
จีน
ชื่อเรียกตนเอง : แต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, กวางตุ้ง, ฮากกา, ฮ่อ, ตันกา, ซัมซัม, เปอรานากัน, ไทยเชื้อสายจีน
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : คนจีน, เจ๊ก
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ภาษาพูด : จีน
ภาษาเขียน : อักษรจีนมาตรฐาน
บทความฉบับเต็ม :
ดาวน์โหลด
ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 18 ก.ค. 2566
1,492
“ชาวจีน” ในประเทศไทยประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยหลายกลุ่ม ได้แก่ แต้จิ๋ว ฮากกา ไหหนำ (ไหหลำ) ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง จีนฮ่อ (จีนยูนนาน) และตันกา (ชาวเลจีน) รวมถึงชาวจีนที่แต่งงานกับชาวพื้นเมือง ได้แก่ ซัมซัม เปอรานากัน และจีนไทย หรือไทยจีน อย่างไรก็ตาม ในบรรดากลุ่มต่างๆ กลุ่มชาวจีน 5 กลุ่มแรกถือว่ามีเป็นจำนวนมากในประเทศไทยและรู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ทั้งหมดรวมเรียกด้วยภาษาแต้จิ๋วว่า “โหงว ฮก” (五属) การเรียกชื่อโดยรวมนั้น มักจะเรียกตัวเองว่าคนจีน ขณะที่ปัจจุบันยังใช้คำว่า ไทยเชื้อสายจีน อันบ่งบอกถึงสถานภาพและความเป็นสมาชิกของรัฐชาติ อาจจะต่อท้ายด้วยเชื้อสายของคนซึ่งมีหลากหลายกลุ่มขณะที่เมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนด้วยกันเองนั้น มักนำเสนอตัวเองด้วยการเรียกชื่อตามเชื้อสายเสียมากกว่า สำหรับฐานข้อมูลนี้จะขอนำเสนอเฉพาะ 5 กลุ่มหลักเท่านั้น
ชาวจีนเดินทางเข้ามาในไทยด้วยหลายหลายเหตุผลปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยทวารวดีดังเช่นพบจารึกภาษาจีนหลังพระพิมพ์ที่เมืองศรีเทพ เป็นต้น (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2564) หรือในเขตภาคใต้พบหลักฐานเครื่องถ้วยจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (GISTDA 2019) ยังไม่นับรวมเครื่องถ้วยจีนมหาศาลและการส่งบรรณาการของรัฐต่างๆ เช่น อยุธยา สุโขทัย ล้านนา ไปยังราชสำนักจีน แต่ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนคือในสมัยอยุธยาที่มีประชาคมชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังปรากฏในบันทึกของเจิ้งเหอ ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายปรากฏชัดว่ามีชาวจีนกลุ่มต่างๆ อาศัยอยู่ในอยุธยาไม่ว่าจะเป็นแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหนำ และฮากกา (พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร 2546; 2564) ต่อมาในสมัยธนบุรี ชาวจีนรับรู้ว่าพระเจ้าตากสินเป็นแต้จิ๋วจึงได้พากันเดินทางมายังเมืองไทยอย่างมหาศาล เพื่อหนีภัยแล้งและความทุกข์ยากในเมืองจีน ประกอบกับหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา 2310 กรุงธนบุรีและต่อเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์มีความต้องการแรงงานเพื่อชดเชยกับไพร่พลที่ถูกกวาดต้อนไป ในเวลานี้ตั้งถิ่นฐานหลักๆ คือย่านเยาวราชและสำเพ็ง รวมถึงหัวเมืองสำคัญเช่นจันทบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เป็นต้น (อดุลย์ รัตนมั่นเกษม 2557: 95-99)
ในสมัยรัชกาลที่ 4-6 ชาวจีนอพยพเข้ามาอีกระลอกหนึ่งมีทั้งแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหนำ กวางตุ้ง และฮากกา ทั้งนี้เป็นผลจากปัจจัยภายในของจีนอันได้แก่ปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และภัยธรรมชาติ กอปรกับปัจจัยภายในของสยาม โดยเฉพาะนับแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (2398) และการขยายตัวของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของสยาม ดึงดูดให้ชาวจีนเดินทางเข้ามาแสวงโชคและลงทุนกันอย่างมหาศาล (วิลเลียม สกินเนอร์ 2529: 32-39) และด้วยเรือเดินทะเลที่ทันสมัยมากขึ้นส่งผลทำให้ชาวจีนที่เข้ามาไม่มีเฉพาะผู้ชายอีก แต่จะมีผู้หญิงตามเข้ามาด้วย ส่งผลทำให้ชาวจีนหลายกลุ่มยังคงสามารถรักษาเชื้อสายและอัตลักษณ์มาได้ยาวนาน ในช่วงปลายสุดของรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาชาวจีนมีการรวมกลุ่มจัดตั้งโรงเรียน สมาคม และมูลนิธิกันหลายแห่ง ชาวจีนห้ากลุ่มยังร่วมมือกันตั้งโรงพยาบาลและหอการค้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชาวจีนได้รับผลกระทบจากนโยบายชาตินิยมของรัฐ เนื่องจากชาวจีนมีบทบาทและอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างสูง อีกทั้งมีประชากรเป็นจำนวนมากนับล้านคน จึงทำให้รัฐบาลพยายามผสมกลมกลืนชาวจีนกลุ่มต่างๆ เข้าสู่ความเป็นไทย (วิลเลียม สกินเนอร์ 2529: 158-175)
ชาวจีนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นไม่กระจุกตัวในภาคกลางและภาคใต้เหมือนในสมัยก่อนหน้านั้นแล้ว แต่กระจายไปทั่วทั้งประเทศ เพราะการพัฒนาขึ้นของเส้นทางรถไฟ และการค้าตามหัวเมือง ชาวจีนในเวลานี้มีทั้งที่เป็นแรงงานและได้พัฒนาขึ้นเป็นผู้ประกอบการจนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ในสมัยรัชกาลที่ 7 ชาวจีนกลุ่มใหญ่ได้อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่แล้ว ดังเห็นได้จากคราวรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ มณฑลพายัพ ได้การเชิดมังกรจากกวางตุ้ง มีการเชิดเสือจากไหหนำ มีพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮ่อมาต้อนรับ (กมล นโนชญากร 2558) ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชาวจีนประกอบอาชีพหลากหลายในสังคม นับแต่เจ้าของกิจการเล็กใหญ่หลายหมื่นแห่ง ช่างไม้ ช่างเครื่อง ช่างโลหะ ชาวสวน นักแสดง ลูกเรือ หาบเร่ และกรรมกร ในขณะที่คนไทยเน้นที่การรับราชการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสัดส่วนนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนไปในห้วงเวลาอีกหลายทศวรรษต่อมา ในปัจจุบันชาวจีนทั้งจีนเก่าและจีนใหม่ยังถือว่ามีบทบาทสูงทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของไทย โดยอาศัยอยู่ในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ชาวจีนในไทยปัจจุบันยังคงสามารถรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองได้ในระดับหนึ่ง ความเข้มข้นขึ้นอยู่กับพื้นที่และในแต่ละครอบครัว ชาวจีนได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นผู้มีความมัธยัสถ์ อดออม และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เชี่ยวชาญการทำมาค้าขาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความคุ้นเคยกับการค้าและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้แล้ว อัตลักษณ์สำคัญของชาวจีนในประเทศไทยที่เห็นได้ชัดคือ ประเพณี พิธีกรรม และอาหาร พิธีกรรมแบบจีนได้รับการยอมรับทั้งในพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ของการท่องเที่ยว เช่น พิธีถือศีลกินเจพิธีตรุษจีน เช่นเดียวกับอาหารของชาวจีนนั้นได้รับการยอมรับ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารไทย ภัตตาคารจีนในย่านเศรษฐกิจเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนในประเทศไทย คนต่างเชื้อชาติ และนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
ชื่อเรียกตนเอง : แต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, กวางตุ้ง, ฮากกา, ฮ่อ, ตันกา, ซัมซัม, เปอรานากัน, ไทยเชื้อสายจีน
“ชาวจีน” ในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก กลุ่มที่เป็นชาติพันธุ์เดียวกันกับในประเทศจีน ได้แก่ แต้จิ๋ว จีนแคะ (ฮากกา) ไหหลำ (ไหหนำ) ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง จีนฮ่อ (จีนยูนนาน) และตันกา กลุ่มที่สอง ชาวจีนที่แต่งงานกับชาวพื้นเมือง ได้แก่ ซัมชัม เปอรานากัน และจีนไทย หรือ “ไทยเชื้อสายจีน” ซึ่งชื่อหลังนี้เกิดขึ้นจากนโยบายรวมพวก (Assimilation) ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นต้นมา
ชาวจีนหลายกลุ่ม คนไทยเรียกชื่อตรงกับชื่อที่พวกเขาเรียกตนเอง เช่น แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน และกวางตุ้ง ส่วนที่เหลือคนไทยเรียกตามชื่อที่คนกลุ่มอื่นเรียก เช่นจีนแคะเรียกตนเองว่า ฮากกา คำว่า จีนแคะเป็นคำเรียกที่คนจีนแต้จิ๋วในไทย, หรือ ไหหนำ เรียกตนเองในจีนว่า ใหหนำ (คำว่า ใหหนำ มาจากคำว่า ไห่หนาน แปลว่า ทะเลใต้) หรือ ชาวตันกามีอยู่จำนวนน้อยและอยู่ในภาวะวิกฤตทางชาติพันธุ์พบที่สุราษฎร์ธานี มีวิถีชีวิตคล้ายชาวเลตั้งแต่ในประเทศจีน แต่คนภายนอกเข้าใจเพียงแค่ว่าเป็นชาวจีนเท่านั้น
ชาวจีนฮ่อเป็นชื่อที่คนล้านนาหรือคนเมืองเรียกชาวจีนที่มาจากทางยูนนาน แต่พวกเขาเรียกตนเองว่าว่า ชาวยูนนาน (ยูน แปลว่า เมฆ, นาน แปลว่า ใต้) โดยพูดภาษาจีนสาขาตะวันตกเฉียงใต้ ต่างไปจากชาวจีนห้ากลุ่มหลัก ชาวจีนฮ่อเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในภาคเหนือ (ล้านนา) ในฐานะกลุ่มพ่อค้าวัวต่าง ต่อมาสังคมไทยรู้จักกันในช่วงยุคสงครามเย็นจากการเข้ามาของกองพล 93 (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ 2551)
ในขณะที่ชาวซัมซัม (Sam-sam) พบเฉพาะในบันทึกรุ่นเก่าระบุว่าเป็นชาวจีนที่ผสมกับชาวมลายูหรือชาวไทยพบในเขตภาคใต้ (คารร์ และไซเดนฟาเดน 2515) เป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้ภายหลังถูกเรียกว่า เปอรานากัน ไม่ทราบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกนี้ตั้งแต่เมื่อใด อาจหลัง 2530 เป็นต้นมาเมื่อสถานการณ์คอมมิวนิสต์ผ่อนคลายลง นอกจากนี้ยังมีชาวจีนที่ผสมกับคนไทยมาช้านาน ซึ่งทำให้วัฒนธรรมไทยมีลักษณะลูกผสม เพียงแต่ความเป็นไทยได้กลบความเป็นจีนไปเสียมากอันเป็นผลมาจากนโยบายชาตินิยมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังนั้น ชาวจีนจึงมีความหลากหลายสูง แต่ฐานข้อมูลนี้จะขอนำเสนอเฉพาะ 5 กลุ่มหลักเท่านั้น
คนไทยและคนจีนในประเทศไทยเคยชินกับการเรียกชื่อชาวจีนแต้จิ๋วว่า “แต้จิ๋ว” แต่ในจีนปัจจุบันนิยมเรียกว่า “เตี่ยซัวนั้ง” (潮汕人) (เตี่ยซัวนั่ง เป็นสำเนียงแต่จิ๋ว แต่ถ้าอ่านตามจีนกลางคือ เฉาซานเหริน) นอกจากนี้แล้ว ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศจีนยังนิยมเรียกตนเองว่า “ตึ่งนั้ง” (แปลว่า คนกันเอง) หรือ “กากี่นั๊ง” (家己人 - Jia ji ren) แปลว่า คนกันเอง เช่นกัน หรือบางครั้งก็เรียกว่า “ถังเหริน” (แปลว่า คนแห่งราชวงศ์ถัง) ซึ่งสะท้อนถึงการเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์สำคัญของจีน
“ฮกเกี้ยน” เป็นชื่อที่เรียกตนเองทั้งในไทยและจีน แต่บางครั้งเรียกว่า “ฝูเจี้ยน” (福建 – Fu jian) ตามเสียงจีนกลาง ในประเทศจีนประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น อะมอย (Amoy) ชาวฮกเกี้ยนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มตามถิ่นฐานและสำเนียงการพูด ได้แก่ ชาวฮกโล่ (福佬) และชาวฮกจิว (福州) โดยชาวฮกโล่เป็นกลุ่มชาวฮกเกี้ยนที่อพยพมาจากเมืองเอ้หมึง (厦门) ใช้สำเนียงฮกเกี้ยนใต้หรือหมิ่นหนาน (闽南) ส่วนชาวฮกจิว เป็นกลุ่มชาวฮกเกี้ยนที่อพยพมาจากตอนเหนือของมณฑลฝูเจี้ยนที่เมืองฮกจิว (福州) ใช้สำเนียงฮกเกี้ยนเหนือในการสื่อสาร
“ไหหลำ” (海南人) เป็นชื่อในสำเนียงไทย มาจากสำเนียงแต้จิ๋ว แต่ชาวจีนไหหลำเรียกตนเองว่า “ใหหนำ” หรือ “ไหหนำ” ตัวเขียนแบบนี้พบที่สมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย และสมาคมไหหนำนครสวรรค์ เท่านั้นที่เขียนด้วยตัวสะกดแบบนี้ คำว่า ไหหลำนี้มาจากคำว่า “ไห่หนาน” ในภาษาจีนกลางแปลว่า ทะเลใต้ ดังนั้น การออกเสียงว่า “ใหหนำ” จึงเป็นเสียงที่ตรงกับที่คนจีนบนเกาะไหหนำ
“กวางตุ้ง” (廣府人) เป็นเสียงที่คนไทยเรียกตามชาวแต้จิ๋ว มีชื่อเรียกในสำเนียงกวางตุ้งว่า “กว๋องฟู หยั่น” (หยั่น (เหริน) แปลว่า คน) ในหลายประเทศที่มีชาวจีนกวางตุ้งอาศัยอยู่ก็จะเรียกชื่อชาวจีนกวางตุ้งแตกต่างกันออกไป เช่น คนมาเลเซียเรียกว่า “กองฟู” คนอินโดนีเซียเรียกว่า “กงฮู” คนเวียดนามเรียกว่า “ฮัว” ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ชาวแคนตัน (Cantonese) ในไทยมีคนกวางตุ้งไม่มากเมื่อเทียบกับแต้จิ๋ว แต่ที่ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับชื่อนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมบันเทิงในฮ่องกง และกวางตุ้งเป็นชื่อเมืองท่าเก่าแก่ที่คนไทยติดต่อ
“จีนแคะ” เป็นชื่อที่คนไทยรู้จักกันดี ทั้งนี้เพราะเรียกตามชาวจีนแต้จิ๋ว (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2555: 13) หากแต่ในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ จะเรียกว่า “ฮากกา” ตามชื่อที่ชาวจีนกลุ่มนี้เรียกตัวเอง (ธีรวิทย์ สวัสดิบุตร, 2550) หรือ “ฮากกา เหริน” (客家人) (เหริน แปลว่า คน) (Hashimoto, 1973 : 1) คำว่า “ฮากกา” เป็นคำในภาษากวางตุ้ง (Cantonese) ซึ่งในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “เค่อ เจีย” 客家 (Kèjiā) แปลว่า อาคันตุกะ หรือ แขกผู้มาเยือน ทั้งนี้เพราะเป็นกลุ่มชาวจีนที่มีลักษณะสังคมเป็นแบบกองคาราวาน จึงทำให้จีนกลุ่มนี้มีสถานะเป็นผู้ที่มาจากต่างถิ่น หรือแขกต่างถิ่น เจ้าของถิ่นเดิมจึงเรียกว่า “อาคันตุกะ” หรือ “แคะ” (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2555: 4-6; Norman, 1988 : 221) ปัจจุบันคนไทยจำนวนหนึ่งก็เริ่มเรียกจีนแคะว่า ฮากกา แทนคำเรียกเดิมแล้ว
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : คนจีน, เจ๊ก
“คนจีน” เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกกันโดยทั่วไป เป็นคำเหมารวมอย่างกว้างๆ สำหรับคนที่พูดในภาษานี้ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นกลุ่มชาวจีนย่อยกลุ่มใด
มีอีกคำหนึ่งที่คนไทยใช้เรียกคนจีนคือ “เจ๊ก” ซึ่งเป็นคำเหมารวมเรียกเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจีนแต้จิ๋ว กวางตุ้ง ไหหนำ ฮกเกี้ยน หรือฮากกา อย่างไรก็ตาม คำนี้เป็นคำเชิงดูถูก เป็นไปได้ว่าคำว่า “เจ๊ก” อาจมาจากคำในภาษาจีนแต้จิ๋วที่ใช้เรียกน้องของพ่อว่า “อาเจ็ก” หรือ “เจ๊กเจ็ก” แปลว่า “อา” หรือ “อาว์” บางทีก็ใช้เรียกชื่อคนที่ไม่รู้จักชื่อหรือคนที่นับถือกันว่า “อาเจ็ก” เป็นเสมือนสรรพนามของคนๆ นั้น เมื่อคนไทยได้ยินการใช้คำนี้ในหมู่คนจีนจึงทำให้เรียกตาม และด้วยปัจจัยทางการเมืองและสังคมในยุคชาตินิยมทำให้เติมคำว่า “ไอ้” เข้าไปเป็น “ไอ้เจ๊ก” จนกลายเป็นคำดูถูก
อย่างไรก็ตาม ด้วยความคุ้นเคยของคนไทย ทำให้สามารถแยกชื่อกลุ่มคนจีนต่างๆ ได้ตามที่คนจีนเรียกกันไม่ว่าจะเป็นแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหนำ กวางตุ้ง และแคะ (ฮากกา) ซึ่งชื่อที่เรียกต่างไปจากชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ เรียกตนเองก็เพราะคนไทยเรียกตามชาวแต้จิ๋วเป็นหลัก
ภาษา
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : จีน
ภาษาจีนทั้ง 5 กลุ่มมีความแตกต่างกันในแง่ของสำเนียง (dialects) แต่ใช้ตัวอักษรเดียวกัน ภาษาแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และไหหนำ เป็นภาษาจีนที่ผสมกับภาษาท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มเย่ว (ไท-ข่าไท) ทำให้เกิดระบบเสียงวรรณยุกต์ที่มีความแตกต่างกัน ยกเว้นกลุ่มชาวฮากกาที่อพยพลงมาทางเหนือลงมาทางใต้ทำให้ภาษามีความแตกต่างจากจีนทั้ง 4 กลุ่มข้างต้น อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดใช้ตัวอักษรจีนเหมือนกัน
ภาษาจีนแต้จิ๋วมีชื่อเรียกในภาษาจีนต่างกัน เดิมเรียกว่า “เตี่ยจิวอ่วย” ต่อมาเมื่อซัวเถาเจริญขึ้นแทนเมืองแต้จิ๋ว ทำให้คนต่างถิ่นนิยมเรียกภาษานี้ว่า “ซานโถวฮว่า” หรือ “ซัวเถาอ่วย” หมายถึง ภาษาพูดถิ่นซัวเถา (ถาวร สิกขโกศล 2554: 221) แต่ในหลักทางภาษาศาสตร์แล้ว ภาษาจีนแต้จิ๋วจัดเป็นภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ในสาขาหมิ่น (闽) สาขาย่อยเฉาซานหมิ่น (潮汕 - Chaoshan Min) ซึ่งพบในเขตชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน
ภาษาฮกเกี้ยนจัดอยู่ในภาษาตระกูลจีน-ทิเบต สาขาจีน สาขาย่อยหมิ่น กิ่งหมิ่นหนาน (闽南 - Min nan) หรือ “บั่นลั้ม” ในสำเนียงฮกเกี้ยน เป็นหนึ่งในภาษาที่ใช้กันในมณฑลฝูเจี้ยนและใกล้เคียง คนไทยรู้จักในนามภาษาฮกเกี้ยน เดิมทีมีชื่อเรียกว่าภาษาฮกโล่ (福佬话) “ฮกโล่” หมายถึงชาวฮกเกี้ยนที่อพยพจากมณฑลฮกเกี้ยนประเทศจีนมาที่เกาะไต้หวัน ภาษาฮกโล่จึงหมายถึงภาษาของคนฮกเกี้ยน (Hong Wei-ren 1995: 6, อ้างถึงใน สิริวรรณ แซ่โง้ว 2561)
ภาษาไหหนำจัดอยู่ในตระกูลจีน-ทิเบต สาขาหมิ่น (Min) สาขาย่อยหมิ่นชายฝั่งทะเล (Coastal Min) ในกิ่งภาษาไหหนำ (Hainanese) บางกรณีชาวไหหนำในจีนเรียกภาษาของตนเองว่า “ฉง เหวิน” (琼文) ภาษาไหหนำนี้ใช้กันในเขตเกาะไหหนำเป็นหลัก
ภาษากวางตุ้งจัดอยู่ในภาษาตระกูลจีน-ทิเบต สาขาจีน สาขาย่อยเย่ว์ (Yue) กิ่งเย่ว์ไห่ (Yuehai) หรือ เย่ว์ทะเล กลุ่มย่อยกวางตุ้ง (Cantonese) พูดกันมากในมณฑลกว่างตง ทำให้กลายเป็นภาษากลางของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในมณฑลนี้ และใช้เป็นภาษาทางการในฮ่องกงและมาเก๊า
ภาษาฮากกา (客家話) มีต้นรากมาจากภาษาฮั่นของจีนตอนเหนือ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาจีน สาขาย่อยฮากกา (Hakka) ภาษาฮากกาถูกใช้ในหลายพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนไม่ว่าจะเป็นกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน ฮูหนาน กวางสี ต่างจากภาษาจีนสำเนียงอื่นๆ ที่มักใช้กันอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งนี้เพราะการอพยพเคลื่อนย้ายที่อยู่หลายระลอกของชาวฮากกา ดังนั้นในภาพรวมแล้ว ภาษาฮากกาจะมีความต่างจากแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหนำ และกวางตุ้ง เพราะไม่ได้ผสมกับภาษาท้องถิ่นจนแตกออกไปอีกสาขาหนึ่งจากภาษาจีนกลาง และนับว่ามีความใกล้เคียงมากกับภาษาจีนกลาง (ชำนาญ พิเชษฐพันธ์ และสมชาย พิเชษฐพันธ์ 2560: 35)
ภาษาพูด : จีน
ถือกันว่าภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นภาษาถิ่นจีนที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาชาวจีนอีกหลายกลุ่ม เนื่องจากมีรากมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์จิ้นและถัง ประกอบกับแต้จิ๋วเป็นเมืองชายขอบที่ได้รับอิทธิพลจากจีนต่างถิ่นน้อย จึงทำให้สำเนียงที่พูดกันเป็นสำเนียงโบราณ ในจีนแบ่งภาษาแต้จิ๋วออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มซัวเถา กลุ่มเตี่ยโผว และกลุ่มซัวบ้วย ภาษาแต้จิ๋วเป็นภาษาที่มีระบบเสียงวรรณยุกต์จำนวน 6 เสียงหลัก (ในขณะที่จีนกลางมี 4 เสียง) และมีคำศัพท์ร่วมกับภาษากวางตุ้งจำนวนมาก เพราะอยู่ใกล้ชิดกัน ความจริงแล้ว ภาษาแต้จิ๋วจัดว่ามีส่วนคล้ายกับภาษาไทยอยู่มาก ทั้งในเรื่องของเสียง คำศัพท์ และไวยากรณ์ ที่แตกต่างคือเสียงภาษาไทยมีเสียงนาสิก แต่ในปัจจุบันในจีน ชาวแต้จิ๋วรับภาษาจีนกลางเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้คนพูดภาษาแต้จิ๋วลดลง แต่ในกรณีของชาวจีนแต้จิ๋วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่าได้รับเอาคำในภาษาท้องถิ่นเข้ามาใช้ปนด้วยเช่น การรับคำมาเลย์มาผสม และรับคำไทยปะปน แต่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่ของไวยากรณ์ อย่างไรก็ตาม กรณีของคนที่พูดภาษาแต้จิ๋วในไทยก็นับว่าน้อยลงไปมาก คนรุ่นอายุ 30-40 ปี ซึ่งอาจเป็นคนรุ่นที่ 3-4 นี้พูดไม่ได้หรือแทบจะพูดไม่ได้แล้ว
ภาษาจีนฮกเกี้ยน เป็นภาษาพูดในมณฑลฝูเจี้ยนแบ่งออกเป็น 2 สำเนียงตามแต่ละท้องที่คือ ภาษาหมิ่นเหนือ (闽北) และภาษาหมิ่นใต้ (闽南) ทั้งสองสำเนียงต่างกันมาก ในไต้หวันถือกันว่าภาษาฮกเกี้ยนเป็นหนึ่งในภาษาประจำชาติ นอกจากนี้พบว่ามีการใช้พูดกันทั่วไปในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในกรณีของไทยคนรุ่นหลังก็พูดได้น้อยลงเช่นกัน
ภาษาจีนไหหนำมีความใกล้เคียงกันกับภาษาจีนฮกเกี้ยนพอควร ยกเว้นเสียงบางเสียง อีกทั้งมีความใกล้เคียงกับวิธีการออกเสียงในภาษาเวียดนาม ประกอบด้วยวรรณยุกต์จำนวน 8 เสียงด้วยกัน ปัจจุบันยังใช้พูดกันในเกาะไหหนำ (ไห่หนาน) และยังพูดอยู่บ้างในประเทศไทย แต่คนรุ่นหลังบางที่ก็ไม่สามารถพูดได้แล้ว เมื่อเทียบกับจีนกลางมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น คุณชื่อว่าอะไร ไหหนำพูดว่า “ดู่เกี่ยวมี่เมี่ย” จีนกลางพูดว่า “หนี่เจี้ยวเสินเมอหมิงจื้อ” สังเกตได้ว่าคำศัพท์ที่ใช้เรียกประธานนั้นต่างกันชัด
ภาษาจีนกวางตุ้งเป็นภาษาถิ่นอันดับหนึ่งของประเทศจีน และเป็นภาษาที่ใช้ทางการเป็นอันดับสองของประเทศจีนกลาง มีเสียงวรรณยุกต์ 6-7 เสียง ในทางภาษาศาสตร์แบ่งออกแป็น 3 สำเนียงย่อยได้แก่ ซีกวน (Xiguan) ฮ่องกง และมาเลเซีย หรือในบางตำราแบ่งออกเป็น 2 สำเนียงหลักคือ ซ้ามยับ และ เซยับ สำเนียงซ้ามยับคือ สำเนียงที่ได้ยินกันตามภาพยนตร์และถือเป็นภาษาทางการของฮ่องกง ส่วนเซยับพูดกันมากเช่นกัน เพราะมีคนอพยพไปทั่วโลก ในไทยพบทั้งสองกลุ่มนี้ ชาวจีนกวางตุ้งบางแห่งเช่น นครสวรรค์ ยังคงพูดภาษานี้กันได้ แต่ก็ลดลงมากเช่นกัน
ภาษาจีนฮากกา (客家话) แบ่งเป็นภาษาถิ่นย่อยอีกมากมายตามอำเภอที่อยู่อาศัยในมณฑลกวางตุ้ง เช่น สำเนียงเหมยเซี่ยน สำเนียงปั้นซันฮัก สำเนียงฮุ่ยโจว สำเนียงไห่ลู่-ฟุง เป็นต้น โดยนักวิชาการจีนถือว่าภาษาฮากกาสำเนียงเหมยเซี่ยนเป็นภาษามาตรฐาน ซึ่งภาษาของชาวฮากกาในไทยนั้นมีอยู่ราว 2 - 3 สำเนียงจากที่มีอยู่ราว 12 สำเนียงในประเทศจีน ชาวฮากกาที่มาอาศัยอยู่ในไทยโดยมากแล้วมาจากเมืองหย่อยั้น (เหมยโจว) มณฑลกวางตุ้ง และบางสูงมาจากเขตภูเขา ซึ่งเรียกว่า “ขิมขัก” หรือ “แคะลึก” ถ้ามาจากภูเขาไม่สูงมากจะเรียกว่า “ปั้นซันขัก” หรือ “แคะตื้น” (ชำนาญ พิเชษฐพันธ์ และสมชาย พิเชษฐพันธ์ 2560: 29-35)จีน
ตัวอักษรที่ใช้เขียน : อักษรจีนมาตรฐาน
จีนทั้ง 5 กลุ่ม ใช้ตัวอักษรจีนมาตรฐาน (Standard Chinese) ซึ่งเป็นเรื่องปกติในจีน แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ใช้ภาษาจึงใช้ตัวอักษรจีนมาแทนเสียงในภาษาพูดตามหลักเกณฑ์ของแต่ละกลุ่ม หรืออาจใช้ตัวอักษรที่มีเสียงและความหมายตรงกับภาษาพูดโดยไม่เน้นความหมายตามตัวอักษร ดังเช่นกรณีของชาวแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฮากกา เป็นต้น (ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร 2556: 144) ในกรณีของชาวฮกเกี้ยน ภาษาฮกเกี้ยนไม่มีตัวอักษรเฉพาะของตัวเอง ต้องใช้ตัวอักษรจีนกลางเพื่อแทนเสียงเช่นกัน ดังนั้น จึงให้ความสำคัญที่เสียงอ่านมากกว่าตัวอักษรหรือความหมายของตัวอักษรนั้นๆ โดยที่ไม่มีมาตรฐานที่ตายตัว
แต่ในกรณีของกวางตุ้ง เนื่องจากเป็นภาษาที่มีคนใช้กันมากในฮ่องกงและมาเก๊า รวมถึงครอบครองสื่อหลักทำให้พบว่าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีการพัฒนาอักขระรพิเศษขึ้นมาแตกต่างออกไปจากจีนมาตรฐาน เพราะคำบางคำนั้นไม่ได้ใช้แล้วในภาษาจีนกลางมาตรฐาน ซึ่งยังคงสามารถเห็นได้จากสื่อบันเทิงและโซเชียลมีเดียในฮ่องกงและมาเก๊า แต่อักษรพิเศษนี้จะไม่ใช้กันระบบราชการและทางการ
นอกจากอักษรจีนแล้ว กรณีของชาวไหหนำในจีนพบว่า มีการใช้ตัวอักษรโรมันด้วย เริ่มต้นประดิษฐ์วิธีเขียนนี้เมื่อปี ค.ศ.1881 โดยมิชชันนารีชาวดัทช์ ต่อมาในปี 1960 ตามนโยบายการปกครองของมณฑลกวางตุ้งได้มีการใช้ตัวอักษรโรมันในระบบการเขียนแบบพินอิน เพื่อให้รู้หนังสือกันมากขึ้น ซึ่งนโยบายนี้ได้ใช้กับชาวจีนอีกหลายๆ กลุ่มเช่นกัน
สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ราบ
การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวประชากร :
เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดตำแหน่งของหมู่บ้านของชาวจีน เนื่องจากชาวจีนอพยพเคลื่อนย้ายและอาศัยอยู่กับชาวไทยในหลายท้องที่ บางหมู่บ้านบางตำบลอาจมีชาวจีนหลายกลุ่มเช่น ที่ท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร มีทั้งชาวจีนไหหนำ แต้จิ๋ว และฮกเกี้ยน หรือที่ตัวเมืองนครสวรรค์มีรวมกันทุกกลุ่ม
ปัจจุบันพบชาวจีนแต้จิ๋วทั่วไปทั้งภูมิภาคของไทย ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในช่วงปีนับแต่ พ.ศ. 2310 เนื่องจากเมื่อทราบข่าวว่า ชาวจีนแต้จิ๋วแซ่แต้ (จีนกลางแซ่เจิ้ง) ได้เป็นกษัตริย์สยามคือ พระเจ้าตากสิน จึงทำให้ตัดสินใจเดินทางออกมา เพื่อหวังจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า ส่วนใหญ่อพยพมาจากจีนทางเรือสำเภาหัวแดง (สำหรับขนสินค้า) จากท่าเรือจางหลินแล้วมาขึ้นเรือที่ท่าน้ำใกล้สำเพ็งในกรุงเทพมหานคร ทำให้ชาวจีนแต้จิ๋วกระจายตัวหลักทั่วไปในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อดุลย์ รัตนมั่นเกษม 2557: 96-98) หลังจากนั้นจึงค่อยเดินทางไปยังที่ต่างๆ เช่น ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ตราด จันทบุรี บางปลาสร้อย (ชลบุรี) แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) นครสวรรค์ เป็นต้น เมื่อมาถึงไทยจะมีคนในสกุลแซ่เดียวกันช่วยเหลือหางานและที่พักให้ก่อนแยกย้าย ด้วยความถนัดในเรื่องการทำสวนผักและมีความรู้เรื่องการทำน้ำตาลทรายขาว ทำให้พบชาวแต้จิ๋วในพื้นที่ชนบทหลายจังหวัด เช่น นครปฐม กาญจนบุรี ที่เหมาะกับการปลูกอ้อย
ชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ส่วนมากเดินทางมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นมณฑลแถบชายฝั่งทะเลของประเทศจีน จึงมีความชำนาญในการเดินเรือติดตัวมาด้วย วัลย์ลิภา บุรุษรัตนพันธ์ และสุภางค์ จันทวานิช พบว่า ในสมัยอยุธยา มีการตั้งหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยามากถึง 6 ย่านด้วยกัน คือ ย่านแรกคือ ตลาดน้ำหรือตลาดเรือ ซึ่งอาศัยอยู่กันเป็นแพเหมือนกับเป็นตลาดน้ำ ปรากฏอยู่ 4 ตลาดในย่านนี้คือ 1) ตลาดน้ำวนบางกะจะ หน้าวัดพนัญเชิง 2) ตลาดปากคลองคูจาม ท้ายสุเหร่าแขก 3) ตลาดปากคลองคูไม้ร่อง 4) ตลาดปากคลองวัดเดิม ใต้ศาลเจ้าปูนเท่ากง ย่านที่สอง ตลาดวัดท่าราบหน้าบ้านเจ้าสัวซี มีลักษณะเป็นตึกแถวสองชั้นยาว 16 ห้อง ชั้นบนสำหรับอยู่อาศัย และชั้นล่างตั้งขายของ มีโรงตีเหล็ก เย็บรองเท้า ทำยาแดง และสูบกล้องขาย ย่านที่สาม ตลาดขนมจีน เป็นย่านค้าขายของชาวฮกเกี้ยน จำหน่ายสินค้าจำพวกขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ และร้านชำ ย่านที่สี่ ในไก่ เป็นตลาดใหญ่บริเวณท่าเทียบเรือ ตั้งแต่คลองประตูในไก่ ท่าหอย มาจนถึงคลองประตูจีน เป็นย่านค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าหลากหลายชนิด อาทิ เครื่องทองเหลือง ทองขาว ถ้วยชามกระเบื้อง แพรไหม เครื่องมือเหล็ก อาหาร และผลไม้จากเมืองจีน อีกทั้งยังมีของสดขายเป็นตลาดเช้า-เย็น ย่านที่ห้า สามม้า เป็นย่านที่อยู่ต่อจากย่านในไก่ ชาวจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับและขนมแห้งของจีนหลากชนิด รับทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ และเครื่องเหล็กต่าง ๆ รวมถึงรับจ้างตีเหล็กรูปพรรณ ย่านที่หก ตลาดปากคลองขุดละครไชย เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีร้านของของจากเมืองจีน และมีโรงโสเภณีตั้งอยู่ท้ายตลาด 4 โรง (วัลย์ลิภา บุรุษรัตนพันธ์ และสุภางค์ จันทวานิช, 2534)
นอกจากนี้แล้ว ยังพบชาวจีนฮกเกี้ยนในภาคใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังกรณีรัชสมัยของพระเจ้าตากสินนั้น หวู หยาง ชาวฮกเกี้ยนจากตำบลซีซิงในจางโจวที่อพยพเดินทางมายังสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2203 ด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดี หวู หยางจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอากรทำอากรรังนกที่เกาะนอกฝั่งสองเกาะ และแต่งตั้งให้เป็นขุนนางมีตำแหน่งเป็นหลวง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสงขลา (วิลเลียม สกินเนอร์ 2529: 20) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสุวรรณสมบัติคีรี เป็นต้นตระกูล ณ สงขลา นอกจากนี้ ชาวฮกเกี้ยนยังได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก เพื่อทำเหมืองแร่ดีบุกและการค้า จึงทำให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตฮกเกี้ยนเป็นวัฒนธรรมสำคัญของภูเก็ต นอกจากนี้ยังพบในอีกหลายจังหวัดของไทยเช่น สุราษฎร์ธานีและตรังมีศาลเจ้าฮกเกี้ยน เป็นต้น ภายหลัง พ.ศ. 2418 การอพยพของชาวฮกเกี้ยนมายังกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่ลดลง แต่ไปเพิ่มขึ้นทางภาคใต้เป็นหลักดังเช่นที่สงขลา ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวของเหมืองแร่และยางพารา (วิลเลียม สกินเนอร์ 2529: 51)
สำหรับชาวไหหนำนั้น ความเข้าใจเดิมมักอธิบายว่าชาวจีนไหหนำอาศัยอยู่มากทางภาคใต้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดไปจากข้อเท็จจริงมากนัก แต่ความจริงแล้วพบชาวไหหนำในหลายภูมิภาคของไทย ได้แก่ นครสวรรค์อุทัยธานี พิจิตร อุตรดิตถ์ สวรรคโลก สุโขทัย สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น การเลือกตั้งถิ่นฐานยังที่ต่างๆ มานี้เกี่ยวข้องกับความชำนาญในอาชีพช่างไม้และการต่อเรือ ตัวอย่างเช่นที่นครสวรรค์ เป็นชุมทางลำเลียงไม้จากเมืองเหนือนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา ทำให้มีความต้องการแรงงานชาวจีนที่ชำนาญงานไม้ ที่นี่จึงพบชุมชนชาวไหหนำ (สัมภาษณ์ นวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์ 2565) เห็นได้จากการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิม (จุ้ยโบเนี้ยว) ซึ่งไม่ได้พบที่นครสวรรค์เท่านั้น แต่ยังพบอีกหลายเมือง นอกจากพื้นที่ตอนในของแผ่นดินแล้ว ยังพบชาวไหหนำมากตามเมืองแถบชายฝั่งทะเล เช่น ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร แม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เมืองภูเก็ต และที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดตราด เป็นต้น
สำหรับชาวจีนกวางตุ้งมีความแตกต่างออกไป เพราะนิยมอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าจะอยู่ตามชนบทหรือชายฝั่งทะเล เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญในงานช่างเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ตั้งแต่ในประเทศจีน ทำให้มีทักษะในการสร้างทางรถไฟ ต่อเรือ ซ่อมเครื่องยนต์ และงานไม้ เมื่อมาถึงยังประเทศไทย จุดแรกที่เดินทางเข้ามาคือ กรุงเทพฯ พบมากแถบบางรัก ตลาดน้อย สำเพ็ง และเยาวราช จากนั้นจึงกระจายตัวไปตามเมืองต่างๆ ตามเส้นทางรถไฟ และไปตามหัวเมืองสำคัญ กลุ่มหนึ่งไปตามเส้นทางรถไฟไปยังนครสวรรค์ ตาก เชียงใหม่ นครราชสีมา อีกกลุ่มไปทางเรือโดยเดินทางไปยังสุราษฎร์ธานี สงขลา หาดใหญ่ เบตง ภูเก็ต และตรัง เพื่อประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานช่าง ร้านอาหาร และอื่นๆ (สัมภาษณ์ นวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์ 2565)
ชาวฮากกาเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และเข้ามามากที่สุดในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยมีการก่อสร้างถนนหนทาง สร้างทางรถไฟ และก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งชาวจีนแคะมีความเชี่ยวชาญด้านงานช่าง ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอต่าง ๆ ในมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน และเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 โดยกลุ่มชาวฮากกาจะเคลื่อนย้ายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยที่มีการจ้างแรงงาน เมื่อทางรถไฟและถนนถูกสร้างไปถึงภาคเหนือของประเทศไทย (จังหวัดลำปาง) ชาวฮากกาได้อพยพมาตั้งหลักตั้งฐานในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยด้วย ได้แก่ ลำปาง น่าน เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ และแพร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮากกาสำเนียงถิ่นฮงสุน ส่วนทางภาคใต้ ชาวฮากกาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่จังหวัดหาดใหญ่และจังหวัดสงขลาเป็นจำนวนมาก และกระจายกันอยู่ทั่วไปตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ส่วนมากเป็นชาวฮากกาสำเนียงถิ่นเหมยเซี่ยนและสำเนียงฮุ่ยโจว ซึ่งอยู่กันเป็นชุมชนใหญ่และยังรักษาภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ นอกจากนี้ ยังกระจายกันอาศัยอยู่ในหลายจังหวัดของภาคกลาง ซึ่งกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2555: 146-147; ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร 2556 : 230)
แหล่งข้อมูล
ผู้เรียบเรียงข้อมูล :
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอกสารอ้างอิง :
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก (Suvarnabhumi Terra Incognita). กรุงเทพฯ: บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน).
กมล นโนชญากร, รองอำมาตย์ตรี. 2558 [2474]. จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี และสถาบันพระปกเกล้า.
กุลศิริ อรุณภาคย์. 2553. ศาลเจ้าศาลจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: Museum Press.
กรมศิลปากร. 2565. การค้ากับชาวต่างชาติในสมัยกรุงธนบุรี (ตอนที่ ๒). https://www.finearts.go.th/main/view/26552-การค้ากับชาวต่างชาติในสมัยกรุงธนบุรี--ตอนที่-๒-
คารร์, เอ, นายแพทย์ และ ไซเดนฟาเดน, อี, พันตรี.ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย. ใน ประมวลพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ชาติพันธุ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย.กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2515 [2493].
จักรพงษ์ กลิ่นแก้ว. 2550. ดนตรีประกอบพิธีกงเตกไหหลํา: กรณีศึกษาคณะกงเต๊ก ด่านเฮงกุน (โกกุน) (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ชุติมา ศรไชย. 2559. การอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษาชุมชนบ้านญวน สามเสน. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร.
ชำนาญ พิเชษฐพันธ์ และสมชาย พิเชษฐพันธ์. 2560. คนแคะ (ไม่แคระ) ฮากกาหงิ่น. นนทบุรี: บริษัท เฟิสท์ ออฟเซท (1993) จำกัด.
ต้วน ลี่เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขสิริ. 2543. ความเป็นมาของวัดจีนและศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา.
ถาวร สิกขโกศล. 2552. “ความเชื่อผีสางเทวดาของคนจีนแต้จิ๋ว เรื่องงมงายหรืออุบายควบคุมจริยธรรม?,” ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/culture/article_77018.
ถาวร สิกขโกศล. 2554. แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ: มติชน.
ธันฐกรณ์ สังขพิพัฒธนกุล. 2564. “วัฒนธรรมแต้จิ๋ว” ตัวแทนวัฒนธรรมจีนในสังคมไทย. วารสารวิชาการภาษาและวัฒนธรรมจีน. 8(1). 98-99
นวพันธุ์ เหมชาติวิรุฬห์, กรรมการสมาคมกว๋องสิว นครสวรรค์, สัมภาษณ์ วันที่ 22 กันยายน 2565
พรปวีณ์ ทองด้วง. 2559. ประเพณีลอยเรือสำเภา ของชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนไหหลำ ณ หมู่บ้านวังส้มซ่า. สืบค้นจาก https://www.nuac.nu.ac.th/v3/?p=1379.
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. 2551. ภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ “ชาวเขา” ในสังคมไทย ระหว่างทศวรรษที่ 2420 ถึง 2520. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. 2546. นายแม่ เรื่องดีๆ ของนารีสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นามมีบุ้คส์.
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. 2564. ส่องลายครามสืบหาจีนกรุงศรีฯ. กรุงเทพฯ: Silkworm Books.
พิริยะ ไกรกฤษ์. 2564. ศรีเทพ ทวารวดี ราชธานีแห่งแรกของสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรกฤษ์.
ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง. 2543. จากอาสำถึงหยำฉ่า ตำนานคนกวางตุ้งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ: ร้านนายอินทร์.
วรศักดิ์ มหัทธโนบล. 2555. คือ “ฮากกา” คือ “จีนแคะ”, พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มติชน.
วิลเลียม สกินเนอร์ (William Skinner). 2529. สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ, ประกายทอง สิริสุข, กรณี กาญจนัษฑิติ, ปรียา บุญญะศิริ, และ ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ์, บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ไทยวัฒนาพานิช.
ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร. 2556. “ความหมายและอัตลักษณ์ของจีนฮากกา,” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. 33:1. 215-240.
ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร. 2556. โครงการไวยกรณ์ภาษาฮากกา (จีนแคะ) สำเนียงที่พูดในกรุงเทพฯ. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.
ศิลปวัฒนธรรม. 2565. “ความแตกต่างระหว่างจีนกวางตุ้ง-ไหหลำ-แต้จิ๋ว-แคะ-ฮกเกี้ยน,” https://www.silpa-mag.com/culture/article_37462
สมาคมกว๋องสิวแห่งประเทศไทย. 2565. ประวัติสมาคมกว๋องสิว. สืบค้นจาก https://www.kwongsiew.com/recommend/commerce_s.htm...
สิริวรรณ แซ่โง้ว. 2561. “การกลายเป็นคาไวยากรณ์ของ 個 e5 ในภาษาฮกเกี้ยนไต้หวัน,” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย สาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะ. (11)3, 115-140.
สืบพงศ์ ช้างบุญชู. 2562. ขนมเต่ากับพิธีกรรมเซ่นไหว้ในชุมชนตลาดน้อย กรุงเทพมหานครและชุมชนบางเหนียว จังหวัดภูเก็ต. วารสารไทยศึกษา. 15(2), 83-111.
สุภางค์ จันทวานิช และ ชาดา เตรียมวิทยา. 2563. ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ และปรากฏการณ์ย้ายถิ่น. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุภางค์ จันทวานิช และคณะ. 2534.ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและในภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซ่าน : สมัยที่หนึ่งท่าเรือจางหลิน (2310-2393). โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เสี่ยวจิว (นามแฝง). 2554. ตัวตนคน ‘แต้จิ๋ว’, ถาวร สิกขโกศล เขียนคำนิยม. กรุงเทพฯ: มติชน.
เสี่ยวจิว (นามแฝง). 2556. ที่เรียกว่า ‘แต้จิ๋ว’, วรศักดิ์ มหัทธโนบล เขียนคำนำเสนอ. กรุงเทพฯ: มติชน.
อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. 2557. กำเนิดคนแต้จิ๋ว วิวัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว.
อรอนงค์ อินสอาด. 2563. “การธำรงอัตลักษณ์และความทรงจำร่วมจากวรรณกรรมจีนสำหรับการแสดงงิ้วแต้จิ๋วในสังคมไทย,” วารสารคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 37(2). https://so01.tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/view/206887/164970
แสวง รัตนมงคลมาศ. 2509. การบริหารงานของสมาคมจีน : บทศึกษาเฉพาะกรณีสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย. พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :