ม้ง

ชื่อเรียกตนเอง : ม้ง

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เหมียว, แม้ว

ตระกูลภาษา : ม้ง-เมี่ยน

ภาษาพูด : ม้ง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน

บทความฉบับเต็ม : ดาวน์โหลด

ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2566

998

ม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ข้ามชาติ พวกเขามักเรียกตนเองว่า “ม้ง” ซึ่งความหมายนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทั้งในหมู่คนม้งด้วยกันเองหรือแม้กระทั่งนักวิชาการ ส่วนชื่อที่คนอื่นใช้เรียกม้งนั้นมีสองชื่อด้วยกันคือ “เหมียว” และ “แม้ว” ซึ่งในมุมของคนม้งแล้ว คำทั้งสองนี้มีความหมายที่แตกต่างกันและแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างกัน โดยคำหลังนั้นเป็นคำที่คนอื่นในเอเชียอาคเนย์และชาวตะวันตกใช้เรียกคนม้งและมีนัยของความเป็นอื่นที่เชื่อมโยงกับเสียงของแมวแฝงอยู่ ทำให้คนม้งไม่ชอบ ในขณะที่คำแรกนั้นเป็นคำที่ใช้เรียกม้งในจีนซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนและมีความหมายสัมพันธ์กับการเป็นคนพื้นเพดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับชาวจีนมายาวนาน และพวกเขาไม่ได้ปฎิเสธแต่อย่างใด

ในอดีตม้งอาศัยอยู่เฉพาะในดินแดนปัจจุบันที่เป็นประเทศจีนในปัจจุบัน แต่ภายหลังส่วนหนึ่งซึ่งถือเป็นส่วนน้อยของประชากรได้อพยพเคลื่อนย้ายถิ่นมายังภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ในห้วงคริสต์วรรษที่ 19 ด้วย มากไปกว่านั้น ในช่วงหลังสงครามเย็นก็มีชาวม้งจากประเทศลาวหลายหมื่นคนที่อพยพลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ตามประเทศในแถบตะวันตกด้วย และปัจจุบันคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็เดินทางไปศึกษาต่อและแต่งงานข้ามชาติกับพลเมืองประเทศต่างๆ ด้วย ทำให้คนม้งปัจจุบันนั้นอยู่กระจัดกระจายอยู่บนโลกใบนี้เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น กระนั้นก็ตามจำนวนประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดก็ยังคงถือว่าอยู่ในประเทศจีนเป็นหลัก ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยนั้น ม้ง ตั้งชุมชนกระจายอยู่ตามพื้นที่รอบนอกเมืองใน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย กำแพงเพชร ตาก และกาญจนบุรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าม้งจะตั้งชุมชนมายาวนานไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ แต่ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับวัฒนธรรมกระแสหลัก คนม้งถูกจดจำเฉพาะในแง่ความเป็นอื่นในสังคมไทยเสมอ นักวิชาการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ยังมีภาพจำที่เป็นอื่นต่อคนม้งในสังคมไทยนั้นมาจากวาทกรรมสี่ประเด็น คือ ประเด็นแรกเรื่อง ม้งกับยาเสพติดโดยเฉพาะภาพจำเกี่ยวกับการปลูกผฝิ่น ประเด็นที่สองเรื่อง การทำเกษตรบนพื้นที่สูงที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่สามเรื่องความมั่นคง และประเด็นสุดท้ายเรื่อง ชาวเขาทำมาหากินในเขตป่าและยากจนวาทกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจคนม้งแต่ในภาพเชิงลบและเป็นที่มาของความพยายามในการหลบหลีกความเป็นม้งหรือปิดบังตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ด้วยวาทกรรมข้างต้น ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจอัตลักษณ์ของคนม้งในเชิงลบไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม หากจะต้องอธิบายว่า แล้ว “คนม้งมีตัวตนเป็นอย่างไร” อาจต้องพูดถึงบริบทเป็นสำคัญ เพราะความเป็นจริงคือ ไม่อาจจะเหมารวม (generalize) ตัวตนคนม้งได้เป็นเพียงแค่แบบเดียวได้ เพราะม้งในแต่ละพื้นที่ชุมชนเผชิญกับสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน สภาพแวดล้อมเหล่านี้จะเป็นตัวกำกับหรือกำหนดการแสดงตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงอัตลักษณ์แบบผิวเผินเมื่อพูดถึงคนม้งในไทยทั่วไปจากทัศนะและความเข้าใจของคนนอกแล้ว คนม้งมักจะถูกเข้าใจและถูกจัดความสัมพันธ์ให้เป็น “ชนเผ่า” และ “ชาวเขา” ซึ่งมีนัยของความเป็นคนป่าเถื่อนและด้อยการพัฒนา ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกของม้งที่พวกเขากลับรู้สึกว่าตนเป็น “ชนชาติ” หนึ่งที่เคยมีดินแดนและกษัตริย์ของตนเองมาก่อน มีระบบความเชื่อ ภาษา เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี และเทศกาลหรือประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีพของพวกเขาที่โดดเด่นและแตกต่างจากกลุ่มอื่น (ดังรายละเอียดที่กล่าวไว้ในแต่ละส่วน) ประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏในงานชิ้นนี้จึงน่าจะพออธิบายลักษณะตัวตนของคนม้งได้ระดับหนึ่ง

ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

ชื่อเรียกตนเอง : ม้ง

“ม้ง (Hmong)” เป็นชื่อที่คนในกลุ่มวัฒนธรรมนี้ใช้เรียกตนเอง โดยมีคนม้งส่วนหนึ่งให้ความหมายกับคำดังกล่าวว่าหมายถึง “อิสระ” หรือ “อิสระชน” (Yang Dao, 1993 อ้างใน Chan, 1994) ในขณะที่อีกกลุ่มก็ตั้งคำถามต่อว่า ม้งมีความอิสระจริงหรือ? เพราะที่ผ่านมา ม้งหาได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระโดยปราศจากการครอบงำ จากกลุ่มวัฒนธรรมหลักไม่ ขณะเดียวกัน คำว่า “ม้ง” เป็นเพียงชื่อชาติพันธุ์ที่หมายถึงคนม้งเช่นเดียวกันกับคนในชาติอื่นๆ ที่ถูกเรียกว่าคนอินเดีย คนอังกฤษ และอเมริกันโดยที่ไม่มีความหมาย นอกจากสื่อให้รู้ถึงภูมิหลังและความเป็นชาติพันธุ์เท่านั้น (Thao, 2000) นอกจากคนม้งที่ใช้คำนี้นิยามตนเองแล้ว บรรดาเหล่าสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ใช้คำนี้เรียกทหารและมวลชนม้งมาโดยตลอด (จันทนา ฟองทะเล, 2539; วัฒน์ วรรลยางกูร, 2546; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2554) ก่อนที่นักวิชาการคนในรุ่นแรกและนักวิชาการทั่วไป สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนได้เริ่มใช้คำดังกล่าวมากขึ้นนับจากทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เหมียว, แม้ว

“เหมียว (Miao)” และ “แม้ว (Meo)” เป็นสองชื่อที่คนอื่นใช้เรียกตัวตนคนม้ง โดยคำแรกนั้นหากพิจารณาตามรากศัพท์ทางภาษาจีนแล้ว ความหมายนั้นมีความเชื่อมโยงกับต้นข้าวอ่อน หน่อ หรือวัชพืชกับที่นา ดังตัวอักษรในภาษาจีน (苗) ที่มีลักษณะเป็นรูปที่นา จึงมีการให้ความหมายว่า ลูกของแผ่นดินและชนพื้นเมืองที่แต่เดิมทำนาเป็นหลัก (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2554: 9) ด้วยความหมายข้างต้นชาวเหมียวซึ่งรวมถึงคนม้งในประเทศจีนปัจจุบันจึงยอมรับและเชื่อมโยงตัวตนที่สัมพันธ์กับภาพลักษณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ชื่อดังกล่าวยังเป็นชื่อที่ได้รับการรับรองจากทางการรัฐชาติจีนสมัยใหม่หลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ด้วย โดยกลุ่มนี้ถือเป็นชื่อทางการของชนชาติ 4 กลุ่มตามการจัดของคณะสำรวจของรัฐบาลจีนคือ “ม้ง” (Hmong) กอซ่ง” (Qho Xiong) “ฮมู้” (Hmub) และ “ฮม้อ” (A-Hmao) (Lee, 2007: 3) ทั้งนี้ ภายใต้กลุ่มที่ชื่อม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนปัจจุบันนั้น ประสิทธิ์ ลีปรีชา (2554) ยังแบ่งย่อยได้อีกเป็น 7 กลุ่ม คือ ม้งเด๊อ (Hmoob Dawb) ม้งจั๊วะ (Moob Ntsuab) ม้งชื้อ (Moob Swb) ม้งเป่ (Hmoob Peg) ม้งเซา (Hmoob Xauv) ม้งซัว (Hmoob Sua) ม้งปัว (Hmoob Pua) โดยม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนั้น มีแค่กลุ่ม “ม้งเด๊อ” หรือ “ม้งขาว” และ “ม้งจั้ว”” หรือ “ม้งเขียว” เท่านั้น ซึ่งผู้รวบรวมข้อมูลฐานวิชาการชิ้นนี้เห็นว่า คำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายใต้ชื่อเดียวคือ “เหมียว” ข้างต้นนั้น มิได้เป็นการจัดแบ่งตามทัศนะของคนใน แต่แบ่งตามทัศนะของคนข้างนอกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมองกลุ่มย่อยต่างๆ ข้างต้นว่ามีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมและมีจุดร่วมทางประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้ในมิติเชิงประวัติศาสตร์แล้ว คำว่า “เหมียว” ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนประมาณศตวรรษที่ 27 ก่อนคริสตศักราช หรือเมื่อประมาณสองพันสองร้อยปีก่อนคริสตศักราช (Savina, 1924 อ้างใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2546: 26) โดยในบางบริบทคำนี้เป็นคำที่คนจีนใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทางตอนใต้ของจีนโดยรวมซึ่งประกอบไปด้วย ม้ง เมี่ยน ลาว และจ้วง ซึ่งจีนถือว่าเป็นพวกป่าเถื่อนและไม่ใช่ชาวฮั่น ในขณะที่บางยุคนั้นหมายถึงคำดังกล่าวมีความหมายเฉพาะเจาะจงถึงม้งเท่านั้น (Cheung, 1996a; 1996b, Diamond 1995; Ruey, 1960, 1979 อ้างใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2546: 26) นอกจากนี้แล้ว Lombard Salmon (1972: 117 อ้างใน Michaud, 1997: 120) ยังชี้ให้เห็นว่า ตามบันทึกเอกสารของจีนแล้ว คำดังกล่าวมักจะปรากฏคู่กับคำ 2 คำคือ “shu Miao” ซึ่งแปลว่า “เหมียวที่ผ่านการทำให้สุกแล้ว” กับอีกคำคือ “sheng Maio” ซึ่งหมายถึง “เหมียวกลุ่มที่ยังดิบอยู่” ทั้งสองคำจึงสะท้อนถึงสถานภาพของเหมียวสองกลุ่มที่แตกต่างคือ เหมียวกลุ่มที่ถูกวัฒนธรรมชาวจีนครอบงำแล้วกับเหมียวอีกกลุ่มที่ยังมีอิสระไม่ขึ้นต่อการควบคุมของจีน

ในขณะที่คำดังกล่าวเมื่อนำมาใช้ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว แทบจะไม่มีความหมายใดๆ ในภาษาของคนแถบนี้ ยกเว้นแต่เสียงร้องของสัตว์อย่างแมวเท่านั้น จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ม้งส่วนใหญ่ไม่ชอบให้คนอื่นเรียกตนเองว่า “แม้ว” เลย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2546: 28; Lee, 2007: 4) โดยชื่อนี้เป็นที่นิยมของหน่วยงานของทางราชการต่างๆ ที่เข้าไปสัมพันธ์กับม้งมาโดยตลอด ดังเห็นได้จากงานที่งานของขุนประชาคดีกิจ (2428 อ้างใน ธงชัย วินิจจะกุล, 2560: 19) ใช้คำว่า “ข่าแม้ว” อธิบายภาพลักษณ์ของการเป็นคนป่าของคนม้งที่อยู่บริเวณชายแดนเหนือสุดสยาม ในขณะที่ McCarthy (1895: 71 อ้างใน Michaud, 1997: 124 ) นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษ ก็ใช้คำว่า “Meo” ในการบันทึกการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของม้งในบริเวณทางภาคเหนือของประเทศไทย (น่าน) ปี ค.ศ. 1880 และงานของ Bernatzik (1970) นักมานุษยวิทยาและช่างภาพชาวออสเตรีย ใช้คำว่า “Miao” ในการอธิบายวิถีชีวิตของม้งที่อยู่ในภูมิภาคอินโดจีน ตลอดจนงานในยุคสงครามเย็น เริ่มจากงานของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2506, 2551) ประภาส จารุเสถียร (2509) ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (2518, 2526) งานของสถาบันวิจัยชาวเขา (2541) ตลอดจนการข่าวและการละครในประเทศไทยยุคสงครามเย็นของสื่อมวลชนของรัฐและเอกชนก็ล้วนแล้วแต่ใช้คำว่า “แม้ว” “เผ่าแม้ว” “ชาวเขาเผ่าแม้ว” แม้กระทั่งทุกวันนี้ชื่อนี้ก็ยังปรากฏในเอกสารสำคัญของหน่วยงานราชการด้วย โดยเฉพาะเอกสารของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานโดยตรงกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ยังคงผลิตซ้ำตัวตนของม้งโดยใช้คำว่า “แม้ว” ในชุดหนังสือรวบรวมองค์ความรู้ชาวเขา 9 เผ่า “แม้ว (Meo)” ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นคือ เป็นคำที่ม้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์ โดยคนม้งมักรู้สึกว่าคำดังกล่าวสัมพันธ์กับเสียงร้องของแมว จนทำให้พวกเขาไม่ชอบที่จะถูกเรียกด้วยชื่อนี้ (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2546: 28; Lee, 2007: 4)

นอกเหนือจากการหมายถึงกลุ่มประชากรม้งแล้ว คำดังกล่าวยังถูกผู้คนในสังคมไทยใช้เรียกแบบเหมารวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงต่างๆ ทางภาคเหนือของประเทศไทย(ชาวเขา/ชาวดอย)ด้วย สืบเนื่องจากการขาดความเข้าใจและการไม่รู้จักชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ข้างต้น จึงทำให้บางครั้งคำว่า “แม้ว” นั้น ถูกใช้แบบเหมารวมถึงกลุ่ม “ชาวเขา” ทั้งหมดทางภาคเหนือด้วย จึงพอกล่าวเป็นข้อสรุปได้ว่า คำว่า “แม้ว” ที่ถูกใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน มีการใช้ให้หมายถึงกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ม้ง” กับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่รัฐจัดให้เป็น “ชาวเขาในประเทศ” ด้วย เช่น กะเหรี่ยง อาข่า ลีซู อิ้วเมี่ยน ลัวะ เป็นต้น

ภาษา

ตระกูลภาษา : ม้ง-เมี่ยน

ตระกูลภาษาย่อย : ม้ง (แม้ว)

นักภาษาศาสตร์จัดภาษาม้งอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน (Hmong-Miean) (Matisoff, 1983) ภาษาตระกูลนี้เดิมใช้ในประเทศจีน แต่ภายหลังนับจากช่วงคริสต์วรรษที่ 19 เป็นต้นมาที่ผู้ใช้ตระกูลภาษานี้ได้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีการใช้ภาษาดังกล่าวในลาว เวียดนาม ไทย พม่า รวมถึงในช่วงสงครามเย็นที่ผู้คนในแถบนี้ได้อพยพลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในประเทศตะวันตกแล้ว ภาษานี้ก็ถูกนำไปใช้ในดินแดนใหม่ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามแม้ภาษาม้งจะจัดอยู่ในตระกูลดังกล่าว แต่ภาษาม้งก็มีคำศัพท์จำนวนมากที่พ้องเสียงและพ้องความหมายกับภาษาจีน(ชนัญญา พวงทอง และกฤตานนท์ ท้าววัฒนากุ, 2562 )

ภาษาพูด : ม้ง

แม้ม้งจะมีตำนานว่าตนเองเคยมีภาษาเขียนของตนเอง แต่ก็ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดถึงระบบการเขียน ฉะนั้นภาษาม้งเดิมทีจึงมีแต่ภาษาพูด ม้งในไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักตามสำเนียงภาษาและการแต่งกายคือ ม้งเด๊อ (Hmoob dawb) และม้งจั้ว (Hmoob ntsuab) โดยทั้งสองกลุ่มแม้จะมีสำเนียงและคำศัพท์บางส่วนที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาต่างก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ เช่นเดียวกันกับภาษาคำเมืองกับภาษาไทย หรือภาษาลื้อกับภาษาคำเมือง เป็นต้น

ตัวอักษรที่ใช้เขียน : อักษรโรมัน

สำหรับภาษาเขียนนั้น แต่เดิมคนม้งไม่มีระบบการเขียนของตนเอง แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าลวดลายผ้าปักของชาวม้งเป็นระบบการเขียนรูปแบบหนึ่งของม้งในอดีต แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าระบบลวดลายดังกล่าวเป็นระบบการอ่านและเขียนได้อย่างไร ลวดลายผ้าปักม้งจึงมีความหมายต่อคนม้งในฐานะที่เป็นเพียงส่วนประกอบที่ใช้ตกแต่งเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของม้งมากกว่าที่จะเป็นระบบการเขียนที่บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม นับจากคริสต์ทศวรรษ 1950 คนม้งก็มีระบบของการเขียนของตนเองอันได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมิชชันนารีชาวอเมริกันและฝรั่งเศส (George Barney, William Smaller และ Yves Bertrais) ที่เข้ามาสอนศาสนาคริสต์ให้กับม้งในประเทศลาว นอกนั้นในระยะที่ผ่านมายังมีระบบตัวเขียนอื่นๆ อีก แต่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่คนม้งในประเทศไทยมากเท่าระบบนี้

ระบบการเขียนภาษาม้งที่ถูกคิดค้นพัฒนาดังกล่าวนั้นมาจากการปรับใช้อักษรโรมัน (Romanized Popular Alphabet/RPA) มาแทนเสียงต่างๆ ในภาษาม้ง ซึ่งนับว่ามีความสอดคล้องกับเสียงภาษาม้งมากที่สุดเมื่อเทียบกับการใช้ตัวอักษรในภาษาไทย ระบบการเขียนดังกล่าวจึงเป็นที่ยอมรับและใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันแม้เป้าหมายของการสร้างระบบการเขียนดังกล่าวคือ เพื่อต้องการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในหมู่ของม้งก็ตาม ฉะนั้นคุณูปการของการพัฒนาระบบการเขียนดังกล่าวจึงมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงแค่ของเรื่องศาสนาเท่านั้น ม้งในประเทศต่างๆ นอกจากจะใช้ภาษาประจำชาติที่ตนอาศัยอยู่แล้ว พวกเขาก็ได้ใช้ระบบภาษาเขียนดังกล่าวในการสื่อสารกับคนม้งข้ามชาติได้ด้วย และที่สำคัญคือ การสร้างระบบการเขียนดังกล่าว ทำให้ภาษาม้งกลายเป็นภาษาที่สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดกันได้โดยมิได้จำกัดอยู่กับคนม้งเท่านั้น

เช่นเดียวกันกับภาษาไทย ภาษาม้งก็มีพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ด้วย กล่าวคือ มีพยัญชนะทั้งหมด 57 ตัว สระ 14 ตัว และวรรณยุกต์ 7 รูป 8 เสียง ซึ่งต้องยอมรับว่าอักษรภาษาไทยนั้นไม่สามารถที่จะใช้แทนเสียงในภาษาม้งได้ตรงตามเสียงในภาษาม้งอย่างครบถ้วนและถูกต้อง จึงเป็นการยากพอควรที่ผู้เขียนจะนำเสนอภาษาม้งผ่านอักษรภาษาไทย

แม้ม้งจะมีภาษาเขียนแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าม้งทุกคนจะอ่านออกและเขียนภาษาม้งได้ เพราะภาษาม้งไม่ได้มีสอนตามโรงเรียนหรือตามชุมชนทั่วไป ยกเว้นชุมชนที่มีโบสถ์คริสต์ คนม้งที่เป็นคริสต์เตียนก็พลอยได้เรียนรู้ไปด้วยในขณะที่เรียนร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าหรือเรียนพระคัมภีร์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าม้งทุกคนจะพูดภาษาม้งอีกต่อไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช้ภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาก็จะใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเป็นหลัก และใช้ได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ ในขณะที่กลับไม่มีความมั่นใจและรู้สึกยุ่งยากมากที่จะสื่อสารกับคนม้งด้วยกันเป็นภาษาของตนเอง ปรากฏการณ์เช่นนี้นำไปสู่ความกังวลของผู้อาวุโสม้งที่ภาษาม้งอาจเพี้ยนและไม่ได้รับการสืบทอดก็ได้ กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนก็เห็นว่า ปัจจุบันก็มีกลุ่มคนในวัฒนธรรมอื่นก็สามารถใช้ภาษาม้งได้อย่างเจ้าของภาษาและดีกว่าเจ้าของภาษาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะฝรั่งที่เป็นมิชชันนารีและนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องม้ง ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้อาวุโสม้งได้มากเลยทีเดียว และสามารถฉุดความคิดของคนรุ่นใหม่ให้กลับมาสนใจภาษาม้งของตนเองอีกครั้งได้เป็นอย่างดี

สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือชนชาวเขา

การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวประชากร :

ม้งเป็นชนดั้งเดิมในจีน (aboriginal Chinese) โดยแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลเหลือง จากนั้นได้เคลื่อนย้ายทำมาหากินตามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาสู่บริเวณที่เป็นภาคกลางของจีน ต่อมาถูกรุกรานจากชาวมองโกลจึงได้อพยพลงมายังทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นมณฑลเสฉวน กวางสี และยูนนาน ทั้งนี้ ภายหลังช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดสงครามการต่อต้านรัฐบาลส่วนกลางปักกิ่งที่ทำการขูดรีดและการเก็บภาษีสูงจากกลุ่มผู้มีอำนาจในจีน ส่งผลให้ม้งส่วนหนึ่งได้อพยพออกจากดินแดนในจีนเข้ามายังพื้นที่บริเวณแถบอินโดจีนเพื่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา 2549)

ปัจจุบันมีหมู่บ้านม้งอยู่กระจายตามพื้นที่รอบนอกเมืองของจังหวัดต่างๆ ถึง 15 จังหวัดทางภาคเหนือด้วยกัน คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย กำแพงเพชร ตาก และจังหวัดกาญจนบุรี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนม้งจะอยู่แต่เฉพาะในชุมชนของตนเท่านั้น ปัจจุบันประชากรม้งนั้นได้เคลื่อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกับชุมชนเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเชียงใหม่ เป็นต้น รวมถึงบางส่วนที่เดินทางไปเป็นแรงงานและศึกษาต่อในต่างประเทศ ทั้งนี้ แม้ม้งจะเข้าอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ด้วยความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมกับวัฒนธรรมกระแสหลัก ทำให้ม้งถูกบันทึกและจดจำกันเฉพาะในแง่ของความเป็นคนอื่นในสังคมไทย (the other within) มาโดยตลอด และยิ่งไปกว่านั้นสำนึกของคนม้งเองส่วนใหญ่ก็ยอมรับและเข้าใจว่าตนเองเป็นคนอื่นจริงๆ ในสังคมไทย นักวิชาการเห็นว่าสาเหตุที่สังคมไทยมองคนม้งเป็นคนอื่นนั้นเกิดขึ้นจากวาทกรรมที่มีต่อม้งสี่ประการคือ ประการแรก ม้งกับยาเสพติดที่รัฐมักจะเหมารวมให้คนม้งเกี่ยวข้องกับฝิ่นนับแต่อดีตมาจนปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าและเสพยาเสพติด ประการที่สอง ม้งกับระบบการเกษตรที่เป็นการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม ประการที่สาม ม้งกับการการทำลายความมั่นคงของชาติ (Mark 1973 และ Tapp 1986) และประการสุดท้าย ม้งกับความเป็น “ชาวเขา” และ “ชนเผ่า” ที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาเร่รอนทำมาหากินและมีความยากจน วาทกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจคนม้งแต่ในภาพเชิงลบและเป็นที่มาของความพยายามในการหลบหลีกความเป็นม้งหรือปิดบังตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งเองในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

จากการรวบรวมของกองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในหนังสือชื่อ “ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดของประเทศไทย ประจำปี 2559” ระบุว่า ชุมชนชาติพันธุ์ม้งจํานวนทั้งหมด 269 ชุมชน 29,515 หลังคาเรือน 40,863 ครอบครัว ประชากรรวมทั้งสิ้น จํานวน 207,151 คน โดยจังหวัดที่มีประชากรม้งอาศัยอยู่มากที่สุดอยู่ที่ตาก จํานวน 54,617 คน คิดเป็นร้อยละ 26.36 รองลงมาคือ จังหวัดเชียงราย จํานวน 31,963 คน คิดเป็นร้อยละ 15.42 และจังหวัดน่าน จํานวน 31,037 คน คิดเป็นร้อยละ 14.98 และจังหวัดที่มีม้งอาศัยอยู่น้อยที่สุดคือที่จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 149 คน (กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวขา, 2559: 13) ซึ่งตัวเลขต่างๆ ข้างต้นผู้เขียนเห็นว่าอาจมีความคาดเคลื่อนได้ เพราะปัจจุบันคนม้งมิได้อาศัยอยู่เฉพาะในชุมชนดังกล่าวอย่างเดียว บางส่วนได้เข้ามาซื้อที่ดินและสร้างบ้านหรือสร้างชุมชนเล็กๆ อยู่ในเมืองด้วย รวมถึงส่วนหนึ่งก็มีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น และเคลื่อนย้ายไปพื้นที่อื่นๆ ด้วย ตัวเลขข้างต้นจึงอาจเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น

แหล่งข้อมูล

ผู้เรียบเรียงข้อมูล :

อุไร ยังชีพสุจริต นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เอกสารอ้างอิง :

กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา. (2559). ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดของประเทศไทย ประจำปี 2559. กรุงเทพฯ: กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

เครือข่ายเรียนรู้ฟื้นฟูประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมดอยยาว-ดอยผาหม่น. (มปป). เราก็เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน...ประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมดอยยาว-ผาหม่น. ร่างรายงานฉบับแรกที่ใช้ในการแสดงความคิดเห็นในงาน 3 ปีแห่งการเรียนรู้ ฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนดอยยาว-ผาหม่น: ขบวนการฟื้นฟูท้องถิ่นสู่การปฏิรูปประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2554 หมู่บ้านร่มฟ้าผาหม่น จังหวัดเชียงราย.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2554). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. กรุงเทพฯ : ศยาม.

ชนัญญา พวงทอง และกฤตานนท์ ท้าววัฒนากุล. (2562). การศึกษาเปรียบเทียบการออกเสียงคำศัพท์ในภาษาจีนกลางและภาษาม้ง. วารสารมังรายสาร, 7(1) ม.ค. – มิ.ย. 2562. สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/177393/130026.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2549). ม้งดอยปุย การค้า อัตลักษณ์กับความเป็นชุมชนชาติพันธุ์. เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2554). กลุ่มชาติพันธุ์ม้งในบริบทของรัฐชาติสมัยใหม่. ใน ม้งลาวในประเทศไทย: นโยบายและการดำเนินการของรับไทย (2518-2552). สุภางค์ จันทวานิช และถวิล เปลี่ยนศรี (บก.). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 1-38.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2560). นามสกุลกับกระบวนการทำให้เป็นไทยในกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง. สังคมศาสตร์. วารสารทางวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 29(1), 85-124.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ. (2560). ม้งช่วยรบ : ความเป็นมาและปัญหาสถานะบุคคล. เชียงใหม่ : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดาร. (2538). 30 ปี พระธรรมจาริก. กรุงเทพฯ: กรมประชาสงเคราะห์.

ยุทธพงษ์ สืบศักดิ์วงศ์. (2546). ความคิดทางปรัชญาในภาษิตม้ง. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Chan, Sucheng. (1994). Hmong Means Free: Life in Laos and America. Philadelphia: Temple University Press.

Culas, Christian. (2000). Migrants, Runaways and Opium Growers: Origin of the Hmong in Laos and Siam in the Ninetieth and Early Twentieth Centuries. Turbulent Times and Enduring Peoples Mountain Minorities in South East Asia Massif. Michaud Jean (ed.). London:Curzon,28-47.

Gua, Bo. (1975). Opium, Bombs and Trees: The Future of the Hmong Tribesmen in Northern Thailand, Journal of Contemporary Asia 5(1): 70-81.

Lamont H. Thao. (2002). “Hmong Means Free?. Retrieved September 15, 2018, from https://sites.google.com/site/wwwhmonghomepage/home/hmong-means-free/hmong-means-free.

Tapp, Nicholas. (1986). The Hmong of Thailand: Opium People of the Triangle. London: Anti-Slavery Society.

Tapp, Nicholas. (1989). The Sovereignty and Rebellion: The White Hmong of the Northern Thailand. Malaysia: Peterchong Printers.

Tapp, Nicholas. (1989). Hmong Religion. Asian Folklore Studies 48(1), 5-9. Retrieved December 20, 2018 from, https://nirc.nanzan-u.ac.jp/nfile/1512.

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :

ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : ม้ง

ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร