
ไทลื้อ
ชื่อเรียกตนเอง : ลื้อ, ไตลื้อ, ไทลื้อ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ไทลื้อ, ไทยลื้อ, ไปอี
ภาษาพูด : ไต
ภาษาเขียน : อักษรธรรมล้านนา
บทความฉบับเต็ม :
ดาวน์โหลด
ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 17 มิ.ย. 2566
1,055
ไทลื้อ (Tai Lue) เป็นชื่อเรียกตนเองของคนลื้อในประเทศไทยที่กลืนกลายเป็นคนไทยแล้ว โดยคำนี้มีการออกเสียงคำว่า “ไตลื้อ” ลื้อ ไทลื้อ ไต และ ไทยลื้อ เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาวลื้อที่หลากหลาย และถูกใช้ตามบริบทที่แตกต่างกันไป นักวิชาการส่วนใหญ่จะใช้หลักตระกูลภาษาและความเป็นชาติพันธุ์ รัฐไทยใช้คำว่า “ไทยลื้อ” อันมีนัยเชิงการเมืองและเกี่ยวพันกับเรื่องชาติและพลเมือง ในขณะที่ในกลุ่มชาวลื้อจะแยกกันเองตามชื่อเมืองเดิมของบรรพบุรุษจึงจะเรียกกันเองว่า ลื้อ ต่อด้วยชื่อเมืองเดิม เช่น ลื้อเมืองพง ลื้อเมืองลวง ลื้อเมืองสิงห์ ลื้อเมืองอู ยังอาจเรียกแยกตามถิ่นฐานในปัจจุบัน เช่น ลื้อเชียงคำ ลื้อเชียงของ ลื้อหนองบัว ลื้อดอยสะเก็ด
ไทลื้อ เป็นกลุ่มชนภาษาตระกูลไท จากหลักฐานตำนาน ที่สันนิษฐานได้ว่า พญาเจิงผู้นำของชาวไทลื้อ ที่สามารถสถาปนารัฐไทขึ้นมาได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 อาณาจักรของรัฐไทลื้อแต่เดิม สถาปนาและขยายอาณาเขตการปกครองระดับรัฐ กระจายอำนาจและเครือข่าย ไปตามที่ราบระหว่างหุบเขา จากเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ออกไปทางตอนเหนือของเวียดนาม ตามลุ่มน้ำแดง ภาคเหนือและภาคตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศพม่า ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของลาว และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย คือเชียงแสนและเชียงราย ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองของชาวลื้อปรากฏและถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่อดีต นับจากกำเนิดของพญามังราย การอพยพเข้ามาปักหลักตั้งชุมชนชาวไทลื้อในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย น่าจะมีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การสถาปนารัฐไทในประวัติศาสตร์ของล้านนายุคต้น เนื่องจากปรากฏรายชื่อนิกายลื้อ ในเอกสารตำนานรายชื่อหมวดวัดในเวียงเชียงใหม่ ชุมชนแถบสันติธรรมด้านนอกคูเมืองปรากฏมีป่าช้าลื้อตั้งอยู่ จวบจนถึงยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่ผู้คนในแถบสิบสองปันนาถูกกวาดต้อนลงมาสร้างบ้านสร้างเมืองใหม่ในดินแดนล้านนา ปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ปรากฏชุมชนของชาวไทลื้อ ตั้งหมู่บ้านในรูปแบบรวมเป็นชุมชนชาวไทลื้อและอาศัยปะปนกับชุมชนคนไทโยน มีชุมชนตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากในจังหวัดเชียงราย น่าน จังหวัดพะเยา
ด้านภาษา ศาสนา และประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนลักษณะหน้าตา ผิวพรรณ ของไทลื้อมีลักษณะเดียวกันกับชาวลื้อเมืองยอง ชาวขึนเชียงตุง และชาวโยนในล้านนา ทว่า ในมิติประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและความทรงจำ มีความแตกต่างออกไปจากชุมชนคนไทกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน เช่น การตั้งชื่อชุมชนตามชื่อบ้านนามเมืองเดิม ความเชื่อเรื่องการตั้งใจบ้าน การนับถือผีบรรพบุรุษร่วมกันด้วยการยึดเอาผีเจ้าเมืองมาเป็น “ผีประจำหมู่บ้าน” การแสดงออกถึงความโหยหาอาลัยบ้านเกิดของบรรพชน กระทั่งมีการรื้อฟื้นสืบสานวัฒนธรรมความเป็นชาติพันธุ์ลื้อนับตั้งเต่ต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ชาวไทลื้อจะมีการการเดินทางกลับไปสร้างสายสัมพันธ์กับชาวลื้อในเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา สะท้อนถึงความพยายามเชื่อมโยงความเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมีการตั้งสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย และมีสาขาของสมาคมไทลื้อระดับจังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนที่มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่ เครือข่ายทางสังคมของชาวไทลื้อจึงมีส่วนสำคัญในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ และสืบสานวัฒนธรรมความเป็นชาติพันธุ์ลื้อผ่านการยึดโยงกับบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของบรรพชนอย่างเหนียวแน่น
ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
ชื่อเรียกตนเอง : ลื้อ, ไตลื้อ, ไทลื้อ
ลื้อ และไตลื้อ เป็นชื่อที่เรียกตัวเอง โดยชื่อ “ลื้อ” สันนิษฐานว่ามาจากเมือง “ลื้อหลวง” ที่ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าถิ่นฐานเดิมของคนลื้ออยู่บริเวณใด คนลื้อมีการอพยพลงใต้ ผ่านที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และสถาปนาเมืองลื้อใหม่อันเป็นดินแดนสิบสองปันนาในปัจจุบัน (โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา, 2551) จิตร ภูมิศักดิ์สืบค้นจากเอกสารจีน พบว่า อาณาจักรไทเมือง (ต้าเหมิง) (น่านเจ้า) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักร “ต้าหลี่” ซึ่งถ่ายเสียงมาเป็นคำว่า “ไตลื้อ” และเรียกคนลื้อว่า “หลี่” ดังนั้น เมืองเชียงรุ้งก็ถูกเรียกว่า “เช่อหลี่” หมายถึง เชียงลื้อ (เมืองของคนลื้อ) (จิตร ภูมิศักดิ์, 2519: 283) อนึ่ง คำว่า “ไต” หรือ “ไท” ในภาษาไทลื้อ แปลว่า “คน”
ดังนั้น ชื่อเรียกตนเองของคนไทลื้อจะมีความลื่นไหลตามบริบท ในบางบริบทจะเรียกตนเองว่า ลื้อ ในขณะที่บางบริบทจะใช้คำว่า “ไต” นำหน้าถิ่นฐานบ้านเมืองที่ชาวไทลื้อนั้นอาศัยอยู่ เช่น ไตเมืองล้า ไตเมืองสิง ไตเมืองอู เป็นต้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้กล่าวถึงคำว่า “ไต่” ในภาษาจ้วงแปลว่า “ดิน” (land) หรือ “ชาวพื้นเมือง” (native) คนไต จึงแปลว่า “ชาวพื้นเมืองของท้องถิ่น” (native of this land) โดยคำว่า “ไต่” ถูกใช้นำหน้าภูมิสถานหลายแห่งในมณฑลกวางตุ้งและกวางสี เช่น ไต่หยั่น ไต่หน ไต่ลาว ไต่คุน เป็นต้น (จิตร ภูมิศักดิ์, 2519: 581-588)
ไทลื้อ เป็นชื่อเรียกตนเองของคนลื้อในประเทศไทย หลังจากตนเองได้ถูกกลืนกลายเป็นคนไทยแล้ว โดยคำนี้เป็นการออกเสียงคำว่า “ไตลื้อ” ในแบบภาษาไทยของคนไทยภาคกลางและโดยทั่วไป เนื่องจากในการออกเสียง เสียง ต. ของคนไตลื้อ จะออกเสียงแทนอักษร ท. ที่เป็นการออกเสียงในแบบภาษาไทยกลาง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ไทลื้อ, ไทยลื้อ, ไปอี
ไทลื้อ เป็นชื่อที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคนไตลื้อในประเทศไทย โดยคำนี้เป็นการออกเสียงคำว่า “ไตลื้อ” ในแบบภาษาไทย เนื่องจากในการออกเสียง เสียง ต. ของคนไตลื้อ จะออกเสียงแทนอักษร ท. ที่เป็นการออกเสียงในแบบภาษาไทยกลาง ภายหลังชาวไตลื้อในประเทศไทยเองก็รับคำนี้ใช้เป็นชื่อเรียกตนเองด้วย
ไทยลื้อ เป็นชื่อที่ทางราชการไทยเรียกชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยชื่อนี้ปรากฏอย่างเป็นทางการใน “คู่มือการกำหนดสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง เล่มที่ 2 (บัตรประจำตัวคนกลุ่มน้อย)” ของส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พ.ศ.2544 เพื่อกำหนดสถานะบุคคลของกลุ่มคนไตลื้อบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย นอกจากนี้ คำว่า “ไทยลื้อ” ถูกใช้เรียกคนไตลื้อภายหลังจากเกิดกระบวนการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนไตลื้อในประเทศไทย โดยชุมชนชาวไตลื้อที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นชุมชนไทลื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นชุมชนที่มีการรื้อฟื้นอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทลื้อมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 2530 (ณกานต์ อนุกูลวรรธกะ, 2554) คำว่า “ไทยลื้อ” จึงเกิดขึ้นจากบริบทที่ต้องการใช้คำว่า “ไทย” เป็นจุดเกาะเกี่ยวกับวัฒนธรรมกระแสหลัก ที่ได้อ้างอิงถึงต้นตระกูลไทยที่มาจากสิบสองปันนา (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2544) ในขณะเดียวกันก็ยังคงแสดงถึงอัตลักษณ์และรากเหง้าของความเป็นลื้อ ชาวไทลื้อ ไม่มีประเด็นด้านอคติทางชาติพันธุ์ที่เกี่ยวเนื่องจากชื่อเรียกมากนัก เนื่องจากอาศัยในบริเวณล้านนามายาวนาน มีความสัมพันธ์อันดีกับคนเมืองและชนพื้นราบรวมถึงประวัติศาสตร์ร่วมกันของชนชาติไตในบริเวณสิบสองปันนา ประเด็นที่พึงตระหนักในการใช้คำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ มักเกี่ยวข้องกับมิติความสัมพันธ์ทางอำนาจที่การใช้คำว่า “ไทย” แบบมี “ย” ร่วมด้วยนั้นบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์รากเหง้าของชนชาติ และมิติของความเป็นคนไทยในรัฐชาติ และ “ไท” แบบไม่มี “ย” และออกเสียงว่า “ไต” อันเป็นชื่อที่เรียกขานตามสำเนียงของไทลื้อ
ไปอี เป็นชื่อที่ชาวจีนฮั่นเรียกชาวไทลื้อบริเวณสิบสองปันนาในอดีต (ในยุคอาณาจักร) โดยคำว่า “ไปอี” หรือ “สุ่ยไปอี่” เป็นชื่อที่ชาวจีนฮั่นเรียกกลุ่มคนไทลื้อสิบสองปันนา มีความหมายโดยรวมว่า “กลุ่มคนทางใต้ อาศัยใกล้น้ำ” (สุ่ย แปลว่า น้ำ และ ไปอี แปลว่า กลุ่มคนทางใต้ หรือบ้างก็แปลว่า ร้อยกลุ่มชาติพันธุ์ทางใต้) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชื่อ “สุ่ยไปอี” มีนัยยะแฝงอคติทางชาติพันธุ์ที่คนจีนฮั่นมีต่อชนกลุ่มน้อยทางใต้ของจีน ซึ่งยังปรากฏการใช้คำนี้เรียกคนไทลื้อสิบสองปันนาในประเทศไต้หวันเนื่องจากเป็นคำที่ใช้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ (อ่อนแก้ว, 2563: สัมภาษณ์)
จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายถึงคำนี้ว่า คนจีนใช้เรียกชนชาติไต (Dai) ในมณฑลยูนนนาน โดยความหมายของคำนี้พ้องไปกับการออกเสียงในภาษาจีนแตกต่างกันไป “ไป่อี” แปลว่า เสื้อขาว “ไป๋อี๋” แปลว่า คนป่าขาว หรือ คนป่าร้อยจำพวก (จิตร ภูมิศักดิ์, 2519: 217-218) ส่วนในเอกสารจีนกล่าวถึง ในยุคราชวงศ์หรืออาณาจักร คนจีนเรียกชนชาติไตว่า “ไป่อี๋” แปลว่า อนารยชนคนเถื่อนผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาว “ไป่เยว่” กลุ่มชนทางตอนใต้ของอาณาจักร เช่นพวก “ลั่วเยว่” (จ้วงในปัจจุบัน) และ “เตียวเยว่” ในยูนนาน หมายถึง กลุ่มคนไต ในเอกสารจีนยังกล่าวถึง ในราชวงศ์หมิงได้มีการเปลี่ยนชื่อพวก “เยว่” ว่า “ไป่อี๋” โดยประกอบด้วย ไป่อี๋ใหญ่ คือ ไตใต้คง (ไตเหนอ ไตมาว) และไป่อี๋เล็ก คือ ไตสิบสองปันนาและไตที่อยู่บริเวณตอนเหนือของไทย (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2544: 43-44)
ภาษา
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไต
ชาวไทลื้อพูดภาษาไต จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ภาษาไท-ลาว ภาษาพูดจึงมีความใกล้เคียงกับ ไทดำ ไทโยน และลาวล้านช้าง สามารถสื่อสารกันเข้าใจ
ตัวอักษรที่ใช้เขียน : อักษรธรรมล้านนา
ภาษาเขียนของชาวไทลื้อ ตัวอักขระเป็นแบบเดียวกันกับภาษาของชาวล้านนา อักษร ระบบการสะกดเหมือนกัน แต่อาจมีการออกเสียงต่างกันบ้าง โดยเฉพาะเสียงสระ อย่างไรก็ตามอักษรธรรมที่จารในคัมภีร์ใบลานของสิบสองปันนา ล้านนา และล้านช้างนั้น ทั้งระบบอักขระและเสียงเป็นแบบเดียวกัน
สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ราบ
การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวประชากร :
ภาพรวมของชุมชนไทลื้อสิบสองปันนาในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันชาวลื้อสิบสองปันนาได้รับสถานะการเป็นพลเมืองไทยมีการกลืนกลายทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นคนไทยในภาคเหนือในด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนเก่าแก่ของชาวลื้อสิบสองปันนาในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีรายละเอียดดังนี้
จังหวัดเชียงใหม่ มีชุมชนไทลื้อในพื้นที่หลายอำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองเชียงใหม่อำเภอสันกำแพง อำเภอสะเมิง อำเภอสันทราย และอำเภอดอยสะเก็ด อย่างไรก็ตาม ชุมชนไทลื้อที่เก่าแก่และมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือ“บ้านเมืองลวง” ตำบลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด และชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง สำหรับชุมชนไทลื้อบ้างเมืองลวง ตามตำนานเชื่อว่า บรรพบุรุษเป็นชาวไทลื้อจาก “ปันนาเมืองลวง” สิบสองปันนา ที่อพยพเข้ามาตั้งชุมชนในเชียงใหม่รุ่นแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1954) ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ปัจจุบันชุมชนบ้านเมืองลวงมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกเป็นบ้านลวงเหนือ (หมู่ 4 และหมู่ 5 ตำบลเชิงดอย) และบ้านลวงใต้ (หมู่ 8 ตำบลเชิงดอย)
จังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่ที่ชาวไทลื้อจากเมืองยอง (รัฐฉาน ประเทศพม่าในปัจจุบัน) และแคว้นสิบสองปันนาอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุด ชาวลื้อจากเมืองยองตั้งหมู่บ้านอยู่ในทุกเขตอำเภอของจังหวัดลำพูน (แสวง มาละแซม, 2536) ส่วนชาวลื้อจากสิบสองปันนาในจังหวัดลำพูน ทั้งหมดตั้งชุมชนอยู่ในอำเภอบ้านธิ ในพื้นที่ ตำบลห้วยยาบและตำบลบ้านธิ ชาวบ้านไทลื้อใน 2 ตำบลนี้ เชื่อว่า บรรพชนของพวกเขาอพยพมาจากเชียงรุ่ง แคว้นสิบสองปันนา
จังหวัดเชียงราย มีชาวไทลื้อตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 3 อำเภอ คือ อำเภอเชียงของ ที่บ้านห้วยเม็ง บ้านท่าข้าม และบ้านศรีดอนชัย อำเภอแม่สาย ที่บ้านสันบุญเรือง และอำเภอพาน ที่บ้านโป่งแดง และบ้านกล้วยแม่แก้ว
จังหวัดพะเยา มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่จำนวนมากในอำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน และอำเภอปง ชาวลื้อในอำเภอเชียงคำ รวมกลุ่มตั้งชุมชนหมู่บ้านอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ 1) ตำบลหย่วน (ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของอำเภอเชียงคำ) ได้แก่บ้านหย่วน บ้านธาตุ บ้านแดนเมือง บ้านมาง 2) ตำบลเชียงบาน ได้แก่ บ้านเชียงบาน บ้านแพด บ้านแวน บ้านทุ่งหมอก บ้านเชียงคาน 3) ตำบลฝายกวาง ได้แก่ บ้านหนองลื้อ 4) ตำบลภูซาง ได้แก่ บ้านหนองเลา บ้านห้วยไฟ และ 5) ตำบลสบบง ได้แก่ บ้านสบบง ส่วนอำเภอเชียงม่วน ได้แก่ บ้านท่าฟ้าเหนือ และบ้านท่าฟ้าใต้ ชาวลื้อเชียงคำ ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวนาไทลื้อได้อย่างเหนียวแน่น (Moerman 1967) นอกจากภูมิปัญญา ทักษะการทำนา พวกเขายังมีการบันทึกจดจำประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของบรรพชนผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ในอุโบสถ วัดแสนเมืองมา บ้านมาง และชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง) การนับถือผีเจ้าเมืองเดิม (พญาหลวงเมืองมาง บ้านมาง) และการใช้ภาษาลื้อในชีวิตประจำวัน
จังหวัดน่าน อาจเป็นจังหวัดที่มีหมู่บ้านไทลื้อกระจายตัวอยู่มากที่สุดครอบคลุมทุกอำเภอ นับตั้งแต่พื้นที่อำเภอเมือง อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกวาง อำเภอทุ่งช้าง กิ่งอำเภอทุ่งหลวง และกิ่งอำเภอแม่จริม ในพื้นที่อำเภอเมือง พบการตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อในตำบลดู่พงษ์ อำเภอท่าวังผา ที่ตำบลศรีภูมิ ตำบลสบยม ตำบลจอมพระ ตำบลแสงทอง ได้แก่ บ้านแฮะ บ้านฮวก ตำบลป่าคา ได้แก่ บ้านต้นฮาง บ้านหนองบัว อำเภอปัว มีที่ตำบลปัว ได้แก่บ้านร้องแง บ้านมอน บ้านดอกแก้ว บ้านติ๊ด บ้านขอน ตำบลศิลาแลง ได้แก่ บ้านตีนตุก บ้านดอนไชย บ้านศาลา บ้านหัวน้ำ ตำบลศิลาเพชร ได้แก่ บ้านนาคำ บ้านป่าตอง บ้านดอนมูล บ้านดอนแก้ส บ้านทุ่งรัตนา อำเภอเชียงกลาง มีที่ตำบลยอด ได้แก่บ้านปางส้าน บ้านผาสิงห์ บ้านผาหลัก บ้านยอด และอำเภอทุ่งช้าง มีที่ตำบลงอบ ได้แก่ บ้านงอบเหนือ บ้านงอบใต้ ตำบลหอน ได้แก่ บ้านห้วยโก๋น บ้านห้วยสะแกง บ้านเมืองเงิน ตำบลแพ ได้แก่ บ้านห้วยเต๋ย บ้านสะหลี
จังหวัดแพร่ น่าจะมีชาวไทลื้อทั้งจากเมืองยองและสิบสองปันนาตั้งหลักปักฐานอยู่จำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตามสำหรับชาวไทลื้อจากสิบสองปันนา พบว่า อาศัยอยู่ที่ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่
จังหวัดลำปาง มีหมู่บ้านไทลื้อตั้งชุมชนอยู่ในอำเภอเมือง ตำบลกล้วยแพะ จำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกล้วยหลวง บ้านกล้วยแพะ บ้านกล้วยฝาย บ้านกล้วยกลาง และบ้านกล้วยม่วง และในอำเภอแม่ทะ ตำบลน้ำโจ้ จำนวน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ปุง และบ้านฮ่องห้า ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับตำบลกล้วยแพะ
จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า มีชุมชนชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอปาย ในพื้นที่บ้านแม่เย็น สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มเดียวกับชุมชนชาวลื้อ ในบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง ที่ได้อพยพโยกย้ายหาที่ทำกินเข้ามาช่วงหลังจากการสัมปทานไม้สักให้กับบริษัทอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ 5
การตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวไทลื้อในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอสันทราย อำเภอสะเมือง และอำเภอดอยสะเก็ด ส่วนในอำเภอสันกำแพง กิ่งอำเภอแม่ออน และอำเภอบ้านธิ เขตรอยต่อจังหวัดลำพูน เป็นกลุ่มชาวลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง (รัตนาพร เศรษฐกุล, 2538) ปัจจุบันชุมชนชาวลื้อในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการแสดงอัตลักษณ์และรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมของตนอย่างชัดเจน คือ ชุมชนชาวลื้อบ้านเมืองลวง ในอำเภอดอยสะเก็ด และชุมชนชาวลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง
สำหรับประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อบ้านเมืองลวงนั้น ตามหลักฐานประวัติศาสตร์จารึกและเอกสารใบลานที่ระบุการสร้างวัดศรีมุงเมืองซึ่งเป็นวัดของชุมชน พวกเขาเชื่อว่าบรรพบุรุษถูกกลุ่มเจ้าเจ็ดตน เป็นกลุ่มที่ต่อมาจะสถาปนาราชวงศ์ขึ้นปกครองล้านนายุคที่ 2 โดยการสนับสนุนจากกษัตริย์สยาม ราชวงศ์จักรี ได้กวาดต้อนชาวลื้อมาจากเมืองวะและเมืองลวง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ “ปันนาเมืองลวง” ทางตอนใต้ของสิบสองปันนา ติดชายแดนพม่าในปัจจุบัน ในช่วง พ.ศ.2350 ซึ่งเป็นยุคสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ หลังจากผู้นำของล้านนาสามารถขับไล่และปลดแอกจากการปกครองของพม่าได้ การกวาดต้อนผู้คนควบคู่กับการทำลายเมืองเชียงแสน เมืองนาย และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์อำนาจของพม่าในล้านนา มักเรียกกันว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” การอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวลื้อสิบสองปันนา ในอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการตั้งถิ่นฐานของชาวไทขึน จากเชียงตุง ที่ส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่นอกเวียงเชียงใหม่ด้านทิศใต้ หรือเขตนอกประตูเชียงใหม่ และชาวลื้อเมืองยอง ที่ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอสันกำแพง โดยเฉพาะที่ตำบลบวกค้าง และกิ่งอำเภอแม่ออน รอยต่อเขตอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวลื้อในแถบแม่ออนและอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน พวกเขาได้รื้อฟื้นและสร้างความทรงจำใหม่ โดยเชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกเขา คือ ชาวไทลื้อสิบสองปันนา ที่อพยพมาจากเชียงรุ่ง
การตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อในจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่
ชุมชนไทลื้อที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดแพร่ปัจจุบันนั้น เข้ามาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับ “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” สันนิษฐานว่า ชาวลื้อกลุ่มนี้ มีพื้นเพเดิมมาจากเมืองยองและเชียงแสน ช่วงแรกที่ กลุ่มเจ้าเจ็ดตน ขึ้นไปตีเมืองเพื่อขับไล่พม่าออกจากล้านนา จึงมีการกวาดต้อนชาวลื้อลงมาด้วย ปัจจุบันชาวลื้อจากสิบสองปันนา ในจังหวัดแพร่ มีหมู่บ้านของของชาวไทยลื้อที่สำคัญอยู่ 2 แห่ง คือ บ้านถิ่น ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง และบ้านหลวง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น ส่วนที่จังหวัดลำปาง พบในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีชุมชนไทลื้อขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ ตำบลน้ำโจ้ จำนวน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ปุง บ้านฮ่องห้า และในอำเภอเมือง คือ ตำบลกล้วยแพะ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกล้วยหลวง บ้านกล้วยแพะ บ้านกล้วยฝาย บ้านกล้วยกลาง และบ้านกล้วยม่วง ชาวลื้อที่ลำปางส่วนใหญ่ถูกกวาดต้นมาจากเมืองยอง แต่พวกเขาไม่เรียกตนเองว่า “คนยอง” ดังเช่นกลุ่มชาวลื้อที่ตั้งรกรากอยู่ในอำเภอเมืองและอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ) หากคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ลื้อด้วยกัน เรียกพวกเขาว่า “พวกลื้อ” พวกเขาจะถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เนื่องจากคำว่า ลื้อ แต่เดิมนั้นค่อนข้างที่จะมีความหมายไปในทางดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถูกกวาดต้อนให้เป็นเชลยศึกในช่วงสงคราม (ประชัน รักพงษ์, 2536)
จังหวัดเชียงราย
การตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจากสิบสองปันนา ส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตอำเภอเชียงของและพญาเม็งราย บรรพบุรุษของชาวลื้อสิบสองปันนาในพื้นที่แถบนี้ ส่วนใหญ่ถูกเจ้าเมืองน่าน ที่รับคำสั่งจากกษัตริย์สยาม ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ทำหน้าที่กวาดต้อนชาวลื้อมาจากหัวเมืองลื้อในเขต “ปันนาเมืองอู” ซึ่งก่อนที่จะตกเป็นของอินโดจีนฝรั่งเศส มีชื่อเดิมว่า เมืองอู ปัจจุบัน คือ เมืองบุนเหนือ เมืองบุนใต้ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของลาว และเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางอำนาจหนึ่งที่น่าสนใจของชาวลื้อ ส่วนชุมชนของชาวลื้อสิบสองปันนา ที่อพยพมาจากเชียงรุ่งและเมืองลวง เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่อพยพมาในภายหลัง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามกลางเมืองในจีน (ทศวรรษ 2490) ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองชายแดนแม่สาย ปัจจุบันชุมชนชาวลื้อสิบสองปันนา กระจายตัวอยู่โดยทั่วในเขตอำเภอแม่สาย ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และการอพยพเข้ามาภายหลัง ใน 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน (ทศวรรษ 1970) และช่วงสงครามกลางเมืองพม่า (ทศวรรษ 1980) ทำให้ชาวลื้อมีการอพยพข้ามแดนจากเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ลี้ภัยมาอยู่ในเมืองยองปะปนกับชาวไทลื้อเมืองยอง จากนั้นพวกเขาจึงอพยพโยกย้ายลงมายังเมืองชายแดนท่าขี้เหล็กและแม่สาย จะเห็นว่าการอพยพข้ามพรมแดนของชาวลื้อมีความซับซ้อนและมีประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับชาวลื้อที่อพยพเข้ามาช่วงหลัง ปัจจุบันยังไม่มีสถานะบุคคล
ชุมชนชาวลื้อในแม่สาย ที่มาจากสิบสองปันนา ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานบ้านเกิดจาก 3 หัวเมืองสำคัญ คือ 1) เมืองหุน เมืองฮาย ซึ่งอยู่ทางเขตตะวันตกเฉียงใต้ 2) เมืองลวง ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนาในปัจจุบัน และ 3) เชียงรุ่ง-เมืองฮำ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเครือญาติของเจ้าหม่อมคำลือ เจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของสิบสองปันนา ชาวลื้อสิบสองปันนาที่เก่าแก่ที่สุดในแม่สาย ตั้งรกรากอยู่ในบ้านไม้ลุงขุน (ราญ ฤนาถ และชุลีพร วิมุกตานนท์, 2530) หากไม่รวมชาวลื้อเมืองยอง ที่อพยพมาจากลำพูนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปัจจุบัน คือ “ชุมชนบ้านเหมืองแดง” ของอำเภอแม่สาย และอีกส่วนหนึ่งในเขตอำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน หลังจาก พ.ศ.2535 เป็นต้นมา พื้นที่อำเภอแม่สาย ยังมีชุมชนชาวลื้อจากเมืองยอง (รัฐฉาน) อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในพื้นที่รอบนอกเมืองแม่สาย คือ หมู่บ้านเหมืองแดงปิยะพร ที่จากเดิมมีสมาชิกจำนวน 14 ครัวเรือน ต่อมาคนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นแกนนำสำคัญของ “สมาคมไทลื้อแม่สาย”
จังหวัดน่าน
ปัจจุบันชาวลื้อที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองยอง เมืองลวง เมืองหุน เมืองฮาย และเชียงรุ่ง ซึ่งเป็นหัวเมืองลื้อสิบสองปันนาฝั่งตะวันตกของลำน้ำโขง มา ในขณะที่ชุมชนชาวลื้อที่ปัจจุบันตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดน่าน พะเยา และ จังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 มาจากเมืองหล้า เมืองอู เมืองสิงห์ เมืองมางและเมืองปง ซึ่งเป็นหัวเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ด้วยเหตุที่เจ้าเมืองน่าน คือผู้ที่นำทัพขึ้นไปกวาดต้อนลงมา ชาวลื้อสิบสองปันนาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จึงตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองน่าน คือ จังหวัดน่าน โดยเฉพาะเมืองปัว (และเชียงคำ เชียงของ) และกลายเป็นชุมชนท้องถิ่นสำคัญของน่านในเวลาต่อมา จะเห็นว่า ปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่นที่โดดเด่นในพื้นที่จังหวัดน่านนั้น มักเป็นศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ทั้งการแต่งกาย อาหาร การทอผ้า วัดวา ศาสนาสถาน สถาปัตยกรรม และบ้านเรือน
การกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนาลงมาตั้งรกรากในเขตเมืองน่าน ซึ่งเป็นไปตามบัญชาของกษัตริย์สยาม เพื่อแก้ปัญหาเมืองร้าง ขาดผู้คนในแถบ “ล้านนาตะวันออก” ปัจจุบันจำนวนประชากรของจังหวัดน่านจึงมีลูกหลานของชาวไทลื้อสิบสองปันนา อาศัยปะปนอยุ๋กับชาวลื้อเมืองยองและชาวเชียงแสนเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นคนพื้นถิ่นของจังหวัดนี้ ดังปรากฏผ่านวิถีชีวิตศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีแบบไทลื้อที่พบเห็นได้โดยทั่วไป เช่น วัดหนองบัว และวัดหนองแดง มีสถาปัตยกรรมและภาพจิตรกรรมไทลื้อที่หาดูได้ยาก ส่วนที่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา เป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อกลุ่มใหญ่ที่มีการยกระดับเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการจัดแสดงวัฒนธรรม การจัดแสดงผ้าทอไทลื้อ การประกอบพิธีไหว้ผีเจ้าเมืองหล้าซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ที่โดดเด่น รวมทั้งการสะท้อนถึงความรัก ความภาคภูมิใจ และความโหยหาอดีต คือ “สิบสองปันนา” ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดเดิมของชาวไทลื้อที่
จังหวัดพะเยา
อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย เนื่องจากมีการรวมตัวอย่างเข้มแข็งและการรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมไทลื้อ ผ่านการเชื่อมโยงและเดินทางกลับไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง การผูกมิตรสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับชาวไทลื้อในสิบสองปันนา ปัจจุบัน เชียงคำ เป็นพื้นที่หนึ่งที่รับรู้กันว่าเป็น “เมืองหลวงของชาวไทยลื้อ” จากสิบสองปันนาในประเทศไทย ในอดีตเชียงคำเป็นพื้นที่ผลิตข้าวและมีการค้าข้าวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ (Moerman, 1967) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนชาวไทลื้อซึ่งเป็นชาวนาที่มีภูมิปัญญาปลูกข้าวชั้นเลิศตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พวกเขายังมีองค์ความรู้ด้านการจัดการเหมืองฝาย และการค้าทางไกล คือ วัวต่างช่วงหน้าแล้ง เชียงคำจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการรื้อฟื้นสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อในประเทศไทย นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 มีกลุ่มที่เข้มแข็งภายใต้การนำของนักการเมืองท้องถิ่น คือ ลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นแกนนำในการก่อตั้ง “สมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย” ปัจจุบันมีสมาคมระดับจังหวัดครอบคลุมทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน ชาวลื้อในจังหวัดพะเยา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ รวมพื้นที่ไปทางทิศตะวันออกติดชายแดนลาว (บริเวณลำน้ำแวน ลำน้ำแม่ลาว และลำน้ำยวน)
ตามประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวล้าน รวมทั้งเอกสารที่บันทึกผ่านภาพจิตรกรรมฝาหนังในอุโบสถวัดบ้านมาง วัดบ้านหย่วน) ระบุว่า บรรพบุรุษของชาวไทลื้อสิบสองปันนาในเชียงคำนั้นถูกกวาดต้อน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 จากหัวเมืองลื้อทางตะวันออกเฉียงใต้ของสิบสองปันนา คือ เมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองบาน เมืองแพด และเมืองหล้า (ปัจจุบันเป็นตัวอำเภอของ Meng La County) ชื่อของหัวเมืองเหล่านี้ ปัจจุบันกลายเป็นชื่อของหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทลื้อสิบสองปันนาในเชียงคำ คือ บ้านปง บ้านมาง บ้านหย่วน บ้านแพด บ้านเชียงบาน และบ้านล้า
ชาวลื้อในเชียงคำ ยังเล่าว่า แต่เดิมพวกเขาถูกกวาดต้อนให้ไปตั้งรกรากใหม่ที่เชียงม่วน ต่อมาพวกเขาจึงขยายตัวและหาที่ทำกินใหม่ จนอพยพมาอยู่ที่เชียงคำ ปัจจุบันพบว่า มีหมู่บ้านของชาวลื้อสิบสองปันนาชื่อเดียวกันทั้งในเชียงม่วน (เดิมขึ้นตรงกับเจ้าเมืองน่าน ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน กระทั่งหลังมีการตั้งจังหวัดพะเยาขึ้นในปี 2518 โดยแยกอำเภอเชียงคำจากเชียงราย และแยกเชียงม่วน และอำเภอปง จากจังหวัดน่าน มาขึ้นกับจังหวัดพะเยาคืออยู่ในเขตอำเภอเชียงม่วน จังหวัดน่านและเชียงคำ คือ บ้านมาง (เมืองมาง) บ้านหย่วน (เมืองหย่วน) และบ้านปง (เมืองพง) ) ชาวลื้อสิบสองปันนา ในเชียงคำและเชียงม่วน ยังคงมีการประกอบพิธีไหว้ผีเมืองของตน ทั้งแสดงความเคารพและจดจำบรรพชน ซึ่งถือเป็นการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากชาวไทโยนอย่างชัดเจน การถูกกวาดต้อนมาภายหลังจึงอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ยังทำให้พวกเขามีสำนึกรักบ้านเกิดแตกต่างจากชาวไทลื้อกลุ่มอื่นที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเชียงใหม่และลำพูน
จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อสิบสองปันนาในภาคเหนือของประเทศไท ดังที่กล่าวมาข้างต้นถึง จะเห็นว่า การสำรวจจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรของ “ชาวไทยลื้อ” ซึ่งมีวิถีชีวิตเหมือนเฉกเช่นเดียวกับกับชาวไทยพื้นราบของภาคเหนือกลุ่มอื่น ปัจจุบันชาวไทยลื้อมีสถานะบุคคลและถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทยในท้องถิ่นภาคเหนือประกอบกับการที่รัฐบาลไทยมีการดำเนินการจำแนกและจัดเก็บข้อมูลประชากรเฉพาะ “ราษฎรบนที่สูง” ซึ่งเดิมเรียกว่า“ชนกลุ่มน้อย” ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและตั้งชุมชนหมู่บ้านอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป เช่น กะเหรี่ยง ม้ง อาข่า มูเซอ ลีซู ลัวะ ปะหล่อง เป็นต้น ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนพื้นราบ รัฐบาลไทยไม่ได้มีนโยบายจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นทางการ
แหล่งข้อมูล
ผู้เรียบเรียงข้อมูล :
รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอกสารอ้างอิง :
เกษฎาวัลย์ ตันริยงค์. 2556.แนวทางการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (ไทลื้อ) โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. รายงานฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
จักรพงษ์ คำบุญเรือง. 2562“บ้านหนองบัว” ชุมชนไทลื้อเมืองน่าน 200 ปีhttps://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1135872/
ชูศักดิ์ วิทยาภัค. 2544. ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อการเข้าถึงทรัพยากรของคนเมืองน่าน. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
มิ่งกมล หงษาวงศ์. 2557. ไทลื้อ : วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม. ในวารสารศิลปกรรมศาสตร์วิชาการวิจัย และงานสร้างสรรค์ ราชมงคลธัญบุรี. ปีที่ 1, ฉบับที่ 2 (ก.ค. – ธ.ค. 2557), หน้า 1-20.
ประชัน รักพงษ์ และคณะ. 2535 การศึกษาหมู่บ้านไทลื้อจังหวัดลำปาง. ฝ่ายวิจัยและแผนงาน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูลำปาง สหวิทยาลัยล้านนา
รัตนะ ตาแปง และสุดาพร นิ่มขำ. 2563. การรื้อฟื้นศิลปะการขับลื้อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้ออำเภอเชียงคำจังหวัดพะเยาและบ้านนายางใต้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. ใน MFU Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences; 2020, 9(1):109-122.
วงศกร สันคนนาภรณ์. (2559). การศึกษารากฐานทางวัฒนธรรมอำเภอสันป่าตอง เพื่อใช้เป็นแนวทางสู่กระบวนแบบคิดแนวคิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์วารสารวิชาการ Veridian E-Journal ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ. ปีที่11 ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน-ธันวาคม2559,
หน้า 821.
วสันต์ ปัญญาแก้ว. 2555. ลื้อข้ามแดน. ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
วสันต์ ปัญญาแก้ว. 2555. กลไกรัฐการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และปฏิบัติการของลื้อชายแดนที่เมืองชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สถาบันวิจัยสังคม . 2551. ไทลื้อ อัตลักษร์แห่งชาติพันธุ์ไท. เชียงใหม่ โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรทมและชาติพันธุ์ล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ. 2561. การดำรงอยู่ของผ้าทอไทลื้อในจังหวัดเชียงราย : บทวิเคราะห์เศรษฐกิจวัฒนธรรม. ใน วารสารสังคมศาสตร์วิชาการปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2561.
เสกสรร สรรสรพิสุทธิ์ 2546. อัตลักษณ์ของไทลื้อและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดภายใต้ระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยม : กรณีศึกษาบ้านแม่สาบ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระ (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม))มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ.2553. http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/districtList/page1.htm?fbclid=IwAR0_57hpflqfIcEGHZ39Z_U0NUCJCtT7j8mkhesei5KHWjWI9SdnREYgy-I)
เสวภา ศักยพันธุ์.2556. การศึกษาข้ามวัฒนธรรมสิบสองพันนาและล้านนาด้านอาหารไทลื้อ.วิทยานิพนธ์ดุษฏีบัณฑิตสาขาลุ่มน้ำโขงศึกษาและสาละวิน บัณฑิวตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่.
องค์ สุริยเมฆะ. 2558. สถานภาพการศึกษาชาติพันธุ์ไทลื้อ ต้ังแต่พ.ศ.2480-2540. ใน วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษยศาสตร์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 (2015): มกราคม-มิถุนายน 2558.
โอริสา เชี่ยวเกษม. 2558. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนไตลื้อ ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี
Moerman, Michel.1965 Ethnic Identification in a Complex Civilization: Who Are the Lue? American Anthropologist. 67(5):1215 – 1230
Moerman, Michel.1968. Agricultural Change and Peasant Choice in a Thai Village. University of California Press. Davis,
Sasra. 2005. Song and Silence. Silkworm Books.