรูปแบบการจัดกลุ่มเพื่อการดำรงชีพตามลักษณะสภาพพื้นภูมิแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ เนื่องจากชาวกูยตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับชาวเขมรและชาวลาว จึงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมกัน ทำให้ชาวกูยถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขมรและลาว เช่น ในปี พ.ศ. 2450 จังหวัดศรีสะเกษเป็นเมืองที่มีชาวกูยอาศัยเป็นจำนวนมากและมีลาวเวียงจันปะปนอยู่บางหมู่บ้าน แต่วัฒนธรรมลาวได้เข้ามามีอิทธิพลในหมู่ชาวกูย จึงทำให้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ชาวกูยศรีสะเกษจะพูดภาษาลาวด้วยสำเนียงกูยโดยใช้สระเอือ ในขณะที่ลาวเวียงจันมีแต่สระเอีย ร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าศรีสะเกษเดิมเป็นเมืองชาวกูยที่อาศัยกันอยู่ทั้งเมือง ก็คือ ตัวเลขสำมะโนครัวในสมัยนั้นและการเรียกขานชาวศรีสะเกษว่า “ส่วยศรีสะเกษ” จนถึงทุกวันนี้ (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, น. 433-435 ; สมทรง บุรุษพัฒน์, 2538, น. 7)

อย่างไรก็ตาม ชาวกูยที่ตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ อันเป็น “ชุมทางชาติพันธุ์” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ชาวกูยเป็นสิ่งที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลผลิตของการปรับเปลี่ยนต่อรองและช่วงชิง และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คลี่คลายมาควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ความเป็นตัวตนทางชาติพันธุ์กูยทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับกลุ่มไม่ใช่สิ่งที่หลงเหลือตกทอดจากอดีตเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องต่อรองสร้างสรรค์ เลือกรับและปรับใช้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ในปัจจุบันมีชาวกูยที่ตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี, อำเภอขุนหาญ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอห้วยทับทัน อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอปรางค์กู่ อำเภอน้ำเกลียง อำเภอขุขันธ์ อำเภอราษีไศล และอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ, อำเภอจอมพระ อำเภอท่าตูม อำเภอสำโรงทาบ อำเภอรัตนบุรี อำเภอลำดวน อำเภอสังขะ อำเภอสนม อำเภอศีขรภูมิ อำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์, อำเภอคูเมือง อำเภอสตึก อำเภอหนองหงษ์ อำเภอลำปลายมาศ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์, อำเภอยางสีสุราช, อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

แหล่งข้อมูล

ผู้เรียบเรียงข้อมูล :

ผศ. ดร. ประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีษะเกษ และ ธีรพงษ์ กันทำ นักวิจัยอิสระ

เอกสารอ้างอิง :

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ. ศรีสะเกษ: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2524). ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อ
ชนชาติ
. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ดวงกมล ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

เจริญ ไวรวัจนกุล และคณะ. (2533). “การสำรวจวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูลโครงสร้างและภาวะการรับรู้.” ใน วัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล: กรณีเขมร ลาว ส่วย สุรินทร์. สุรินทร์: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์.

ชนาธิป พรมมี. (2560). คุณค่าผ้าไหมกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวกวย กรณีศึกษา: บ้านตาตา หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ. การวิจัยเฉพาะเรื่องประกาศนียบัตรบัณฑิต, สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชื่น ศรีสวัสดิ์. (2534). ช้างกับส่วย. บุรีรัมย์: ชมรมอีสานใต้ศึกษา.

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2553). รัฐ-ชาติ กับ (ความไร้) ระเบียบโลกชุดใหม่. กรุงเทพฯ: วิภาษา.

ดำเกิง โถทอง. (2556). กูย กวย กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมแห่งเทือกเขาพนมดองแร็ก. ใน เอกสารประกอบสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 “อีสาน-ลาว-ขแมร์ศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน”. 28-29 พฤษภาคม 2559, อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ธณัฐดา ศรศักดิ์. (2563). การสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมในการฝึกสัตว์ท้องถิ่นไว้ใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีศึกษาการฝึกช้างของชาวกูย จังหวัดสุรินทร์. ภาคนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต, สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธนานนท์ ลาโพธิ์. (2559). การปรับเปลี่ยนเรือนชาวกูยบ้านโนนสําโรง จังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ธวัช ปุณโณทก. (2527). “ประวัติหัวเมืองอีสานตอนล่าง.” ใน สมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 3. (น. 35-45). บุรีรัมย์: ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูบุรีรัมย์.

ธิดา สาระยา. (2535). อาณาจักรเจนละ: ประวัติศาสตร์อีสานโบราณ. กรุงเทพฯ: มติชน

ธีระพันธ์ ล.ทองคำ. (2544). ภาษาของนานาชนเผ่าในแขวงเซกอง ลาวใต้ ความรู้พื้นฐานเพื่อการวิจัยและพัฒนา. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

นพวรรณ สิริเวชกุล. (2541). กรณีศึกษาการพัฒนาทางสังคมของชาวกูยที่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

นายแพทย์ เอ. คารร์ และ พันตรี อี. ไชเดนฟาเดน. (2524). ชาติพันธุวิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย (พวงทอง สิริสาลี่, ผู้แปล). (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสาวปทุม นิติพน ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 27 มิถุนายน 2524)

บัญญัติ สาลี. (2558, กรกฎาคม-ธันวาคม). กูย: ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และตำนาน. วารสารมนุษย์กับสังคม, 1(1), 32-54.

บูรณ์เชน สุขคุ้ม และธนพล วิยาสิงห์. (2556). วัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กูยจังหวัดศรีสะเกษ. ศรีสะเกษ: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.

ประจวบ จันทร์หมื่น. (2552). รายงานการวิจัย เรื่อง “ส่วย” ศรีสะเกษกับ “ซวย” 4 แขวงลาวใต้ (จำปาศักดิ์ สาละวัน เซกองอัตปือ) สำเนียงของคำและวาทกรรมที่แตกต่างระหว่างไทย-ลาว. ศรีสะเกษ: ศูนย์ศรีสะเกษศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.

ประจวบ จันทร์หมื่น. (2556). “ส่วยและกูย”: ความหลากหลายในการนิยามตัวตน. ใน เอกสารประกอบสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 “อีสาน-ลาว-ขแมร์ศึกษา ในกรอบประชาคมอาเซียน”. 28-29 พฤษภาคม 2559, อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. (1904 [2447]). ว่าด้วยแม่น้ำมูลแลเมืองตวันออก. The Journal of the Siam Society, 1(1), 175–190.

ไผท ภูธา. (2553). ความเป็นมาของชนชาติลาว. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.

พรรณวดี ศรีขาว. (2554). การสืบทอดและบทบาทของพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษของชาวกูยที่บ้านละเอาะ อำเภอน้ำเกลี้ยง จังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพฑรูย์ มีกุศล. (2542). “กวย: ชาติพันธุ.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน. เลม 1. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2531). การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ไทยกวย. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2533). “วัฒนธรรมแม่น้ำมูลเชิงชาติพันธุ์วิทยาและประวัติศาสตร์: กรณีการผสมกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์กวย เขมร และลาว.” ใน วัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล: กรณีเขมร ลาว ส่วย สุรินทร์. สุรินทร์: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์.

วนัสนันท์ แสงสกุล. (ม.ป.ป.). ชนเผ่ากูยศรีสะเกษ. สืบค้นจาก https://fliphtml5.com/mokqz/vvjd

วสา วงศ์แสวง. (2559).การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชาวกูยในพื้นที่ตำบลจอมพระ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาการวางผังชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

วิลาศ โพธิสาร. (2552). การปรับตัวทางสังคมของชาวกูยในบริบทพหุวัฒนธรรมเขตอีสานใต้. (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต). มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, สาขาวิชาไทศึกษา.

วีระ สุดสังข์. (2545). ชนชาติกวย: ชนกลุ่มน้อยจากลุ่มแม่น้ำโขงถึงลุ่มแม่น้ำมูล. กรุงเทพฯ: ธนบรรณ.

วีระ สุดสังข์. (2556, พฤศจิกายน). คนอีสานไม่ได้มีแต่ชาติพันธุ์ลาวเท่านั้น. ทางอีศาน, 2(19), 80-83.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2498). นิทานโบราณคดีบางเรื่อง. พระนคร: กรมศิลปากร.

สมทรง บุรุษพัฒน์. (2537). เรียนภาษาและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกูย-กวย (ส่วย) จากบทสนทนา. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมทรง บุรุษพัฒน์. (2538). สารานุกรมชนชาติกูย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมหมาย ชินนาค. (2539). ผีปะกำ : คติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของชาวไทย-กวย (ส่วย) เลี้ยงช้างจังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สันติ บุตรไชย. (2554). พลวัตวิถีการผลิตและการเปลี่ยนแปลงสังคม กรณีศึกษา: การตีเหล็กของชาวกูย ชุมชนตะดอบ ตำบลตะดอบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ (2552). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดศรีสะเกษ.เอกสารรายงานผลการศึกษา. จังหวัดศรีสะเกษ

สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.พ.). ข้อมูลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ตำบลนาอุดม อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ระหว่าง พ.ศ.2551-2553. อุบลราชธานี: สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม.

สิดาวรรณ ไชยภา และคณะ. (2560). โครงการแนวทางการสร้างเครื่องมือเพื่อบันทึกภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวกูย ผ่านภูมิปัญญาการทอผ้าชุมชนบ้านขี้นาค ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ. นครปฐม: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2562, 18 มิถุนายน). เสาตะลุง เพนียดช้าง อยุธยา. มติชน, น. 14.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2564, 9-15 กรกฎาคม). ชาวกูย โขง, ชี, มูล ค้าช้างสมัยอยุธยา. มติชนสุดสัปดาห์, 41(2134), 68.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2565, 22-28 กรกฎาคม). ชาวกูย จาก ‘โขง-ชี-มูล’ รับราชการ ‘งานช้าง’ ในอยุธยา. มติชนสุดสัปดาห์, 42(2188), 68.

หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร). (2506). “พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน.” ใน ประชุมพงศาวดารเล่ม 3. (น. 197-199). พระนคร: โรงพิมพคุรุสภา.

อิศราพร จันทร์ทอง. (2543). บทบาทหน้าที่ของพิธีแก็ลมอของชาวกูยบ้านสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อุบล สวัสดิ์ผล, ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ และ ชูพักตร์ สุทธิสา. (2558, กรกฎาคม-ธันวาคม). “กลุ่มชาติพันธุ์กูย: วิถีการดำรงชีวิตของแรงงานอพยพตัดอ้อยภายใต้อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย.” วารสารวิจัยสังคม, 38(2), 147-182.

อุบล สวัสดิ์ผล. (2558). วิถีชีวิตแรงงานอพยพตัดอ้อย กลุ่มชาติพันธุ์กูย จังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

Erik Seidenfaden. (1952). The Kui People of Cambodia and Siam. Journal of the Siam Society, 39(2), 144-180.

อภินันท์ บัวหภักดี และคณะ. (2566). คชศาสตร์ชาวกูย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.elephantsandkuywisdom.com/.

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :

ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : กลุ่มชาติพันธุ์กูย

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร