ปกาเกอะญอ

ชื่อเรียกตนเอง : ปกาเกอะญอ

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยง, กะหร่าง, ยาง, กะเหรี่ยงสะกอ

ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรขาว

ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 06 ก.ย. 2566

602

ปกาเกอะญอ เป็นคำเรียกชื่อตนเองของกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอ ซึ่งเห็นหนึ่งในกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยงในประเทศไทยที่มีการจำแนกไว้ว่ามีจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) จกอร์/สะกอร์ 2)โพล่ง/โปว์ 3)กแบ/คะยา 4)ปะโอ/ตองสู ปกาเกอะญอ ในภาษาของกะเหรี่ยงสะกอร์ แปลว่า คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มากกว่าคำ ที่ถูกเรียกโดยที่พวกเขาไม่รู้ความหมาย เช่นคำว่า “กะเหรี่ยง” หรือ “ยาง” ชื่อเรียก“กะเหรี่ยง” ถูกเชื่อมโยงกับวาทกรรมชาวเขาที่มีนัยยะด้อยพัฒนาและล้าหลัง ส่งผลให้ถูกเบียดขับและมองเป็นอื่นในสังคม การคงไว้ซึ่งพื้นที่ทางสังคมด้วยการเรียกชื่อที่สะท้อนอัตลักษณ์ของพวกเขาจึงเป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมที่สามารถสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ดี คำว่า ปกาเกอะญอ ไม่ครอบคลุมกะเหรี่ยงโปและกลุ่มย่อยอื่น กะเหรี่ยง จึงยังคงเป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์โดยรวม ในขณะที่ ชื่อเรียก “ปกาเกอะญอ” หมายถึง กลุ่มกะเหรี่ยงสะกอเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ชาวกะเหรี่ยงอพยพมาจากบาบิโลน เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่ เช่น มองโกเลีย เตอร์กิสถานตะวันออก ธิเบต ยูนนาน และพม่า จากข้อมูลการค้นพบเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยง ระบุว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีอยู่มาตั้งแต่ก่อนคริสตกาลจวบจนถึงปัจจุบัน ราว 2,739 ปีผู้คนกลุ่มนี้เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบพม่าราว 739 ปี และเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยเขตพื้นที่ภาคเหนือและตะวันตกในหลายระลอกในช่วง 200-300 ปีที่ผ่านมา ชนชาติกะเหรี่ยงเดินทางเข้ามาสร้างประเทศของตนเองก่อนชนชาติพม่า โดยมีชื่อประเทศว่า “กอทูแล” เมื่อชนชาติพม่าเดินทางมาถึงและกดขี่ข่มเหงเบียดขับชนชาติกะเหรี่ยงแตกกระจัดกระจายเคลื่อนย้ายออกไปยังพื้นที่อื่น โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ พบว่า ชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยบางส่วนถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลย ในยุคพระเจ้ากาวิลละปกครองเมืองเชียงใหม่ขณะเดียวกันกะเหรี่ยงบางกลุ่มก็เคลื่อนย้ายออกจากพม่าเข้าสู่ดินแดนล้านนาและส่งส่วยและช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนอยู่อาศัย บางชุมชนส่งส่วยให้ชาวลัวะเจ้าของที่ดินอนุมานได้ว่ากลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือนั้นอยู่มานานกว่า 1,500 ปีและน่าจะตั้งถิ่นฐานเดิมในรัฐคะยาแล้วเคลื่อนย้ายเข้าสู่ลุ่มน้ำปิง ขณะที่ทางด้านตะวันตกเมื่อพระเจ้าอลองพญาได้รับชัยชนะในการทำสงครามกับกษัตริย์มอญ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงในอาณัติมอญต้องอพยพเข้ามาในอาณาจักรไทย อย่างไรก็ตามหลังยุคอาณานิคม ได้เกิดความไม่สงบทางการเมืองในพม่า ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าระลอกใหญ่ ซึ่งมีชาวกะเหรี่ยงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย สำหรับชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทย มีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตัวอยู่ใน 15 จังหวัด ได้แก่เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ปกาเกอะญอเป็นกลุ่มชนที่ดำรงชีพเคารพธรรมชาติผูกโยงชีวิตบนฐานทรัพยากรและการทำไร่หมุนเวียน อันสะท้อนถึงภูมิปัญญาในการจัดการพื้นที่ อาหาร ทรัพยากรและการอนุรักษ์ผืนป่าผืนดิน นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มชนผู้รักสงบ สมถะ เรียบง่าย เห็นได้จากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ถักทอเรียบง่ายไม่มีการประดับตกแต่งมากมายนัก

ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

ชื่อเรียกตนเอง : ปกาเกอะญอ

ในการนำเสนอข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์นี้ แม้ว่าในเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องได้เรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไปทั้ง ปกาเกอะญอ กะเหรี่ยง และกะเหรี่ยงสกอ ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอจะมีการสื่อสารความรู้เกี่ยวกับชื่อเรียกตนเองเพื่อให้คนภายนอกได้เรียกอย่างถูกต้อง หากแต่ชื่อเรียกกะเหรี่ยงยังเป็นชื่อหลักที่สาธารณะชนรู้จักพวกเขา ส่งผลให้ในเอกสารชิ้นนี้ยังปรากฏการใช้ชื่อกะเหรี่ยงเป็นหลัก

ปกาเกอะญอ ในาษาของกะเหรี่ยงสะกอ แปลว่า “คน” เป็นคำที่ทางกลุ่มมองว่ามีศักดิ์ศรีคำนี้จึงกลายเป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถสะท้อนความหมายที่สอดคล้องกับการระบุตัวตนของคนในกลุ่ม ส่วนปกาเกอะญอในภาคตะวันตกและภาคกลางใช้คำเรียกกลุ่มตนเองว่า “ส่อง” ซึ่งทั้งสองคำนี้แปลว่า “คน”

การเรียกชื่อกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอว่า ปกาเกอะญอ จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นในระยะหลังจากปี 2530 เป็นต้นมา เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายใต้การจัดประเภทชาวเขา เริ่มมีการตั้งกลุ่ม องค์กร หรือสมาคมที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงหลายกลุ่ม เช่น สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) (Inter-Mountain Peoples’ Education and Culture in Thailand Association-IMPECT) ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2534 เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ตามที่กลุ่มชาติพันธุ์ยอมรับให้ถูกเรียกด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการใช้คำว่า ปกาเกอะญอแทนคำว่า กะเหรี่ยง ซึ่งปรากฏในชื่อโครงการวิจัย วิทยานิพนธ์ รวมทั้งปรากฎในชื่อองค์กร เช่น สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี เนื่องจากคำว่ากะเหรี่ยงก็ยังปรากฏอยู่ในชื่อองค์กรตัวแทนอีกหลายองค์กร หากใช้คำว่า “ปกาเกอะญอ” จะไม่ครอบคลุมถึงกะเหรี่ยงโปและกลุ่มย่อยอื่น อนึ่ง ในภาษากะเหรี่ยง จะออกเสียง ป และ ก ในลักษณะของตัวควบกล้ำ แต่เมื่อเขียนเป็นภาษาไทย ปกา คนไทยทั่วไปก็มักจะออกเป็นเสียง ปะ-กา ซึ่งเป็นการออกเสียงที่ผิด สำหรับการสะกด มีการสะกดหลายแบบ เช่น ปกากะญอ แต่ทว่า คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งตั้งขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรมในปี 2552 ได้เห็นชอบให้ใช้คำว่า “ปกาเกอะญอ” โดยปรากฏในเอกสารแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เอกสารตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบวันที่ 3 สิงหาคม 2553


ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยง, กะหร่าง, ยาง, กะเหรี่ยงสะกอ

ชื่อเรียกกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอและโปนั้นเป็นชื่อเรียกที่เป็นทางการและใช้ในทางวิชาการ แต่ในความเป็นจริง แต่ละกลุ่มมีการเรียกที่หลากหลายขึ้นอยู่กับทั้งผู้เรียกและผู้ถูกเรียก

กะเหรี่ยง เป็นคำที่คนสยามใช้ โดยเอามาจากคำที่คนมอญใช้เรียกกลุ่มกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยคนมอญมีความใกล้ชิดกับคนสยาม เพราะได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 สมัยรัตนโกสินทร์ (Lehman, 1979: 230) คำนี้ถือเป็นคำเรียกรวมที่ถูกใช้เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และคนกะเหรี่ยงในบางพื้นที่

ในส่วนของหน่วยงานราชการ คำว่า กะเหรี่ยงเป็นชื่อเรียกที่ถูกระบุอย่างเป็นทางการโดยปรากฏอยู่ในเอกสารทางราชการ ที่กล่าวถึงในฐานะที่เป็น “ชาวเขา” กลุ่มหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงทั้งหมด 9 กลุ่ม
คำว่า “ชาวเขา” เป็นคำที่เกิดขึ้นไม่นานนัก เกิดขึ้นเมื่อรัฐมีนโยบายที่มุ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนากลุ่มชนบนพื้นที่สูง โดยใช้คำรวมว่า ชาวเขา ทำให้เกิดกลไกการทำงานของภาครัฐที่มีคำว่าชาวเขา เช่น คณะกรรมการเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2498 กองสงเคราะห์ชาวเขา ฯลฯ ต่อมาในปี 2543 คำว่า”ชาวเขา” ได้ปรับเปลี่ยนเป็นคำว่า “ชาวไทยภูเขา” โดยปรากฏในระเบียบว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง และได้ให้ความหมายของคำว่า “ชาวไทยภูเขา” ว่าหมายถึงเรียกบุคคลบนพื้นที่สูงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยทำกินหรือบรรพชนอาศัยทำกินอยู่บนพื้นที่สูงในราชอาณาจักรประกอบด้วย 9 ชาติพันธุ์หลัก ได้แก่กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน อาข่า ลาหู่ ลีซู ลัวะ ขมุ และมลาบรี เมื่อหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงความหมายของคำว่ากะเหรี่ยงเข้ากับการเป็นชาวเขากลุ่มหนึ่งที่มีความ “ด้อยพัฒนา” และมีวัฒนธรรมที่ล้าหลัง ทำให้สมาชิกของกลุ่มมองว่า ควรจะใช้ชื่อเรียกปกาเกอะญอ แทนคำว่า “กะเหรี่ยง” หรือ “ยาง” ที่ถูกเรียกโดยคนนอกกลุ่มซึ่งเป็นคำที่มีนัยยะของความเป็นคนที่ไม่เท่าเทียมกัน

สำหรับหน่วยงานวิชาการ ในยุคก่อนปี 2540 จะใช้คำว่า “กะเหรี่ยง” ในการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อมาภายหลังปี 2540 ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเห็นว่า ชื่อเรียกดังกล่าวไม่ได้เป็นคำที่ใช้เรียกตนเอง ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มสะกอ จึงมีข้อเรียกร้องให้ใช้คำว่า “ปกาเกอะญอ” และใช้คำว่า โผล่ง ในการเรียกกลุ่มกะเหรี่ยงโปว์หลังจากนั้นเป็นต้นมาในแวดวงการศึกษาจึงใช้คำว่า “ปกาเกอะญอ” หรือ “โผล่ง” ในงานวิจัยและงานวิทยานิพนธ์มากขึ้น

สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บางองค์กรใช้คำว่า “กะเหรี่ยง” เช่น สมาคมกะเหรี่ยงเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มย่อยทั้งสะกอ และโปว์ ในกรณีที่เป็นองค์กรที่ทำงานกับกลุ่มย่อยเฉพาะกลุ่ม อาจจะใช้คำว่า ปกาเกอะญอ หรือ โผล่ง เป็นชื่อหน่วยงานหรือองค์กร

สำหรับประชาชนกะเหรี่ยงบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทยในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ราชบุรีเพชรบุรี ใช้คำเรียกตนเองว่ากะเหรี่ยง เนื่องจากเป็นคำเรียกที่ถูกเรียกโดยคนมอญมาเป็นระยะเวลาโดยราชสำนักสยาม ซึ่งแต่งตั้งให้ผู้นำของชาวกะเหรี่ยงเป็นเจ้าเมือง

กะหร่าง เป็นคำเรียกที่คนในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ราชบุรี เพชรบุรี เรียกกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอ ซึ่งมีความแตกต่างจากกะเหรี่ยงโปว์ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้Lehman (1979: 230) กล่าวว่า คนกาญจนบุรีใช้คำว่า “กะเหรี่ยง” ที่หมายรวมถึงกลุ่มโปและสะกอ แต่ทว่า หากต้องการจำแนกความแตกต่างของกลุ่ม จะเรียกกลุ่มสะกอว่า “กะหร่าง”

ยาง เป็นคำเรียกที่คนทางภาคเหนือของประเทศไทยหรือเรียกกันทั่วไปว่า “คนเมือง” ใช้เรียกคนกะเหรี่ยง เป็นคำเดียวกันกับที่คนไทใหญ่หรือฉานในรัฐฉานของประเทศพม่าใช้เรียกคนกลุ่มนี้ Lehman (1979: 229 อ้างถึง Keyes, 1979) ระบุว่า คนเมืองเรียกยางตามคนฉาน เป็นการแยกระหว่างฉานกับยาง คำว่า ยาง น่าจะเป็นคำที่เอามาจากคำที่คนกะเหรี่ยงใช้เรียกตัวเอง โดยนำมาจากพยางค์สุดท้ายของคำว่า “ปกาเกอะญอ” สุริยา (2529) ระบุว่า “กะเหรี่ยง” และ “ยาง” มีที่มาจากคำเดียวกัน ซึ่งเป็นคำภาษาพม่าโบราณ karyan ซึ่งเป็นชื่อที่พม่าเรียกชนกลุ่มนี้ karyan ออกเสียงเป็นคำว่า กะเหรี่ยงในภาษาไทย ส่วนคำว่ายาง เป็นการตัดคำมาเฉพาะพยางค์ท้ายของคำว่า karyan คือพยางค์ว่า yan ซึ่งออกเสียงว่า ยาง

ส่วนคำว่า karyan (สุริยาอ้างถึงใน Luce, ) ระบุว่า เป็นคำที่มาจากชาวกะเหรี่ยงสะกอเรียกตัวเองว่า เกอะญอ หากคำนี้อยู่ในภาษากะเหรี่ยงโป (ซึ่งปัจจุบันไม่มี) น่าจะเป็นคำว่า เกอะญา และกลายเป็น karyan ซึ่งเป็นภาษาพม่าโบราณ ดังนั้น “กะเหรี่ยง” ที่คนมอญและคนไทยใช้เรียกนั้น ในพม่าเรียกว่า“คะหยิ่น” และคนภาคเหนือของไทยเรียก “ยาง” อาจมีรากฐานมาจากคำที่กลุ่มนี้เรียกตนเอง

เมื่อจำแนกความแตกต่างในการเรียกชื่อ จะเห็นว่าชื่อเรียกกลุ่มย่อยอีกหลายชื่อ ที่คนภายนอกเรียกตามลักษณะเด่นทางกายภาพ เช่น ยางแดง ยางขาว ตามโทนสีชุดที่สวมใส่ หรือ ยางเปียง (ยางพื้นราบ) ยางป่า ยางน้ำ ตามภูมิประเทศที่อยู่อาศัย เรียกตามพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัย เช่น ยางส่วยกะบาน บางครั้งออกเสียงเป็นสังขบาน มาจากบริเวณที่เรียกว่า ส่วยกะบินที่เป็นภูเขาสัญลักษณ์ของรัฐกะเหรี่ยงในประเทศพม่า

นอกจากนี้ยังมีบางชื่อเรียกที่ไม่ปรากฎที่มาที่ชัดเจนเช่น ยางเดาะแดะ (ดอกแดง) ยางกะเลอ ฯลฯ สำหรับยางกะเลอ Lehman (1979: 239) อธิบายว่าอาจจะมาจากคำของกลุ่มคะยา ที่แปลว่าทางทิศใต้หรือพื้นที่ราบ หากนำมาจากภาษาพม่า ตะเลอ ตะเลียง หรือตะไล อาจหมายถึงคนมอญ แปลว่า กะเหรี่ยงที่เป็นแบบมอญ

แม้ว่านักวิชาการจะระบุว่า คำว่า ยาง น่าจะมาจากชื่อเรียกตนเองของพวกเขาในประเทศพม่าที่เกิดการกร่อนคำและแปรเปลี่ยนไปตามสำเนียงเสียงภาษาของแต่ละถิ่นที่ ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกว่า “ยาง” ในกลุ่มคนไทใหญ่ และคนเมือง ทำให้ชื่อนี้เป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้เรียกอย่างกว้างขวางก่อนที่ความรู้เรื่องชื่อเรียกกะเหรี่ยงอื่นๆ จะแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ในบริบทของสังคมไทย ชื่อเรียก “ยาง” เป็นคำที่มีนัยยะในเชิงของการดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมไม่ชื่นชอบมากนัก ดังนั้น เพื่อเป็นการเคารพ และสร้างความเท่าเทียมกันจึงควรเรียกกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอร์ว่า “ปกาเกอะญอ” ตามที่พวกเขาใช้เรียกตนเอง

นอกจากชื่อเรียกที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในบางพื้นที่ยังมีชื่อเรียกเฉพาะ ชาวกะเหรี่ยงโปในเขตพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรที่ เคยเรียกตนเองว่า ซู หรือ โผล่วซู หรือ ชนเผ่าซู แม้คนรุ่นหลังจะไม่รู้จักคำนี้แล้ว ส่วนกะเหรี่ยงสะกอ จะเรียกตัวเองว่า ส่อง โดยซูกับส่อง ตามตำนานเป็นพี่น้องกัน (เบญจมาส ชุมวรฐายี และคณะ, 2546)

ภาษา

ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต

ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (Karen) อยู่ภายใต้ตระกูลภาษาจีน - ทิเบต (Sino-Tibetan)ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับการอธิบายของนักภาษาศาสตร์ในประเทศไทยที่ระบุว่าภาษากะเหรี่ยงจัดอยู่ในสาขาตระกูลทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) (สุริยา รัตนกุล, 2529: XIV)

อย่างไรก็ดี การจัดกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้อยู่ภายใต้ภาษาจีน-ทิเบต ยังมีประเด็นข้อถกเถียงทางวิชาการ ดังข้อเสนอของBurling (1967); Bradley (1978) ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชาวกะเหรี่ยงไม่ได้อยู่ในตระกูลย่อยสาขาดังกล่าวเช่นเดียวกันกับ Benedict (1972) นักภาษาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในการศึกษาภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ได้จำแนกภาษากะเหรี่ยงไว้ว่าเป็นสาขาใหญ่สาขาหนึ่งที่แยกจากสาขาอื่นๆ ของตระกูลทิเบต-พม่า ที่ Benedict จัดให้อยู่ในสาขาตระกูลกะเหรี่ยง (Karenic) โดยเฉพาะ ซึ่งข้อนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของ Shafer (1955) นักภาษาศาสตร์คนสำคัญที่ได้ศึกษาภาษาตระกูลจีน-ทิเบต และได้จำแนกภาษากะเหรี่ยงไว้ต่างหาก (สุริยา รัตนกูล, 2529)

ในขณะที่งานศึกษาของ Enriquez (1933: 76) ได้อ้างถึงรายงานสำมะโนประชากรปี 1911 (พ.ศ. 2454) ที่จัดให้ชาวกะเหรี่ยงอยู่ในกลุ่มภาษาไท-จีน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น สอดคล้องกับ Lehman (1979: 219อ้างถึงใน Jones,1975) ระบุว่า ภาษากะเหรี่ยงน่าจะอยู่กับตระกูลภาษาไท เนื่องจากคำในตระกูลภาษาพม่าที่พบในภาษาของกะเหรี่ยงนั้น เป็นคำที่หยิบยืมมา การหาข้อสรุปการจำแนกตระกูลภาษากะเหรี่ยงจึงต้องพิจารณาจากองค์ประกอบหลายด้าน เช่น ระบบเสียง คำนำหน้า ฯลฯ หากจะจัดให้อยู่ภายใต้ตระกูลภาษาจีน-ธิเบต จะเป็นกลุ่มภาษาที่อยู่ชายขอบของตระกูลภาษานั้น (remote branch)

ปกาเกอะญอและโผล่ง มีคำศัพท์พื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีความเหมือนกัน แต่แตกต่างกันด้านการออกเสียงและสำเนียงการพูด กรณีชาวกะเหรี่ยงสะกอส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ออกเสียง อ่อเม (กินข้าว) แหล่ชิ (ไปนา) ชอ (ไก่) ทอ (หมู) กลุ่มยางกะเลอ ในจังหวัดเชียงราย ออกเสียง อามี่ (กินข้าว) หรี่ไช (ไปนา) ชั้ง(ไก่) โกะ (หมู) (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2493) นอกจากเสียงที่ออกต่างกันแล้ว ยังมีคำศัพท์อื่นจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุทั้งสองกลุ่มนี้อาจไม่สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ทั้งหมด ภาษาพูดของกะเหรี่ยงสะกอจึงมักจะถูกใช้เป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารกับกะเหรี่ยงโปและกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม

ตัวอักษรที่ใช้เขียน : อักษรโรมัน, อักษรขาว

เนื่องจากภาษาพูดของชาวกะเหรี่ยงมีสำเนียงท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบ ทำให้ภาษาเขียนแบบเดียวไม่สอดคล้องกับภาษาพูดที่มีความหลากหลาย อักษรเขียนของกลุ่มกะเหรี่ยงเฉพาะสะกอ และโปว์

ในประเทศพม่า ที่ปรากฎอยู่ในตำนานและตัวอักษรที่ถูกใช้จริง มีทั้งหมด 14 ระบบ ระบบที่ใช้ในการสื่อสารกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ อักษรลิวาที่ประดิษฐ์โดยมิชชันนารีนิกายโปรแตสเตนท์ และอักษรโรมันหรือที่เรียกว่า ลิโรเหม่ ซึ่งใช้กันในกลุ่มกะเหรี่ยงคาทอลิก ทั้งสองระบบนี้ใช้ในกลุ่มกะเหรี่ยงในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ตัวอักษรที่ใช้ในกลุ่มย่อยในพม่า ได้แก่ อักษรโปตะวันตก โปตะวันออก และอักษรไก่เขี่ยซึ่งใช้ในนิกายแลแก โดยกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณชายแดนไทย-พม่า เป็นการสืบทอดคัมภีร์ที่ใช้อักษรนี้เขียน แต่ไม่ได้ใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน สำหรับในประเทศไทย ในช่วงพ.ศ. 2550 เป็นต้นมา เริ่มมีการประดิษฐ์ภาษาเขียนโดยใช้อักษรไทย เช่นกลุ่มกะเหรี่ยงโปบริเวณอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ (Womack, 2005)

รายละเอียดของอักษรที่ใช้เป็นหลักในกลุ่มกะเหรี่ยงในประเทศไทยมีสองรูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่หนึ่ง อักษรขาว หรือ “ลิ วา” (lix wa)

อักษรนี้ดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า มีพยัญชนะ 25 ตัว สระ 9 รูป วรรณยุกต์ 5 เสียง และมีควบกล้ำ 5 ตัว อักษร “ลิ วา” นี้ ส่วนใหญ่ใช้ในกลุ่มกะเหรี่ยงประเทศพม่าและกะเหรี่ยงทางตะวันตกของประเทศไทย เช่น จังหวัดตาก จังกาญจนบุรี

รูปแบบที่สอง อักษรโรมัน หรือ “ลิ โร เหม่” (Lix Romei)

อักษรนี้พัฒนามาจากอักษรโรมัน ผู้ประดิษฐ์อักษรโรมันคนแรก คือ บาทหลวง “เอ็ดเวอร์ด กาลมอง” (Fr. Edward Calmon) ผู้ที่ทำงานกับคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกปกาเกอะญอในประเทศพม่า ได้ประดิษฐ์อักษรนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) บาทหลวงเซกีนอต ได้นำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ชื่อว่า “เหยอะ หลิ ข่อ ธิ” (แบบเรียนพื้นฐานของฉัน) ในปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) ได้เริ่มต้นให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนบ้านแม่ปอน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นมีการนำไปขยายผลในชุมชนปกาเกอะญอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกปกาเกอะญอ เขตสังฆมณฑลเชียงใหม่ (Jpseph Seguinotte,2007:ix) มีการใช้เรียนใช้สอนแห่งแรกเมื่อปี 2497 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากโรงเรียนในศาสนาคริสต์แห่งแรกคือ โรงเรียนบ้านแม่ปอน อำเภอจอมทอง จังหวัดใหม่ ภายหลังได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในโรงเรียนคริสต์และชุมชนคาทอลิก โดยเฉพาะในเขตงานพัฒนาภาคเหนือ

สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือชนชาวเขา

การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวประชากร :

การสำรวจจำนวนประชากรกะเหรี่ยงในประเทศไทย ของกองสงเคราะห์ชาวเขา ร่วมกับสถาบันวิจัยชาวเขา และหน่วยงานอื่นๆได้สำรวจชุมชนบนพื้นที่สูงทุกจังหวัดในประเทศไทยในปี 2545 พบว่า มีประชากรชาวกะเหรี่ยงรวม 438,450 คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน 1,925 แห่ง ในเขตพื้นที่สูง 9 จังหวัดภาคเหนือ และ 6 จังหวัดภาคกลางที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนตะวันตก จังหวัดที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มากที่สุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่น้อยที่สุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธุ์ กำแพงเพชร สุพรรณบุรี จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่สูง เช่น สุโขทัย ติดกับลำปาง ส่วนกำแพงเพชร ติดกับจังหวัดตาก เป็นต้น

ภายหลังจากปี 2545 เป็นต้นมา ไม่ได้มีการสำรวจอย่างครอบคลุม จึงไม่สามารถระบุจำนวนประชากรที่เป็นทางการได้ แต่คาดว่าจนถึงปี 2565 จำนวนคนกะเหรี่ยงในประเทศไทยจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน โดยไม่รวมคนกะเหรี่ยงที่เป็นผู้ลี้ภัย อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงผู้หนีภัย (ค่ายอพยพ) และแรงงานข้ามชาติเชื้อสายกะเหรี่ยงที่มีจำนวนหลายแสนคน

แหล่งข้อมูล

ผู้เรียบเรียงข้อมูล :

รศ.ดร. ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เอกสารอ้างอิง :

หนังสือ

ขวัญชีวัน บัวแดง. (2546). “ศาสนาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์: กรณีศึกษาชนกะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศพม่า,” รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ขวัญชีวัน บัวแดง. (2551). พื้นที่พรมแดนแม่น้ำเมยกับความสัมพันธ์ชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง-คนเมือง. เชียงใหม่:วนิดาการพิมพ์.

ตรีทิพย์ สุขโข. (2551). “การสำรวจพืชสมุนไพรที่ชาวกะเหรี่ยงใช้ ณ ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่”, วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ทัศนัย วงค์จักร และคณะ. (2539). “โครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยและรักษาการเจ็บป่วยของชาวไทยภูเขาเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่,” รายงานผลการวิจัย. องค์การแคร์นานาชาติประเทศไทยร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ทัศนีย์ ฉิมสุด. (2542). “แบบแผนการดูแลสุขภาพตนเองด้วยวิธีการแพทย์พื้นบ้านของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง บ้านมอเกอร์ยาง อำเภอพบพระ จังหวัดตาก,” การค้นคว้าแบบอิสระหลักสูตรปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นันทวัน อินทร์จันทร์. (2545). การศึกษารูปแบบเครื่องแต่งกายหญิงกะเหรี่ยงโปและกะเหรี่ยงสะกอในเขตอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เชียงใหม่: คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2493). 30 ชาติในเชียงราย. ม.ป.พ.หน้า 311-382

ประวิตร โพธิอาศน์ (2527). คู่มือการทำงานกับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง. เชียงใหม่: ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ กรมการศึกษานอกโรงเรียน

ประวิตร โพธิอาศน์. (2538). “กะเหรี่ยงสะกอ”. ใน ชาวเขา: ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรมประเพณี. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยชาวเขา.

ประเสริฐ ตระการศุภกร. (2540). “การสืบทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนเผ่ากะเหรี่ยง,” เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ประเสริฐ ตระการศุภกรและคณะ. (2554). “โครงการศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเฉพาะและกลไกการสืบทอดวัฒนธรรมในพื้นที่นำร่องเขตวัฒนธรรมพิเศษ ปี 2554,” รายงานวิจัยนำเสนอกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

พรพิมล สงค์ศาสตร์ และสุจิตรา จินะวงศ์. (2547). รายงาน เรื่อง ผ้าทอกะเหรี่ยงอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เชียงใหม่: คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 6). (2539). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2526. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์

รานี อุปรา. (2547). “ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรพื้นบ้านของชุมชนปกาเกอะญอ บ้านแม่แฮน้อย อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่,” วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วินัยบุญลือ. (2545). “ทุนทางวัฒนธรรมและการช่วงชิงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอ.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วิมลพรรณ ลิขิตเอกราช. (2535). ตำรับอาหารกระเหรี่ยงกับคุณค่าทางโภชนาการ, ฝ่ายวิจัยโภชนาการ. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วีระศักดิ์ยอดระบำ. (2538). ผู้แปล. ใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา ลีซะ ชูชื่นจิตสกุล (บ.ก.), เพลงชีวิตปกากะญอ.เชียงใหม่: ศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนาสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศูนย์วิจัยชาวเขา. (2526). บรรณนิทัศน์ 5 สภาพของชาวเขาในประเทศไทย. จังหวัดเชียงใหม่: กรมประชาสงเคราะห์ Imprintเชียงใหม่ : กรม, 2526

สถาบันวิจัยชาวเขา. (2541). ชาวเขา :ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรม. เชียงใหม่: นันทกานต์ กราฟฟิค การพิมพ์

สน และคณะ. (2554). ป่าสนวัดจันทร์ เรื่องราว ผืนดิน ป่าสนของปกาเกอะญอเมือเจะคี.เชียงใหม่: สำนักพิมพ์สันติภาพเพื่อสังคม.

สมภพ ลาชโรจน์. (2538). “กะเหรี่ยงโป”. ใน ชาวเขา: ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรมประเพณี.เชียงใหม่: สถาบันวิจัยชาวเขา.

สาวิตรี พูลสุขโข และคณะ. (2557). เก่อญอโพ: การเรียนรู้วิถีชีวิตชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ.โครงการพัฒนารูปแบบสถาบันการจัดการเรียนรู้ด้านเด็กและเยาวชนบนฐานชุมชน

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ. (2518). ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร

สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และ สรินยา คำเมือง. (2540). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโป.กรุงเทพ: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิกจำกัด.

สุดา สังขดำเนินการและคณะ. (2560). “แนวทางการส่งเสริมอาหารพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาของชาวไทย- กะเหรี่ยง (โผล่ว) บ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี,” รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

สุนทรสุขสราญจิต. (2551). “มายาคติและความรุนแรงของภาพแสดงแทน “ชาวเขา” ในแบบเรียน บทเพลงและภาพยนตร์.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุนทร เกตุอินทร์. (2545). “โครงสร้างลวดลายผ้าทอกะเหรี่ยง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี,” การค้นคว้าอิสระเสนอต่อหลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุรพจน์ มงคลเจริญสกุล. (2558). “การปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ประเภท “ข้าวโพด” : กรณีศึกษาชุมชนปกาเกอญอบนพื้นที่สูงอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่,” เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สุริยา รัตนกุล. (2547). รวมบทความวิชาการเล่ม 1 กะเหรี่ยง. กรุงเทพฯ: สหธรรมิก

สุริยา รัตนกุล ผู้รวบรวม. (2529). พจนานุกรมภาษาไทย-กะเหรี่ยงสะกอ ผลงานวิจัยของบัณฑิตวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

สุริยา รัตนกุล. (2531). “รายงานวิจัยเรื่องอาหารแสลงโรคและบริโภคนิสัยของชาวกะเหรี่ยงสะกอ,” สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา. จังหวัดนครปฐม.

อรรถวุฒิ ยาวุฑฒิ. (2544). “พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง เพื่อศึกษาพืชอาหารและเครื่องใช้ในหมู่บ้านอ่างกาน้อย และหมู่บ้านแม่กลางหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่”, ปัญหาพิเศษ.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อัจจิมา หิรัณยพิชญ์. (2549). ความเป็นพลวัตของการใช้ประโยชน์พืชอาหารป่าในป่าชุมชนของชาวปกาเอกะญอ: กรณีศึกษาบ้านห้วยส้มป่อย ลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อัจฉรา รักยุติธรรมและคณะ. (2541). “ก่อนเริ่มบันทึก” ใน อัจฉรา รักยุติธรรม และคณะ (บ.ก.), สมุดบันทึกคำ “ทา” จอนิ โอ่โดเชา.เชียงใหม่: บีเอสการพิมพ์.

Dawkins, Erin and Phillips, Audra. (2009). A Sociolinguistic Survey of Pwo Karen in Northern Thailand. A research report submitted to Linguistics Institute, Linguistics Department, Payap University. Chiang Mai, Thailand.

Dawkins, Erin and Phillips, Audra. (2009). An Investigation of Intelligibility between West-Central Thailand Pwo Karen and Northern Pwo Karen. A research report submitted to Linguistics Institute, Linguistics Department, Payap University. Chiang Mai, Thailand.

Enriquez, C.M. (1933). Second Edition. Races of Burma. Delhi: Manager of Publications.

Lehman, F.K. (1979). “Who Are the Karen, and If So, Why? Karen Ethnohistory and a Formal Theory of Ethnicity” in Keyes ed. Ethnic Adaptation and Identity: The Karen on the Thai Frontier with Burma. Philadelphia: Institute for the Study of Human Issues, Inc.pp. 215-253.

Sequinotte, Joseph. (2002). (พิมพ์ครั้งที่3). PGAZ K’NYAU AV LIX HKAFU HIIV. กรุงเทพฯ: บริษัท ที.เอส.เพรส. (เซนต์เทเรซ่า การพิมพ์)

Sequinotte, Joseph. (2007). Pgaz K’Nyau dictionary: พจนานุกรม ปกาเกอะญอ-ไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ. กรุงเทพฯ: หน้าต่างสู่โลกกว้าง

Womack, William Burgess. (2005). “Literate Networks and the Production of Sgaw and Pwo Karen Writing in Burma, c. 1830-1930,” Ph.D. thesis submitted to School of Oriental and African Studies, University of London.

แผ่นพับ

กัลยา จุฬารัฐกร.2559. เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย (คสช.) (แผ่นพับ)

สื่อออนไลน์

กลุ่มเก่อญอโพ. 2561. “ขวัญปกาเกอะญอ 37 ประการ”.สืบค้น 4 มีนาค 2563, จาก http://www.deksammork.com/main/ขวัญปกาเกอะญอ-37-ประการ/

กะเหรี่ยง ตำนานชนเผ่า. สืบค้น 4 มีนาคม 2563, จาก https://www.baanjomyut.com/library/karen/14.html.

กะเหรี่ยง ประเพณีและข้อห้าม. (ม.ป.ป.) สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2563, จากhttps://www.baanjomyut.com/library/karen/10.html.

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง. (ม.ป.ป.) เกี่ยวกับเรา. สืบค้น 10 เมษายน 2563, จาก https://imnvoices.com/

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง. (ม.ป.ป.) กิจกรรม. สืบค้น 10 เมษายน 2563, จาก https://imnvoices.com/category/activity/

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง.2562. “มารู้จัก” เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network-IMN). สืบค้น 10 เมษายน 2563, จาก https://web.facebook.com/pg/imnvoices/about/?ref=page_internal

ณัฐกานต์ บุญศิริ. (2548). “การแสดงพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง: กรณีศึกษารำตงบ้านใหม่พัฒนา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฎศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” . สืบค้น 1 เมษายน 2563, จาก http://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/7130/1/natthakan.pdf

ทิวา คงนานดี และคณะ. (2554). วิจัยโครงการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงภาคตะวันตก The Restoration of Karen Language and Culture in Western Thailand. สืบค้น 30 มีนาคม 2563, จากhttp://research1.culture.go.th/research_attachfile/research_attachfile_20161003123222.pdf

พาตี่ตือลือ. (2562). “นิทานกะเหรี่ยง เรื่องนายขี้เกียจ ตอนขี้ไคลพบรัก Karen tale episode 1 a lazy man ” .สืบค้น 23 มีนาคม 2563, จาก ช่องยูทูป Karen Harp https://www.youtube.com/watch?v=Onqw61ZXSBU

ภริษฐา เศรษฐบุตร. (2555). “การใช้ภูมิปัญญากะเหรี่ยงโปว์เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล.วิทยานิพันธ์ปริญยาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้”. สืบค้น 30 มีนาคม 2563, จาก http://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/fulltext/thesis/2556/Bharistha_Sreshthaputra/fulltext.pdf

ศิริธร สาวเสม. (2555). “ดนตรีกะเหรี่ยง กรณีศึกษาหมู่บ้านโป่งกระทิงบน ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี”.ปริญญานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. สืบค้น 30 มกราคม 2563, จาก http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/Ethno/Sirithon_S.pdf

สถาบันจัดการความรู้ชนเผ่าพื้นเมือง. (2559). ข้อมูลพื้นฐานกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม. สืบค้น 10 เมษายน 2563, จาก Ikmi.info/wp-content/uploads/2018/09/ข้อมูลพื้นฐานกะเหรี่ยง.pdf

สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.).ม.ป.ป. เกี่ยวกับเรา. สืบค้น วันที่ 8 เมษายน 2563, จาก https://impect.or.th/?page_id=835

สัมภาษณ์ :

ซันด่า (ไม่มีนามสกุล), วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548

มะเหม่จี สังข์สุวรรณ, วันที่ 19 มิถุนายน 2547

อาภา ทรัพย์ธรรมชาติ, วันที่ 19 มิถุนายน 2547

นุ สาเล็ก, วันที่ 29 พฤษภาคม 2548

ภูวเดช นถกโร, พระ,วันที่ 2563 สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15, 20, 21กุมภาพันธ์ 2563, 25 มีนาคม 2563

สุขศรี ชิติพัทธ์,วันที่ 25 มีนาคม 2563

อำพร ไพรพนาสัมพันธ์, วันที่ 12 เมษายน 2563

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :

ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : ปกาเกอะญอ

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร