
มานิ
ชื่อเรียกตนเอง : มานิ, มานิค
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ซาไก, เซมัง, เงาะป่า, โอรัง อัสลี, นิกริโต, ชอง, มอส, ตอนกา
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ภาษาพูด : มานิ
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน
บทความฉบับเต็ม :
ดาวน์โหลด
ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 17 มิ.ย. 2566
476
“มานิ” หรือ “มานิค” เป็นคำที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง แปลว่า คน (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524) ชาวมานิจะเรียกตัวเองว่า “มานิ” หรือ “มันนิ” และพึงพอใจให้คนอื่นเรียกตนเองเช่นนั้น ชื่อเรียกนี้มักพบในเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล ขณะที่ชื่อเรียกว่า “โอรังอัสลี” หรือ “อัสลี” และ “จาไฮ” แปลว่า คนดั้งเดิม เจ้าของถิ่นเดิม เป็นชื่อที่ใช้เรียกตัวเองในแถบจังหวัดยะลาและนราธิวาส ชื่อเรียกดังกล่าวเป็นชื่อเรียกที่ชาวมานิต้องการให้คนอื่นเรียกพวกเขาเช่นเดียวกันกับที่พวกเขาเรียกตนเอง เพื่อแสดงถึงการให้เกียรติ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักเรียกเหมารวมมานิด้วยคำว่า “เงาะ” “เงาะป่า” “ซาไก” “เงาะป่าซาไก” ซึ่งเป็นอิทธิพลจากวรรณคดีเรื่องเงาะป่า เป็นคำเรียกที่พวกเขาไม่ชื่นชอบมากนัก “เงาะ” ในภาษาพื้นเมืองภาคใต้ หมายถึง ผลไม้ชนิดหนึ่ง ขณะที่ชื่อเรียก “ซาไก” เป็นภาษามาลายู ไม่มีความหมายสำหรับกลุ่มมานิในแถบเทือกเขาบรรทัดที่สัมพันธ์กับภาษาท้องถิ่นภาคใต้
กลุ่มชาติพันธุ์มานิ (the Maniq people) เป็นชื่อเรียกผู้คนกลุ่มนิกริโต (the Negritos) ซึ่งถูกจำแนกทางชาติพันธุ์ว่าเป็นกลุ่มย่อยของนิกรอยด์ (Negroid) อาศัยกระจายอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายูในภาคใต้ของประเทศไทย มีหลายข้อสันนิษฐานถึงการมีอยู่ของพวกเขาในดินแดนนี้ โดยหลักฐานทางโบราณคดีค้นพบความเชื่อมโยงของถิ่นที่อยู่ในยุคซุนดาแลนที่ผืนแผ่นดินภาคใต้และหมู่เกาะยังเชื่อมต่อกันก่อนถูกตัดขาดกลายเป็นเกาะแก่งในปัจจุบัน หลักฐานทางโบราณคดี และโครงกระดูกในถ้ำบริเวณเหนือคลองตง
อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประเมินอายุได้ประมาณ 12,000 ปี ชี้ชัดว่ามีลักษณะตรงกับชาวมานิที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของไทย มีข้อสันนิษฐานว่าพวกเขาอยู่ในแถบนี้มาเนิ่นนานก่อนที่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์จะแยกพื้นที่ออกจากกันทำให้คนกลุ่มนี้กระจายออกไปทั้งในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่นักวิชาการบางสายสันนิษฐานว่าพวกเขาได้เข้ามาในแหลมมาลายูโดยการอพยพมาจากถิ่นมีอื่น ในสองเส้นทาง คือ เส้นทางแรก อพยพมาจากประเทศอินโดนีเซียผ่านมาเลเซียมายังภาคใต้ของไทย ส่วนเส้นทางที่สอง อพยพมาจากประเทศจีน อินเดีย และศรีลังกา ก่อนเข้าสู่ภาคใต้ของไทย ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่า มีสองกลุ่มใหญ่ คือ มานิและโอรังอัสลี (กันซิวและจาไฮ) โดยมีการกระจายตัวของกลุ่มมานิบริเวณเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล จำนวน 13 กลุ่ม กลุ่มมานิ (โอรังอัสลี) พบกระจายตัวในจังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส จำนวน 15 กลุ่ม
มานิ ในเทือกเขาบรรทัด และโอรังอัสลี ในเทือกเขาสันกาลาคีรี มีการดำรงชีพแบบหาของป่าล่าสัตว์ เคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร ผสมผสานกับการตั้งถิ่นฐานถาวรในบางกลุ่ม การดำรงอยู่ของพวกเขาสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวิถีปฏิบัติที่เคารพธรรมชาติ เรียบง่าย ขณะที่สังคมโดยรวมยังคงมองชาวมานิ-โอรังอัสรี ในเชิงอคติและติดกับดักตามพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่าอยู่เสมอ
ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
ชื่อเรียกตนเอง : มานิ, มานิค
“มานิ” (Mani) หรือ “มานิค” (Maniq) เป็นคำที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง แปลว่า คน (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524) ชาวมานิจะเรียกตัวเองว่า “มานิ” หรือ “มันนิ” และพอใจให้คนอื่นเรียกตนเองว่าเช่นนั้น ชื่อเรียกนี้มันพบในกลุ่มเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล
“มานิหรือมันนิ (Maniq, Mani)” ชื่อเรียกนี้ถูกนำมาใช้ในทางวิชาการเพิ่มมากขึ้น Peterson (2010) กล่าวว่า คำว่า “มานิ” (Maniq) หมายถึง “กลุ่มคนที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน มีภาษาคล้ายคลึงกัน และมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกัน” โดยเฉพาะการมีวิถีชีวิตแบบหาของป่า-ล่าสัตว์ การทำเพิงพักด้วยพืชตระกูลปาล์มแบบง่าย ๆ ผู้ชายใช้กระบอกไม้ซางและลูกดอกอาบยาพิษในการล่าสัตว์ อพยพย้ายที่พักในป่าตามที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีลักษณะผิวเข้ม ผมหยิก ริมฝีปากหนา ที่สำคัญคือต้องพูดภาษาเดียวกัน (อิสระ ชูศรี และคณะ, 2555) สำหรับนักวิชาการไทยที่เริ่มใช้และกล่าวถึงชื่อ “มานิ” คือ จิตร ภูมิศักดิ์ (2524) ได้กล่าวถึงคำว่า “มานิ” ไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำ สยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติไว้ ดังนี้
“ขอให้สังเกตว่า เมนิก (Menik) เป็นคำในภาษาตระกูลมอญ-เขมร. (มอญ – หนิ, มนิ; เขมร – มนิ, มนึ, มนุ, มนุย, มนุด, มนึย, มนือ, มนิ, ปนี). ได้พบข้อความในเรื่องเงาะของ ม.ล. อัมพร สนิทวงศ์ บอกภาษาเงาะไว้ว่า “มานิ” แปลว่าชาวป่า, ฮามิ แปลว่าชาวบ้าน” เข้าใจว่า เมนิก (Menik) กับมานิ จะเป็นคำเดียวกัน บางทีที่ฝรั่งจดว่า Menik นั้นอาจจะใส่ตัว K เข้าไปก็เพื่อบังคับให้สระออกเสียงสั้น มีการกักเสียงที่ลำคอ (Glottal stop) เท่านั้นก็ได้, อย่าง สีหนุ เขียน Sihanouk เพื่อมิให้อ่านเป็น สีหนู. ถ้าเป็นอย่างนั้นเมนิก ก็เท่ากับ เมนิ หรือ เมอนิ เท่านั้น ส่วนฝ่ายที่จด มานิ แปลว่า ชาวป่านั้น ก็คงจะเข้าใจผิด ได้ยินพวกเงาะเรียกพวกเขาเองว่า มานิ เรียกชาวบ้านอื่นว่า ฮามิ ก็เลยเข้าใจว่า มานิ แปลว่า ชาวป่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า มานิ คือคำเรียกตัวเขาเอง แปลว่าคน เท่านั้น, ทั้งก็เป็นคำเดียวกับที่ฝรั่งจดว่า เมนิ-เมอนิ เพราะจดจากเงาะที่จังหวัดตรังด้วยกันทั้งสองฝ่าย”
นอกจากนี้การใช้คำว่า “มานิ” ปรากฏในงานของนักวิชาการต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาชาวมานิในประเทศไทย ช่วงปี 2537-2539 ของ Gerd Albrecht (1994) จากนั้นเป็นต้นมานักวิชาการต่างประเทศเริ่มหันมาใช้คำว่า มานิ แต่จะใช้เรียกเฉพาะกลุ่มนิกริโตบริเวณเทือกเขาบรรทัดในประเทศไทย ปัจจุบันทั้งนักวิชาการไทยและต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้คำเรียก มานิ สะท้อนให้เห็นถึงการคำนึงถึงอัตลักษณ์ ความเท่าเทียม และสิทธิของพวกเขามากขึ้น
ในจังหวัดยะลาและนราธิวาสนั้น ชื่อเรียก “โอรังอัสลี” “อัสลี” หรือ “จาไฮ” แปลว่า คนดั้งเดิม เจ้าของถิ่นเดิม เป็นชื่อที่ใช้เรียกตัวเอง รวมทั้งเป็นชื่อที่ต้องการให้คนนอกเรียกพวกเขาเพื่อแสดงถึงการให้เกียรติ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ซาไก, เซมัง, เงาะป่า, โอรัง อัสลี, นิกริโต, ชอง, มอส, ตอนกา
“ซาไก (Sakai)” เป็นคำเรียกชาวมานิในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย คำดังกล่าวมีความหมายแตกต่างกันตามบริบทพื้นที่ ในบริบทสังคมไทย คำว่า “ซาไก” ว่ามาจากคำว่า “สะแก” ในภาษามลายูถิ่นไทย ให้ความหมายไว้ว่า แข็งแรง ป่าเถื่อน (ไพบูรณ์ ดวงจันทร์ (2523) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลนิกริโต ส่วนคนไทยจะรู้จักและให้ความหมายว่า เป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตแบบหาของป่า ล่าสัตว์ ในภาคใต้ของไทยบริเวณจังหวัด ตรัง พัทลุง สตูล ยะลาและนราธิวาส หรือเรียกอีกอย่างว่า “เงาะป่าซาไก” คำว่า ซาไก เป็นคำที่ชาวไทยมุสลิมใน จังหวัดยะลาเรียกกลุ่มชนดังกล่าวที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านซาไก ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
ต่อมาคำดังกล่าวเป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายและหมายรวมถึงกลุ่มชนเดียวกันในเขตเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง พัทลุง และสตูล กลุ่มชนที่ถูกเรียกว่า ซาไก ในจังหวัดยะลานั้นเข้าใจและรู้ความหมายของคำว่า “ซาไก” ว่าเป็นภาษามลายูแปลว่า ทาส ในขณะที่กลุ่มชนที่ถูกเรียกว่า ซาไก ในเขตเทือกเขาบรรทัดนั้น ไม่เข้าใจความหมายและไม่เข้าใจว่าทำไมคนภายนอกถึงเรียกพวกตนว่า “ซาไก” เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากซาไกในจังหวัดยะลากับซาไกในจังหวัดตรัง สตูลและพัทลุง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ซาไกในจังหวัดยะลาและนราธิวาสนั้นอยู่ในเขตป่าของเทือกเขาสันกาลาคีรีที่เป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตแดนไทยและมาเลเซียและทอดยาวเข้าไปในประเทศมาเลเซีย บริบทแวดล้อมทางวัฒนธรรมของซาไกในจังหวัดยะลาและนราธิวาสเป็นกลุ่มวัฒนธรรมมุสลิมและพูดภาษามลายูถิ่น ทำให้ซาไกในเขตที่ถูกแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมดังกล่าวเข้าใจและสามารถพูดภาษามลายูได้ แตกต่างกับกลุ่มชนที่ถูกเรียกว่าซาไกในเขตเทือกเขาบรรทัดที่บริบทแวดล้อมทางวัฒนธรรมเป็นชาวไทยพุทธที่พูดภาษาไทยถิ่นใต้ ทำให้ซาไกในเขตเทือกเขาบรรทัดไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ซาไก” ตามความหมายดังกล่าว (อิสระ ชูศรี และคณะ, 2555) นอกจากนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ (2535) ได้กล่าวถึง“ซาไก” ในภาษามลายู แปลว่า ไพร่เมืองขึ้น หรือ ชนผู้อยู่ใต้ปกครอง ทั้งนี้ เนื่องจากซาไกเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในมลายู เมื่อมลายูครอบครองดินแดนแถบนี้ จึงทำให้ซาไกตกเป็นไพร่ใต้อำนาจการปกครอง
ในบริบทสังคมของมาเลเซีย คำว่า “ซาไก” หมายถึง พวก “ซีนอย” หรือ “เซนอย” (Senoi) ส่วนคำว่า“ซาไก” เป็นภาษามลายู แปลว่า ทาสหรือผู้รับใช้ (slaves or serve) (Roger Blench and Mallam Dendo, 2006) คำนี้ชาวมลายูใช้เรียกชนพื้นเมืองกลุ่ม “ซีนอย” เป็นพวกมองโกลอยด์ กล่าวคือ
เป็นคนผิวเหลืองเช่นเดียวกับคนกลุ่มใหญ่ในเอเชีย เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาชนพื้นเมืองสามกลุ่มในมาเลเซียอาศัยอยู่ในป่าตอนกลางของประเทศมาเลเซีย ชาวซีนอยนี้เป็นกลุ่มที่มีระบบวัฒนธรรมที่เจริญและซับซ้อนกว่าชนพื้นเมืองนิกริโตและโปรโต-มาเลย์ นักวิชาการเชื่อว่า คนกลุ่มนี้อาจมีความสัมพันธ์หรือเป็นเจ้าของวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์สมัยโฮบิเนียน (Hoabinian) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่กระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน (Roger Blench, 2006) ซีนอย เป็นกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาสู่คาบสมุทรมลายูเมื่อหลายพันปีก่อน และได้ปะทะสังสรรค์กับนิกริโตที่ได้เข้ามาอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อนแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างซีนอยกับนิกริโตไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์
นอกจากภาษาทั้งสองกลุ่มชน ที่นักภาษาศาสตร์จัดให้อยู่ในสาขาและตระกูลเดียวกัน นอกจากนี้ภาพเขียนสีที่ถ้ำ Tambun cave รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของนิกริโตในยุคแรก ๆ แสดงภาพการใช้ธนูเป็นอาวุธ นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า เดิมทีนิกริโตอาจใช้ธนูเป็นอาวุธหลักในการล่าสัตว์ เช่นเดียวกับนิกริโตกลุ่มเอตาหรืออักตา (Aeta, Agta) ในประเทศฟิลิปปินส์ และกลุ่มจาวารา (Jawara Tribes) ในมหาสมุทรอินเดีย แต่ได้รับถ่ายทอดกระบอกไม้ซางกับลูกดอกอาบยาพิษที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในขณะนั้นจากพวกซีนอย (Iskandar Carey, 1976; อิสระ ชูศรี และคณะ, 2555)
นอกจากนี้ คำว่า “ซาไก” ยังเป็นที่วิพากษ์ของนักวิชาการบางท่านเกี่ยวกับการใช้ชื่อเรียกให้ถูกต้องตามลักษณะกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้เริ่มต้นวิพากษ์ในประเด็นนี้ คือ บุญเสริม ฤทธาภิรมย์ (2557) ได้มีความเห็นแย้งว่า “ชนเผ่าซาไก” ที่แท้จริงไม่มีในประเทศไทย แต่เป็นชาติพันธุ์ “ชนเผ่าเซมัง” ปัจจุบันผู้คนในประเทศสับสนเรื่องชื่อเรียกชาวพื้นเมือง “เงาะป่าหรือมานิ” ในภาคใต้ ทั้งหน่วยงานราชการและนักวิชาการบางคนเรียก “ซาไก” เป็นส่วนใหญ่ แม้แต่ในพจนานุกรม เอกสารทางราชการ สื่อสิ่งพิมพ์ บทความ และรายงานวิจัย ได้อธิบายว่า เงาะป่า มานิ และซาไก เป็นชื่อเรียกชนเผ่าเดียวกัน โดยบุญเสริม ฤทธาภิรมย์ (2557) ได้กล่าวถึงแหล่งอ้างอิงที่สรุปว่าในคาบสมุทรมลายูได้แบ่งกลุ่มเงาะออกเป็น 2 เผ่าพันธุ์ คือ แหล่งอ้างอิงแรกจากนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ คือ Walter William Skeat และ Charles Otto Blagden ได้เข้ามาอาศัยในแหลมมลายูช่วงปี พ.ศ. 2434-2442 และศึกษากลุ่มชนพื้นเมือง กล่าวถึง ชนเผ่าเซมัง จัดเป็นกลุ่มย่อยในตระกูลนิกริโต ส่วนชนเผ่าซาไก จัดเป็นพวกดราวิโด-ออสเตรเลียน แหล่งอ้างอิงที่สองจากกรมกิจการชาวพื้นเมืองของมาเลเซีย ได้จำแนกชาวพื้นเมือง คือ พวกนิกริโต (Negrito) และพวกซีนอยหรือเซนอย (Senoi) มีเชื้อสายมองโกลอยด์ ซึ่งซาไกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ และแหล่งอ้างอิงที่สาม จากราชบัณฑิตยสถานของไทย ได้อธิบายความหมายคำว่า เงาะ ไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 280 ความว่า…
“คนป่าพวกหนึ่ง รูปร่างต่ำเตี้ย ตัวดำ ผมหยิกอยู่ในตระกูลนิกริโต (Negrito) และตระกูลออสโตรเนเซียน (Austronesian) อยู่ในแหลมมลายู เรียกตัวเองว่า กอย ได้แก่ พวกเซมัง และซาไกหรือซีนอย โดยปริยายเรียกคนที่มีรูปร่างเช่นนั้น”
ดังนั้น ชนเผ่าซาไก คือ ชนเผ่าซีนอยอาศัยในมาเลเซียและจัดอยู่ในตระกูลออสโตรเนเชียน ส่วนชนเผ่าเซมัง คือ ชนเผ่ามานิที่พบในไทยและมาเลเซียอยู่ในตระกูลนิกริโต
“เซมัง (Semang)” หรือ “เซียมัง” เป็นภาษามลายู แปลว่า ลิงหรือค่างดำชนิดหนึ่ง จัดเป็นลิงไม่มีหางขนาดเล็ก (Apes) คำว่า “เซมัง” นี้เคยมีใช้อยู่ในประเทศมาเลเซียเท่านั้น คำนี้ปรากฏในเอกสารวิชาการครั้งแรกโดย Paul Joachim Schebesta นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรีย ได้เข้ามาศึกษาชนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเรียกชนพื้นเมืองที่เป็นนิกริโตในมาเลเซียว่า “เซมัง” (Semang) ซึ่งต่อมาคำ ๆ นี้ก็เป็นที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป (Paul Schebesta, 1927) การที่ชาวมลายูเรียกคนกลุ่มนี้ว่า เซมังหรือเซียมัง โดยเปรียบเทียบว่าเป็นลิงหรือค่าง ดังความหมายข้างต้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดทั่วไปในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คนกลุ่มหนึ่งมักจะเรียกกลุ่มชนในลักษณะเหยียดกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่าตน ปัจจุบันคำว่าเซียมังนี้ได้เลิกใช้ในทางราชการไปแล้ว เนื่องจากความตระหนักและคุ้มครองในสิทธิเสรีภาพของรัฐบาลมาเลเซีย (อิสระ ชูศรี และคณะ, 2555)
“เงาะป่า (Nao-pa)” คำนี้ปรากฏในเอกสารครั้งแรกคือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่อง “สังข์ทอง” และยังวรรณคดีอีกเรื่องที่กล่าวถึง “เงาะป่า” เช่นกัน ก็คือเรื่อง “นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ได้กล่าวถึง “เงาะป่า” (กรมศิลปากร, กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2513) วรรณคดีเรื่องนี้เกี่ยวกับพระราชประเพณีในสมัยสุโขทัย แต่สันนิษฐานว่าน่าจะถูกแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2558) นอกจากนี้ เงาะป่า ยังเป็นชื่อบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ได้นำมานิคนแรกชื่อว่า คนัง เข้ามาอยู่ในพระราชวังและเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าว และในพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่านี้ มีคำว่า “ก็อย” เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกชื่อเงาะป่าปรากฏอยู่ด้วย (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2561) คำว่า “เงาะป่า” “เงาะ” “เงาะป่าซาไก” เป็นชื่อเรียกที่ชาวมานิไม่ชื่นชอบที่ถูกเรียก “เงาะ” ในความหมายของคนท้องถิ่นภาคใต้คือผลไม้ชนิดหนึ่ง ชื่อเรียกนี้มีที่มาจากพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่อง สังข์ทอง วรรณคดีเรื่อง“นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ได้กล่าวถึง “เงาะป่า” และเงาะป่า ยังเป็นชื่อบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5
สำหรับคำว่า “เงาะป่าหรือซาไก” ในความหมายของคนทั่วไป หมายถึง คนกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะร่างกายสันทัด ตัวเล็ก ตัวดำ หัวหยิก ตาโต ปากหนา มือเท้าใหญ่ เหตุผลที่ชาวใต้แถบจังหวัดพัทลุงและตรังเรียกกลุ่มชนเผ่านี้ว่า เงาะ เนื่องจากเป็นชื่อผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีขนอยู่รอบเปลือก ซึ่งมักจะเรียกว่า ลูกผมเงาะ เนื่องจากขนมีลักษณะขมวดหยิกหย็องคล้ายเส้นผมพวกเงาะป่าหรือชาวมานิ นอกจากนั้นมีการนิยามให้ความหมายว่าเป็น คนโง่ เนื้อตัวสกปรก เป็นคนป่าเถื่อนดังความหมายที่คนภายนอกพยายามสร้างให้ชนกลุ่มนี้ (บุญเสริม ฤทธาภิรมย์, 2557)
“โอรัง อัสลี (Orang Asli)” เป็นภาษามลายู มาจากคำว่า โอรัง (Orang) แปลว่า “คน” (Human) กับ อัสลี (Asli) แปลว่า “พื้นเมือง” (Origin) ในความหมายของโอรัง อัสลี หมายถึง “ชนเมืองดั้งเดิม”
ในประเทศมาเลเซีย มีโอรังอัสลี 3 กลุ่ม ได้แก่ นิกริโต (Negritos) ซีนอย (Senoi) และโปรโตมาเลย์ (Proto-Malay) ในประเทศมาเลเซีย โอรัง อัสลี หรือชนพื้นเมืองดั้งเดิม ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้อพยพเข้ามาสู่คาบสมุทรมลายู และเชื่อว่า ชนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นบรรพบุรุษของชาวมลายูด้วย ซึ่งในประเทศมาเลเซีย มีการศึกษาชนพื้นเมืองในด้านต่าง ๆ มายาวนาน ตั้งแต่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ รัฐบาลมาเลเซียจึงสามารถใช้งานศึกษาวิจัยทั้งหลายเหล่านั้นเป็นพื้นฐานในการดูแลจัดการชนพื้นเมืองอย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ดังนั้น คำว่า โอรังอัสลี นี้กลุ่มนักวิชาการต่าง ๆ ที่เข้ามาศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในมาเลเซียจึงใช้คำนี้เรียกกลุ่มดังกล่าว รวมถึงกลุ่มโอรัง อัสลีที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลาและนราธิวาสของประเทศไทยด้วย
“นิกริโต (Nigrito)” เป็นภาษาสเปน (Nigro – itos) แปลว่า นิโกรเล็ก ในทางมานุษยวิทยาชาติพันธุ์ คำนี้มีความหมายที่กว้างมาก กลุ่มนิกริโตในทางวิชาการ หมายถึง กลุ่มคนที่มีเชื้อสายนิกรอยด์ คือ ผิวดำ
ผมหยิก ริมฝีปากหนา นิกริโตมีอีกชื่อหนึ่งคือ ปิกมี (Pygmy) พบอยู่ตั้งแต่ตะวันออกของแอฟริกา หมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย อินเดีย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะน้อยใหญ่ในทะเลแปซิฟิกตอนใต้ ทวีปออสเตรเลีย อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ ปัจจุบันนักโบราณคดียังถกเถียงกันถึงเรื่องถิ่นกำเนิดและที่มาที่ไปของนิกริโต ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อว่ากลุ่มนิกริโตกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลกเช่นกัน นอกจากจะเป็นคำที่ใช้ในทางวิชาการและบ่งบอกถึงลักษณะทางมานุษยวิทยาของกลุ่มชนดังกล่าวที่พบอยู่เกือบทุกทวีปแล้ว คำว่านิกริโต ยังเป็นคำที่ใช้ในภาษาราชการของมาเลเซียที่ใช้เรียกโอรัง อัสลี หรือชนพื้นเมือง ซึ่งภาษามลายูเดิมเรียกชนกลุ่มนี้ว่า เซมังหรือเซียมัง (อิสระ ชูศรี และคณะ, 2555) รวมถึงใช้เรียกกลุ่มนิกริโตในประเทศฟิลิปปินส์
“ชอง (Chong), มอส (Mos), ตอนกา (Tonga)” เป็นคำที่ใช้เรียกมานิของนักวิชาการต่างประเทศ สามคำนี้เป็นที่เข้าใจว่า หมายถึง นิกริโตในประเทศไทยบริเวณจังหวัดตรัง สตูล และพัทลุง โดย Paul Joachim Schebesta นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรียได้เดินทางเข้ามาศึกษากลุ่มชนหาของป่าล่าสัตว์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันคำนี้มีใช้และปรากฏอยู่ในงานวิชาการเท่านั้นและส่วนใหญ่จะถูกใช้โดยนักวิชาการชาวตะวันตก (Wilhelm Dupre, 1969) มีนักวิชาการไทยได้ตั้งข้อสังเกตจากการใช้ชื่อเรียกดังกล่าวของนักวิชาการต่างประเทศ โดยอิสระ ชูศรี และคณะ (2555) ได้อธิบายไว้น่าสนใจดังนี้.....
“เชเบสตา ได้เดินทางมาศึกษาเนกริโตในประเทศไทยที่ จังหวัดตรังและพัทลุง โดยเรียกกลุ่มชนดังกล่าวว่า Chong Mos และ Tonga จากนั้นเป็นต้นมา เอกสารต่าง ๆ ของผู้ศึกษาด้านมานุษยวิทยาในยุโรปที่กล่าวถึงเนกริโตในประเทศไทยมักจะใช้คำว่า Chong Mos และ Tonga ในความหมายถึงเนกริโตในประเทศไทยบริเวณ จังหวัดตรัง พัทลุงเท่านั้น แต่ที่มาและความหมายของคำทั้งสามนั้นไม่ปรากฏที่มาและความหมายของชื่อที่ใช้เรียกดังกล่าว แต่ในการศึกษาด้านโบราณคดีชาติพันธุ์ของ Ivor H. N. Evans นักโบราณคดีชาติพันธุ์ชาวอังกฤษได้เข้ามาศึกษาเนกริโตในประเทศไทยสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ในยุคไล่เลี่ยกันกับเชเบสตาสำรวจกลุ่มเนกริโตที่ จังหวัดตรังและพัทลุง และปรากฏคำว่า ชอง (Chong) โดยเรียก เนกริโตกลุ่มนี้ว่า เนกริโต ที่ช่อง (The Negritos of Chong) ตามที่ปรากฏในหนังสือ Papers on the Ethnology & Archaeology of the Malay Peninsula ของ Evans ได้กล่าวว่าเขาลงเรือที่เมืองกันตัง และเดินทางไปยัง Chong และ Na Wong ซึ่งทั้งสองคำนี้น่าจะหมายถึง ตำบล“ช่อง” อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง และ“บ้านนาวง” ที่ตั้งสำนักงานเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง บริเวณเทือกเขาบรรทัดที่ถนนสายตรัง-พัทลุงตัดผ่าน นอกจากนี้ John H. Brandt ได้เข้ามาสำรวจเนกริโตในประเทศไทย ก็ได้กล่าวถึงน้ำตก Ga-Chong ใกล้ ๆ กับถนนพัทลุง-ตรังที่ตัดผ่านเขาบรรทัด ก็คือ น้ำตกกะช่อง ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โดย Ivor Evans"
Tonga คำนี้ ไม่แน่ใจว่าอ่านออกเสียงอย่างไร แต่ John H. Brandt กล่าวว่า เนกริโตกลุ่มที่ Tonga นี้อยู่ในเขตอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง โดยกลุ่มนี้ John H. Brandt จัดว่าเป็นกลุ่ม semi-sedentary ก็คือกลุ่มกึ่งเร่ร่อนกึ่งตั้งถิ่นฐานถาวร มีหัวหน้ากลุ่มชื่อ สัง (Sang) ที่อยู่ของคนกลุ่มนี้ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตรจากหมู่บ้าน Lujangla น่าจะหมายถึง “โละจังกระ” ต.ตะโหมด อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง
จากข้อมูลดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่า หาก Chong ของอีแวน ตรงกับ Chong ของเชเบสตาและหมายถึงสถานที่เหมือนกัน (ไม่ได้หมายถึงชื่อเรียกกลุ่มชน) ดังนั้น คำว่า Mos ก็อาจจะหมายถึงสถานที่ที่มีเนกริโตอยู่เช่นเดียวกัน เพียงแต่ข้อมูลร่วมสมัยที่มีในอดีตเท่าที่มีอยู่ไม่สามารถสันนิษฐานชัดเจนว่า Mos หมายถึงสถานที่ใด แม้งานร่วมสมัยกันของ อีแวน ก็เรียก สถานที่ที่เนกริโตอาศัยอยู่ต่างจากของ เชเบสตา เช่น Kuan Mai Dam ตรงกับ “ควนไม้ดำ” หมู่ 11 ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรังในปัจจุบัน Yong Setar ก็คือ อำเภอ “หยงสตาร์” (ปัจจุบันมีฐานะเป็นตำบล), Khao Nam Tow ตรงกับ “เขาน้ำเต้า” ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวก็ยังมีเนกริโตอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ยกเว้นที่หยงสตาร์เท่านั้น...”
ดังนั้นคำว่า Chong Mos และ Tonga นั้นมีใช้และปรากฏอยู่ในงานวิชาการเท่านั้นและส่วนใหญ่จะถูกใช้โดยนักวิชาการชาวตะวันตก คนไทยจะไม่ค่อยรู้จักคำนี้ แม้แต่ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดตรัง สตูล และพัทลุง ไม่ปรากฏว่ามีการใช้คำนี้ในการเรียกกลุ่มคนดังกล่าว
หน่วยงานราชการไทยในอดีตเรียกชาวมานิว่า “ซาไก” จากการศึกษาของ บุญเสริม ฤทธาภิรมย์ (2557) ได้กล่าวว่า การใช้คำว่าซาไกในหน่วยงานราชการไทยมีจุดเริ่มต้นมาจากเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย เรียกตามชาวบ้านที่ใกล้ชิดและสัมพันธ์กับชาวมานิแถบจังหวัดยะลา ต่อมา
ไพบูลย์ ดวงจันทร์ ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับซาไก ได้อธิบายองค์ความรู้เรื่องซาไกไว้ในสารานุกรมภาคใต้จนเป็นที่แพร่หลาย หากพิจารณาตามหลักวิชาการแล้ว องค์ความรู้เรื่องเงาะป่าภาคใต้ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับราชบัณฑิตยสถาน และเอกสารทางวิชาการของต่างประเทศ ข้อมูลในประเด็นนี้ บุญเสริม ฤทธาภิรมย์ (2557) ได้มีความเห็นว่า หากมองตามลักษณะกลุ่มชาติพันธุ์ “ชนเผ่าซาไก” ที่แท้จริงไม่มีในประเทศไทย แต่เป็นชาติพันธุ์ “ชนเผ่าเซมัง” ซึ่งจัดเป็นกลุ่มย่อยในตระกูลนิกริโต ส่วนชนเผ่าซาไกจัดเป็นพวกดราวิโด-ออสเตรเลียน หรือพวกซีนอยหรือเซนอย (Senoi) ปัจจุบันหน่วยงานราชการในไทยเริ่มใช้ชื่อเรียกว่า “มานิมันนิ และโอรังอัสลี” มากขึ้นเพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนถึงความต้องการและมุมมองของชาวมานิรวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้
คนทั่วไปเรียกชาวมานิในหลากหลายชื่อ ได้แก่ เงาะ ซาไก มานิ มันนิ และชาวป่าหรือคนป่า ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อที่ถูกเรียกจากคนภายนอกตามแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ เช่น แถบจังหวัดพัทลุง เรียกว่า เงาะหรือเงาะป่า แถบจังหวัดตรังบางคนเรียกว่า “ไอ้เกลอ” หมายถึง เพื่อนที่ค่อนข้างสนิทสนมกัน ส่วนในจังหวัดสตูล ชาวบ้านจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ชาวป่าหรือคนป่า” และ “ไอ้ถ้าว” หรือ “เฒ่า” มีความหมายว่า เพื่อนที่สนิทสนมคุ้นเคยกัน สำหรับจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ชาวไทยมุสลิม เรียกว่า “ซาแก” แปลว่า แข็งแรงหรือป่าเถื่อน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ชอบอาศัยอยู่ตามป่า มีความทรหดอดทน แข็งแรง เป็นลักษณะประจำตัว แต่ชาวไทยพุทธได้เรียกเพี้ยนไปเป็น “ซาไก” และปัจจุบันเรียกกันว่า “โอรังอัสลี” “อัสลี” หรือ “บูกิต” กันมากขึ้น
ภาษา
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษามานิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในกลุ่มประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดอยู่ในกลุ่มภาษาอัสเลียน (Aslian Languages) สาขาภาษามอญ-เขมรใต้ (Mon-Khmer language branch) มีต้นตระกูลมาจากออสโตร-เอเชียติค (Austro-Asiatic language family) (ไพบูลย์ ดวงจันทร์, 2523 และสุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ, 2534) ซึ่งเป็นตระกูลภาษาดั้งเดิมในดินแดนแถบนี้ ภาษาของมานิแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน แต่มีภาษาในกลุ่มย่อยเดียวกันที่มีความใกล้เคียง โดยเฉพาะกลุ่มภาษาอัสเลียนเหนือ (Northern Aslian Languages) จะพบในภาคใต้ของประเทศไทยและตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มมานิที่พูดภาษาอัสเลียนเหนือ 4 ภาษาย่อยด้วยกัน ได้แก่ Kensiw, Kintaq, Jahai และ Ten’en (Dunn et al., 2011; Benjamin, 2012) สำหรับ 3 กลุ่มแรกยังอาศัยเร่ร่อนอยู่ตามแนวชายแดนไทยกับมาเลเซียในจังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาสบริเวณรัฐเปรัก กลันตัน และเคดาห์ จึงปรากฏกลุ่มภาษาอยู่ในทั้ง 2 ประเทศ แต่สำหรับกลุ่มภาษา Ten’en พบเฉพาะบริเวณเทือกเขาบรรทัดในประเทศไทยเท่านั้น
ภาษาของชาวมานิในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มภาษาย่อย (ไพบูลย์ ดวงจันทร์, 2523 และเสาวนีย์ พากเพียร, 2532) ได้แก่
1) กลุ่มแต็นแอ็น ใช้ภาษาแต็นแอ็น มีถิ่นฐานอยู่แถบจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล และสงขลา
2) กลุ่มกันซิว ใช้ภาษากันซิว มีถิ่นฐานอยู่แถบอำเภอธารโต จังหวัดยะลา
3) กลุ่มแตะเด๊ะ ใช้ภาษาแตะเด๊ะ มีถิ่นฐานอยู่แถบอำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
4) กลุ่มยะฮาย ใช้ภาษายะฮายหรือจาไฮ มีถิ่นฐานอยู่แถบอำเภอแว้งและอำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส
มิติทางภาษาของชาวมานิในประเทศไทย (มณีรัตน์ โชติกกำธรและพุทธชาด ธ.โปธิบาล, 2537 ; ชุมพล โพธิสาร และภัทราพันธ์ อุดมศรี, 2560) ประกอบด้วย
ระบบเสียงของภาษาชาวมานิเทียบกับภาษาไทย ซึ่งระบบเสียงภาษามานิ (จังหวัดสตูล) มีหน่วยเสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว 22 หน่วยเสียง ได้แก่ ก (k) กฺ (g) ค (kh)ฆ (Ɣ) ง (ŋ) จ (c) ช (ch) ฌ (ɕ) ญ (ɲ) ด (d) ต (t) ท (th) น (n)บ (b) ป (p) พ (w) ม (m) ย (j) ล (l) ว (w) อ (ʔ) ฮ (h) เช่น บูวะ = ลม, ปะลิก = ค้างคาว, ตัมบัง = หน่อไม้ เป็นต้น
หน่วยเสียงพยัญชนะควบกล้ำที่ปรากฏในภาษามานิมี 4 หน่วยเสียง ได้แก่ กล (kl) คว (khw) บล (bl) ปล (pl)
พยัญชนะท้ายที่แสดงลักษณะของภาษากลุ่มมอญ-เขมร มีจำนวนเสียงพยัญชนะสะกดมากถึง 13 หน่วยเสียง ได้แก่ ก (k) ง (ŋ) จ (c) ฌ (ɕ) ญ (ɲ) ด (t) น (n) บ (p) ม (m) ย (j) ว (w) อ (ʔ) ฮ (h) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พยัญชนะสะกด จ (c) ฌ (ɕ) ญ (ɲ) และ ฮ (h) ตัวอย่างเช่น บาจ = ขุด, เอเยฌ = รากแก้ว, ฮาญ = ปาก, ละแบะฮ = ปล้อง (ไม้ไผ่), มอฮ = จมูก เป็นต้น
สระเดี่ยว ได้แก่ อา (a) อี (i) อือ (ɯ) อู (u) เอ (e) แอ (ɛ) โอ (o) ออ (ɔ) เออ (ə) ภาษามานิมีการออกเสียงสระสั้นและยาว แต่ ก็ไม่มีบทบาทในการจำแนกความหมายของคำสระประสม ได้แก่ เอีย (ia) เอือ (ɯa) อัว (ua) อิ-เอ (ie) อิ-แอ (iɛ) นอกจากนี้สระในภาษามานิ ยังมีลักษณะที่เป็นสระนาสิก (สระที่ออกเสียงขึ้นจมูก) อีกด้วย และไม่มีระดับเสียงวรรณยุกต์ที่ใช้จำแนกความหมายของคำ
การออกเสียง สำหรับคำที่มีสองพยางค์ คนมานิเวลาออกเสียงจะเน้นนำหนักของพยางค์ที่สอง เช่น จะกฺง = แบก, บะเตว = น้ำ, บิแลฮ = ใส่, อัมบืง = เห่า, ฮันแดง = รู, มะเลง = ป่าทึบหรือป่าดงดิบ เป็นต้น
การเรียงคำในประโยคมีลักษณะเรียงตามรูปแบบ ประธาน-กริยา-กรรม เช่น นะ ฮาว ตะกบ <แม่-กิน-หัวมันป่า> = แม่กินหัวมันป่า ประโยคปฏิเสธ เช่น อิง เอยบะ แดง ตะเอาะ <ฉัน-ไม่-เห็น-เสือ> = ฉันไม่เห็นเสือ
ภาษามานิมีลักษณะทางภาษาที่มีเสียงพยัญชนะท้ายเป็นเสียงกักที่มีเส้นเสียงเป็นจำนวนมาก และในภาษามานิไม่มีคำด่า หรือคำพูดหยาบคาย และไม่มีคำที่แสดงถึงชนชั้นทางสังคม
ภาษาพูด : มานิ
ชาวมานิมีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน เป็นภาษาคำโดด ไม่มีการเปลี่ยนรูปคำเมื่อนำไปเข้าประโยค ข้อมูลจากหนังสือพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 เรื่อง เงาะป่า ระบุว่า ภาษาพูดของเงาะป่าเป็นภาษาก็อยแท้มีคำใช้น้อย หางเสียงคล้ายภาษาอังกฤษและเยอรมัน แต่ไม่ครบทุกสำเนียง ระบบเสียงมีเฉพาะหน่วยเสียงสระกับหน่วยเสียงพยัญชนะ ทำนองเสียงสูงต่ำไม่ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนแปลงคำมูลเดิม เมื่อเข้าประโยคก็ใช้ตามนั้น โดยเรียงประธาน-กริยา-กรรม ตามลำดับ (วันเฉลิม จันทรากุล, 2544) สำหรับคำศัพท์ของชาวมานิประกอบไปด้วยคำเรียกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากที่สุด เช่น คำเรียกพืช สัตว์ สิ่งแวดล้อมโดยรอบ อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายภายนอก รวมทั้งกริยาที่ใช้เป็นประจำ คำเรียกตัวเลขมีเพียง 1-4 ส่วนที่เกินจากนั้นในภาษากันซิวใช้คำว่า “แบม” ที่แปลว่า มาก ในการศึกษาเกี่ยวกับชาวมานิจึงไม่สามารถระบุอายุหรือวันเดือนปีต่าง ๆ ได้ (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2536 และ Wnuk and Burenhult, 2014) นอกจากนี้ชื่อที่ใช้เรียกบุคคลของชาวมานิ ในอดีตจะมีชื่อเรียกซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับพืชและต้นไม้ในป่า เช่น เฒ่าเส็น ชื่อมานิ คือ “ก๊ะฮา” หมายถึง ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ซึ่งเรียกกันว่า “ยาฮุก๊ะฮา” (แช ศรีมะนัง สัมภาษณ์ 2 มกราคม 2563 มานิกลุ่มถ้ำภูผาเพชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล)
นอกจากนี้มีการยืมคำศัพท์มาผสมกับภาษาพูดของตนเองทั้งภาษาไทยถิ่นใต้ โดยเฉพาะกลุ่มภาษาแต็นแอ็นแถบจังหวัดสตูล ตรัง สงขลา และพัทลุง ได้สัมพันธ์กับกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยถิ่นใต้จึงรับคำศัพท์ไปจากภาษาไทยถิ่นใต้ ส่วนกลุ่มภาษากันซิวแถบอำเภอธารโต จังหวัดยะลา และกลุ่มภาษาแตะเด๊ะและยะฮาย แถบจังหวัดนราธิวาสได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่พูดภาษามลายูและยังรับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยผ่านทางภาษามาลายูหรือมาเลย์มาด้วย จะเห็นได้ว่าการยืมคำศัพท์จากภายนอกกลุ่มมาใช้เป็นวัฒนธรรมด้านภาษาที่เกิดจากการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มคนภายนอกทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมและชาวมาเลเซีย ดังนั้นการยืมคำศัพท์ที่เป็นวัฒนธรรมใหม่มาใช้เป็นภาษาของตนเองแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มคนในบริเวณดังกล่าวมาช้านาน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของชาวมานิที่ต้องสัมพันธ์และพึ่งพากับคนภายนอกมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อภาษาของตนเองได้ในอนาคต ภาษามานิเป็นภาษาที่นักภาษาศาสตร์จัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาในภาวะวิกฤติภาษาหนึ่ง เนื่องจากมีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียนทำให้มีแนวโน้มว่าภาษาเก่าอาจสูญหายในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มภาษาแต็นแอ็นบริเวณแถบจังหวัดสตูล ตรัง สงขลา และพัทลุง มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะอาศัยแยกออกจากกลุ่มภาษาอัสเลียนด้วยกัน
ตัวอักษรที่ใช้เขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน
กลุ่มภาษามานิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียนหรือจดบันทึกเป็นภาษาของตนเอง ขณะที่กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวรแล้วนั้น เด็กเริ่มเข้าสู่ระบบโรงเรียน เรียนรู้ภาษาและอักษรไทย
สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่า
การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวประชากร :
ชาติพันธุ์มานิจัดอยู่ในเชื้อสายนิกริโต (Negrito) กลุ่มย่อยของนิกรอยด์ (Negroid) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา แบ่งกลุ่มนิกริโตออกเป็น 2 พวกคือ 1) พวกอัฟริกันนิกรอยด์ (African Negroid) เป็นนิกริโตที่อาศัยอยู่ในแถบทวีป แอฟริกา และ 2) พวกโอเชียนิคนิกรอยด์ (Oceanic Negroid) เป็นนิกริโตลูกผสมระหว่างพวกมองโกลอยด์ (Mongoloid) ออสตราลอยด์ (Australoid) และนิกรอยด์ (Negroid) ซึ่งมานิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดว่าเป็นกลุ่มโอเชียนิคนิกรอยด์ ได้อาศัยกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ได้แก่ บริเวณภาคใต้ของไทยในเขตจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา นราธิวาส ภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะในประเทศฟิลิปปินส์ ลักษณะการตั้งถิ่นฐานทำให้เกิดการผสมผสานกับกลุ่มมองโกลอยด์ (Mongoloid) และออสเตรลอยด์ (Australoid) (Brandt, 1961 และวันเฉลิม จันทรากุล, 2544) กลุ่มชาติพันธุ์มานิในงานเขียนครั้งนี้จึงเป็นตัวแทนของกลุ่มนิกริโตที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในประเทศไทย 2 กลุ่มใหญ่ คือ มานิและโอรังอัสลี (กันซิวและจาไฮ) คาบสมุทรมลายูตอนบนของประเทศมาเลเซีย 6 กลุ่ม ได้แก่ กันซิว (Kensiw) คินตัค (Kintaq) จาไฮ (Jahai) เมนริก (Menriq) บาตั๊ก (Batek) และลาโนฮ์ (Lanoh) รวมถึงหมู่เกาะในประเทศฟิลิปปินส์ 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ อายตา (Aeta) อติ (Ati) บาตัก (Batak) และมาแมนวะ (Mamanwa)
การสำรวจประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มานิในประเทศไทยมีการสำรวจในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนให้ชาวมานิสามารถเข้าถึงสถานะบุคคล อย่างไรก็ตามจากข้อมูล ปี พ.ศ. 2563 การดำเนินการสำรวจยังไม่เเล้วเสร็จ เนื่องจากมีชาวมานิบางส่วนมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างกลุ่มและการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนไทยและมาเลเซีย เงื่อนไขข้างต้นจึงเป็นข้อจำกัดในการสำรวจจำนวนประชากรชาวมานิ
สถานการณ์ด้านประชากรของชาติพันธุ์มานิในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมานิบริเวณเทือกเขาบรรทัด เนื่องจากยังใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมและไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ยังไม่มีการวางแผนคุมกำเนิดรวมถึงการวางแผนครอบครัว ทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้น และอัตราการตายลดลงเมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากปัจจุบันชาวมานิส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐได้มากขึ้น ในด้านการแต่งงาน ชาวมานิมีโอกาสค่อนข้างจำกัดในการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มานิในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มานิสูงกว่าในประเทศไทย
จากการสำรวจและจับพิกัด (GPS) การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์มานิบริเวณเทือกเขาบรรทัดระหว่างปี พ.ศ. 2561-2563 และข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของชาติพันธุ์มานิ-โอรังอัสลีในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาสได้ข้อมูลกลุ่มและการตั้งถิ่นฐาน (บัณฑิต ไกรวิจิตรและคณะ,2562) โดยมีรายละเอียดดังตารางแหล่งข้อมูล
ผู้เรียบเรียงข้อมูล :
ผศ.นฤมล ขุนวีช่วย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร, กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (2513). นางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร: ศิลปาบรรณาการ.
กุลนภา ฟู่เจริญ. (2540). บีตาโกลบินยีนแฮพโพลไทป์และดีเอ็นเอโพลิมอร์ฟิส์มของไมโตคอนเดรียในชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
เกศริน มณีนูน และพวงเพ็ญ ศิริรักษ์. (2546). ซาไก ชนกลุ่มน้อยภาคใต้ของไทย. กรุงเทพฯ:โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮาส์.
เกศริน มณีนูน. (2544). พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชนเผ่าซาไกในจังหวัดตรัง พัทลุง และยะลา. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพฤกษศาสตร์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
จิตร ภูมิศักดิ์. (2535). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ : ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.
จิราวดี อ่อนวงศ์. (2534). การสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของสังคมซาไก ศึกษาเฉพาะกรณี ซาไกกลุ่มเจ้าพะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง. สารนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2561). เงาะป่า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.
ฉัตรวรรณ พลเพชร. (2557). การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตด้านปัจจัยพื้นฐานอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ: กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ซาไก อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาประยุกต์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ชาตรี พรหมสมบัติ และคณะ. (2553). ซาไกแห่งเทือกเขาบรรทัดในชุมชนวังสายทอง : การปรับตัวของเจ้าแห่งพงไพรในวิถีทุน. ในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. เอกสารอัดสำเนา.
ชิน อยู่ดี. (2512). คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. พระนคร: สำหนักพิมพ์อักษรบัณฑิต.
ชุมพร โพธิสาร และภัทราพันธ์ อุดมศรี. (2560). ภาษามานิ (ซาไก). วารสารวัฒนธรรม. 56(4) ตุลาคม-ธันวาคม 2560. 70-77.
เชิญขวัญ ภุชฌงค์. (2549). การสื่อสารของกลุ่มซาไกที่ย้ายถิ่นฐานมาสู่ชุมชนเมืองในการปรับตัวและการแสดงอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ญิบ พันจันทร์. (2536). ชีวิตดั่งฝันที่เทือกเขาบรรทัด. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศิลปะวรรณกรรม.
ทยา เตชะเสน์. (2553). ดนตรีซาไก กรณีศึกษาตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรีชาติพันธุ์วิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
บัณฑิต ไกรวิจิตร และคณะ. (2562). ชาวโอรังอัสลี ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 92 ตอนที่ 181 ลงวันที่ 4 กันยายน 2518.
ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2523). ซาไก เจ้าแห่งขุนเขาและสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.
ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2541). คำและประโยคในภาษาซาไก. วารสารมนุษยศาสตร์ปริทรรศน์. ปีที่ 20 (2541) หน้า 47-61.
ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2545). ภาษาซาไก: ภาษาที่กำลังจะสูญหาย. ค้นเมื่อ กันยายน 5, 2560, จาก http://kids-d.swu.ac.th/dspace/bitstream/123456789...
ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2547). “ซาไก” โครงการวิจัยแผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้: ฐานเศรษฐกิจและทุนวัฒนธรรม. สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ.
ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2548). “ซาไก: แหล่งอาศัยและวิถีชีวิต,” ใน โครงการแผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้: ฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม. ทุนสนับสนุนโดยสํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
มณีรัตน์ โชติกกำธร และพุทธชาด ธ.โปธิบาล. (2537). ความแตกต่างระหว่างภาษาซาไกกับภาษาไทย: ระบบเสียง. วารสารสงขลานครินทร์. 1(1) กันยายน – ธันวาคม 2537.
เยาวลักษณ์ วิลัย. (2538). ลักษณะแฮปโพลไทป์ของยีนบีตาอี-โกลบินในชนเผ่าซาไกและชาวชอง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
รตพร ปัทมเจริญ. (2554). ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อกลุ่มชาติพันธุ์: กรณีเปรียบเทียบมอแกนกับซาไก. วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 17(3) พ.ค. - มิ.ย. 2554.
วัชรินทร์ ดำรงกูล และปัตติกาญจน์ บรรดาศักดิ์. (2553). รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางการจัดการกลับคืนถิ่นชนเผ่าซาไก : กรณีศึกษา ซาไกตระกูลศรีธารโต. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
วันเฉลิม จันทรากุล. (2544). เงาะป่า-ซาไก นิเชาเมืองไทย ชนป่าที่กำลังสูญสลาย. กรุงเทพมหานคร: ดวงกมลสมัย.
วิสา เสกธีระ. (2557). การตั้งถิ่นฐานและที่อยู่อาศัยของชาวมันนิ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วีรวัฒน์ สุขวราห์. (2539). พฤติกรรมสุขภาพของชาวซาไก กรณีศึกษาบ้านซาไก ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2558). ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ. (2534). รายงานเบื้องต้นการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่, ถ้ำซาไก จ.ตรัง และการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีชนกลุ่มน้อยซาไก จ.ตรัง. กรุงเทพมหานคร: โครงการวิจัยวัฒนธรรมโหบินเนียนในประเทศไทย.
สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ. (2541). “ผลวิเคราะห์ข้อมูลชาติพันธุ์วิทยา “ซาไก” ทางโบราณคดี” ใน สรุปผลการสัมมนาทางวิชาการระดับชาติเรื่อง เงาะป่า ของกรมศิลปากร. หน้า 95-165 กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
สุวัฒน์ ทองหอม. (2536). เงาะ ชนผู้อยู่ป่า ชาติพันธุ์มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่ยังเหลืออยู่. ตรัง: ทันเวลา.
สุวัฒน์ ทองหอม. (2544). การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชนเผ่าซาไกจังหวัดตรัง หลังจากการประกาศใช้นโยบายใต้ร่มเย็น. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา, มหาวิทยาลัยทักษิณ.
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และชุมพล โพธิสาร. (2558). มานิ (ซาไก) ชนพื้นเมืองในภาคใต้ของไทย. วารสารดำรงวิชาการ. 33-36.
เสาวนีย์ พากเพียร. (2532). การศึกษาระบบเสียงภาษาซาไกแต็นแอ๊น ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
หฤทัย ฟ้าแสงสรรค์. (2554). ดนตรีชนเผ่าโอรังอัสรี กรณีศึกษาหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 10 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา. ปริญญานิพนธ์ ศป.ม. (มานุษยดุริยางควิทยา) กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
อนงค์ เชาวนะกิจ. (2552). กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ (ซาไก) : แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูสังคมวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมภาคใต้. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2536). การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศกับสังคมและวัฒนธรรมของซาไก: กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ซาไกกลุ่มเหนือคลองตง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
อิสระ ชูศรี และคณะ. (2555). โครงการวิจัยการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนหาของป่า-ล่าสัตว์ในประเทศไทย. นครปฐม: ศูนย์ศึกษาและฟื้นหูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
Albrecht, G., Moser, J. (1998). Recent Mani Settlements in Satun Province, Southern Thailand. Journal of the Siam Society, Vol. 86, Parts 1 & 2.
Balilla, Vincent S., Anwar McHenry, Julia, McHenry, Mark P., Parkinson, Riva Marris and Banal, Danilo T. (2013). "Indigenous Aeta Magbukún Self-Identity, Sociopolitical Structures, and Self-Determination at the Local Level in the Philippines". Journal of Anthropology. 2013: 1–6.
Benjamin, G. (2012). The Aslian languages of Malaysia and Thailand: an assessment. In Stuart McGill & Peter K. Austin (eds). Language Documentation and Description, vol 11. London: SOAS. pp. 136-230.
Benjamin, G. (2013). Why Have the Peninsular “Negritos” Remained Distinct? Human Biology, February–June 2013, v. 85, no. 1–3, pp. 445–484.
Blench, Roger and Dendo, Mallam. (2006). Why are Aslain-speakers Austronesian in culture? paper presented at the Preparatory meeting for ICAL-3, EFEO, SIEM REAP, 28-29th June 2006.
Dunn, M., Burenhult, N., Kruspe, N., Tufvesson, S., and Becker, N., Aslian linguistic prehistory A case study in computational phylogenetics. Diachronica 28:3 (2011), 291–323.
Endicott, K. (ed.) (2016). Introduction. In Endicott, K. (ed.), Malaysia’s Original People: Past, Present and Future of the Orang Asli. (pp.1-38). Singapore: NUS Press.
Griffin, P. Bion. (2001). "A Small Exhibit on the Agta and Their Future". American Anthropologist. 103 (2): 515–518.
Headland TN, Headland JD. (1997). Limitation of human rights, land exclusion, and tribal extinction. The Agta Negritos of the Philippines. Human Organization. 56:79–90.
Headland TN, Headland JD. (1998). Early (Mar 1, 1998). Population Dynamics of a Philippine Rain Forest People: The San Ildefonso Agta. University Press of Florida.
Hill, C., Soares, P., Mormina, M., Macaulay V., et al. (2006). Phylogeography and Ethnogenesis in Southeast Asia. Molecular Biology and Evolution, Volume 23, Issue 12, December 2006, Pages 2480–2491
Iskandar Carey. (1976). Orang Asli The Aboriginal Tribes of Peninsular Malaysia (Oxford University press, Kuala Lumpur: 1976) 73-74.
Evans, Ivor H. N. (1927). Papers on the Ethnology & Archaeology of the Malay Peninsula (Cambridge University: 1927)
Lukas. (2002). Can "They" save "Us", the Foragers? Indonesian and Thai Hunter-Gatherer Cultures under Threat from Outside. Paper in: “Asia-Europe Seminar on Ethnic Cultures Promotion”. 18-20 September 2001, Chiang Mai, Thailand.
Maneenoon, K., Sirirugsa, P., Sridith, K. (2008). Ethnobotany of Dioscorea L. (Dioscoreaceae), a Major Food Plant of the Sakai Tribe at Banthad Range, Peninsular Thailand. Ethnobotany Research & Applications. Vol 6 pp.385-394.
Nagata, S. (2006). Subgroup ‘names’ of the Sakai (Thailand) and the Semang (Malaysia): a literature survey. Anthropological Science. Vol. 114, 45–57.
National Statistics Office, (2010). Census of Population and Housing, Report No. 2A– Demographic and Housing Characteristics (Non-Sample Variables), Philippines.
Peterson, M.M. (2010). Notes on Borrowings Found in the Ta’edn (Tonga-Mos) and Kensiw Languages of Thailand. Notes. June, 2010.
Rattanakrajangsri, K., Maneerat, T. Colchester, M. (2013). The Mani people of Thailand on the agricultural frontier. Conflict or Consent? The oil palm sector at a crossroads. Indonesia.
Rai, Navin K. (1989). From forest to field: a study of Philippine Negrito foragers in transition (Thesis). Ann Arbor, Mich.: University Microfilms.
Razak, Tasnim. (2015). Distribution of HLA alleles in the semang and senoi orang asli populations in Peninsular Malaysia. Masters thesis, Universiti Sains Malaysia.
Reid, Lawrence A. (1994). "Possible Non-Austronesian Lexical Elements in Philippine Negrito Languages". Oceanic Linguistics. 33 (1): 37–72.
Schebesta P.R. (1927). The Negritos of the Malay peninsula. subdivisions and names. Man, 27: 89–94.
Wilhelm Dupre, Paul Joachim Schebesta. (1969). History of Religions vol. 8 No 3 (University of Chicago: 1969) 260.
Wnuk, E. (2016). Semantic specificity of perception verbs in Maniq. Semantic specificity in Maniq verbs of perception. Nijmegen: Radboud University dissertation.
Wnuk, E., Burenhult, N. (2014). Contact and isolation in hunter-gatherer language dynamics. Studies in Language 38:4 (2014), 956–981.
Wnuk, E., Majid, A. (2014). Revisiting the limits of language: The odor lexicon of Maniq. Cognition 131 (2014) 125–138.
โครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด. (2020). มานิ กับบ้านหลังใหญ่ (29 สิงหาคม 2020) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
โครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด. (2020). มานิ กับกำแพงภาพจำที่ต้องก้าวข้าม (29 สิงหาคม 2020) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
ทีวีบูรพา. (2009). คนค้นฅน : “เงาะป่า” คน ในโลกที่กาลเวลาไม่เคลื่อนไหว (1) (15 เมษายน 2009) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
ทีวีบูรพา. (2009). คนค้นฅน : “เงาะป่า” คน ในโลกที่กาลเวลาไม่เคลื่อนไหว (2) (22 เมษายน 2009) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
ทีวีบูรพา. (2009). คนค้นฅน : “เงาะป่า” คน ในโลกที่กาลเวลาไม่เคลื่อนไหว (3) (29 เมษายน 2009) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
ไทยพีบีเอส. (2015). ที่นี่บ้านเรา : "มันนิ" คนธรรมดาแห่งเทือกเขาบรรทัด (5 พฤศจิกายน 2015) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
ไทยพีบีเอส. (2017). เปิดปม : มานิ (ซาไก) ไร้รัฐ (19 ธันวาคม 2017) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
ไทยพีบีเอส. (2018). เปิดปม : หลังชนฝา มานิ(ซาไก) (31 มกราคม 2018) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
Sippachai Kunnuwong. (2013). สารคดีมานิ 2.0 –ซาไกในวันเปลี่ยนแปลง (13 ตุลาคม 2013). สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube
สัมภาษณ์ :
ไข่ ศรีมะนัง. สัมภาษณ์ 28 ธันวาคม 2562. ทับมานิกลุ่มวังสายทอง ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล.
แช ศรีมะนัง. สัมภาษณ์ 2 มกราคม 2563. มานิกลุ่มถ้ำภูผาเพชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล.
ต้อม รักษ์ป่าบอน. สัมภาษณ์ 4 มกราคม 2563. มันนิกลุ่มทุ่งนารี ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง.
ตุ้ย ศรีมะนัง. สัมภาษณ์ 1 มกราคม 2563. ทับมานิกลุ่มมานิภูผาเพชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล.
แป้น ศรีมะนัง สัมภาษณ์ 2 มกราคม 2563 มานิกลุ่มถ้ำภูผาเผชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :