เวียด

ชื่อเรียกตนเอง : เหวียตเกี่ยว, ไทยใหม่

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ญวน, แกว, คนไทยเชื้อสายเวียดนาม, เวียดนาม

ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน

ภาษาพูด : เวียดนาม

ภาษาเขียน : จื๋อฮ้าน

บทความฉบับเต็ม : ดาวน์โหลด

ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 21 ก.ค. 2566

484

ชาติพันธุ์เวียด หรือชาวเวียดนามในประเทศไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเสื้อสายมาจากชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงของประเทศจีนก่อนจะอพยพมายังแหลมอินโดจีนบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงทางฝั่งทะเลจีนเมื่อประมาณ พ.ศ.800 ในประเทศไทยมีการใช้ชื่อเรียกชาวเวียดนามแตกต่างกันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย อาทิ “ญวนเก่า” คือ ชาวเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทยช่วง พ.ศ.2474 “ญวนสวามิภักดิ์” คือ ชาวเวียดนามที่หนีฝรั่งเศสเข้ามาในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองและได้รับสัญชาติไทย “ญวนอพยพ” คือ ชาวเวียดนามกลุ่มใหญ่ที่สุดที่อพยพเข้ามาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ได้ปรากฏคำเรียกชาวเวียดนามว่า “แกว” ซึ่งแฝงไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์และนิยมเรียกกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ชาวเวียดนามจะมีคำเรียกตนเองว่า “เหวียตเกี่ยว” คำดังกล่าวใช้เรียกชาวเวียดนามอพยพหรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย “เหวียตกู๋” หรือชาวเวียดนามเก่า และ “ชาวเหวียตเหมย” ที่เป็นชาวเวียดนามอพยพปัจจุบันนิยมเรียกชาวเวียดนามว่า “ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม” ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการดูหมิ่นหรือดูแคลนทางชาติพันธุ์

ชาวเวียดนามกลุ่มแรกสันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่อยมาจนถึงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เงื่อนไขสำคัญที่ชาวเวียดนามกลุ่มแรกตัดสินใจอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเพราะต้องการลี้ภัยสงครามและการกดขี่ทางศาสนา ขณะเดียวกันมีบางกลุ่มถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลยสงคราม ชาวเวียดนามกลุ่มแรกส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคกลาง และมีบางส่วนอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับแม่น้ำโขง หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดและฝรั่งเศสกลับเข้ามามีอิทธิพลเหนืออินโดจีนอีกครั้ง ได้มีการอพยพครั้งใหญ่ราว 4-5 หมื่นคน ชาวเวียดนามกลุ่มนี้หนีการกวาดล้างของฝรั่งเศสจากเหตุการณ์ “วันท่าแขกแตก” ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะนั้นรัฐบาลไทยมีท่าทีที่เป็นมิตรต่อชาวเวียดนามอพยพเป็นอย่างมาก แต่หลังจาก พ.ศ.2490 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายจำกัดพื้นที่และบีบคั้นชาวเวียดนามอพยพอย่างรุนแรง ความเข้มงวดที่รัฐไทยมีต่อชาวเวียดนามเริ่มคลี่คลายลงในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทำให้ชาวเวียดนามอพยพในประเทศไทยทั้งหมดได้รับสัญชาติโดยปราศจากเงื่อนไข

ชาวเวียดนามในประเทศไทยยังคงดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนและมีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของท้องถิ่น แม้ว่าช่วงหนึ่งอัตลักษณ์บางอย่างจะขาดหายไปและไม่อาจส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้จากการถูกจับตาโดยรัฐ แต่ในปัจจุบัน ชาวเวียดนามสามารถแสดงอัตลักษณ์ได้อย่างเปิดเผยและมีชาวเวียดนามจำนวนไม่น้อยเข้ามามีบทบาทในท้องถิ่นมากขึ้น ปัจจุบัน มีชุมชนชาวเวียดนามกระจายตัวอยู่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี หนองคาย อุดรธานี และสกลนคร นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มอาศัยอยู่ที่ภาคใต้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และพัทลุง ที่ภาคกลางโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร นครนายก และมีบางส่วนอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว

ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

ชื่อเรียกตนเอง : เหวียตเกี่ยว, ไทยใหม่

เหวียตเกี่ยว (Viet Kieu) หมายถึง คนเวียดนามที่อยู่นอกประเทศเวียดนาม หรือคนเวียดนามอพยพ ไม่ว่าจะเดินทางออกนอกประเทศด้วยสาเหตุใด หรือช่วงเวลาใดก็ตาม สำหรับคนเวียดนามอพยพ หรือคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเมืองไทยเรียกรวมกันว่า เหวียตเกี่ยวในไทย หรือ “Viet Kieu Thai Lan” คำนี้ถูกใช้เรียกโดยคนเวียดนามทั้งในและนอกประเทศเวียดนาม รวมทั้งเป็นคำที่คนเวียดนามอพยพและคนไทยเชื้อสายเวียดนามใช้เรียกตัวเอง คำว่า “เหวียตเกี่ยว” มีความหมายไปในทางที่ดี ต่างจากคำว่า “คนญวน” (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2546) ชาวเหวียต เกี่ยว ในประเทศไทยประกอบด้วย ชาวเหวียตเกี่ยวเก่า (Viet kieu cu) หรือ เหวียตเก่า หรือ เหวียตกู๋ (Viet cu) และ ชาวเหวียต เกี่ยวใหม่ หรือ เหวียตเกี่ยวเหมย (Viet kieu moi) หรือ เหวียตเหมย (Viet moi) คำว่า เหวียตกู๋ และ เหวียตเหมย เป็นคำที่สังคมไทยโดยทั่วไปตลอดจนหน่วยงานราชการต่าง ๆ ไม่รู้จักคำนี้ (ธัญญาทิพย์ ศรีพนาและ Trinh Dieu Thin, 2548)

ไทยใหม่ เป็นคำที่ใช้เรียกกันเองในกลุ่มบุตรหลานคนเวียดนามอพยพที่ได้สัญชาติไทยหลังจากที่ไม่สามารถส่งกลับประเทศเวียดนามได้ และการออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 บังคับผู้บริสุทธิ์ที่เกิดเป็นบุตรหลานของชาวเวียดนามอพยพ และมิได้รับรู้ถึงการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของผู้ที่เป็นพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย แต่อย่างใด ดังนั้น จึงได้ออกพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 ให้แก่บุตรหลานคนเวียดนามอพยพซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทย ที่ต้องการถือสัญชาติไทยให้ยื่นคำร้องผ่านที่ว่าการอำเภอ และจังหวัดไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาสัญชาติไทยได้หลังจากนั้นจึงมีบุตรหลานของคนเวียดนามอพยพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมากได้สัญชาติไทย และนิยมเปลี่ยนชื่อ “แซ่” เป็นนามสกุลแบบไทย และเรียกบุตรหลานของชาวเวียดนามอพยพที่เกิดในเมืองไทยว่า “ไทยใหม่” (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 2, 2542; ศริญญา สุขรี, 2558)

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ญวน, แกว, คนไทยเชื้อสายเวียดนาม, เวียดนาม

ญวน เป็นคำที่คนไทยและหน่วยงานราชการไทยนิยมใช้เรียกชาวเวียดนามทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและอาจรวมถึงชาวเวียดนามในประเทศเวียดนามด้วย คำดังกล่าวปรากฏครั้งแรกในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีชุมชน หมู่บ้าน หรือค่ายของชาวเวียดนามปรากฏให้เห็นได้แล้วในสมัยอยุธยา ซึ่งอยู่ปะปนกับชุมชนหรือหมู่บ้านของชาวต่างชาติกลุ่มอื่น (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2546) คำว่า ญวน หรือ คนญวน ยังสามารถแบ่งได้เป็น “ญวนเก่า” และ “ญวนใหม่” หรือ “ญวนอพยพ” ทั้งสามคำเกิดขึ้นหลังจากการอพยพของชาวเวียดนามจากฝั่งลาวมายังฝั่งไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาวเวียดนามและช่วงเวลาของการเข้ามาในประเทศไทย กล่าวคือ ชาวเวียดนามอพยพที่เข้ามาในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองและมีสถานะทางกฎหมายเป็นผู้อพยพซึ่งถูกเรียกว่า “ญวนใหม่” หรือ “ญวนอพยพ” และชาวเวียดนามเก่าที่เข้ามาในประเทศไทยก่อนหน้านี้ หรือช่วงสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงถูกเรียกว่า “ญวนเก่า” (ธัญญาทิพย์ ศรีพนาและ Trinh Dieu Thin, 2548) อย่างไรก็ตาม คำว่า “คนญวน” มีนักวิชาการได้ให้ความเห็นว่ามีความหมายเชิงลบ ดูหมิ่น ดูแคลน และแฝงไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์ มากกว่าที่คำดังกล่าวจะเป็นการกล่าวถึงคำเรียกชาติพันธุ์โดยทั่วไปได้ (จตุพร ดอนโสม, 2555; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2546)

แกว หรือ คนแกว เป็นคำเรียกชาวเวียดนามในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในสารนุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 2 พ.ศ.2542 อธิบายว่าคำดังกล่าวเป็นภาษาถิ่นอีสานที่ใช้เรียกคนเวียดนามมาช้านานแล้ว คำว่า “แกว” ยังปรากฏให้เห็นในวรรณกรรมอีสานที่มีชื่อเสียงเรื่อง “ลูกอีกสาน” ของคำพูน บุญทวี ที่กล่าวถึงชาวเวียดนามเอาไว้ในประโยคที่ว่า “เว้ากับแกวมันบ่แล้วจั๊กเทื่อ คือมันหัวหมอ” (คำพูน บุญทวี, 2522, อ้างถึงใน ศริญญา สุขรี, 2558) การเรียกชาวเวียดนามว่าแกวจึงแฝงไปด้วยอคติ ความไม่เป็นมิตร ความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจและดูถูกดูแคลน โดยเฉพาะช่วงทศวรรษที่ 2490-2510 เป็นช่วงที่นโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของไทยดำเนินไปอย่างรุนแรง การเรียกคนเวียดนามว่า “พวกแกว” หรือ “คนแกว” หรือล้อเลียนด้วยคำดังกล่าวจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น กอรปกับ ช่วงทศวรรษที่ 2490 สังคมอีสานเริ่มเปิดตัวสู่การผลิตเพื่อขายมากขึ้น ทำให้มีพ่อค้าชาวเวียดนามเร่ขายสินค้าทางการเกษตรเข้าไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ในภาคอีสานเพิ่มมากขึ้น และสร้างความกังวลใจให้กับพ่อค้าคนจีนและคนในท้องถิ่น เพราะกลัวว่าจะถูกแย่งงานหรือเป็นคู่แข่งทางการค้า ทำให้เกิดข่าวลือแง่ลบต่าง ๆ เกี่ยวกับพ่อค้าแม่ค้าชาวเวียดนามอพยพ การรับรู้ข้อมูลข่าวลือดังกล่าวแพร่กระจายออกไปในสังคมอีสาน เนื่องจาก คนอีสานมีการติดต่อค้าขายกันระหว่างหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลผ่านขบวนคาราวานของนายฮ้อย ดังนั้น จึงอาจทำให้มีการบอกเล่าปากต่อปากและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันอยู่เสมอ โดยมักจะบอกต่อ ๆ กันให้ระวังเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของชาวเวียดนามอพยพ เพื่อทำลายธุรกิจการค้าของชาวเวียดนามอพยพที่เป็นคู่แข่ง (ศริญญา สุขรี, 2558) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคำว่าแกวเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นคำที่ไม่เหมาะสมในการใช้เรียกชาวเวียดนามจึงทำให้ไม่นิยมเรียกด้วยคำดังกล่าวอีกต่อไป

คนไทยเชื้อสายเวียดนาม, เวียดนาม เป็นคำทั่วไปในปัจจุบันที่ถูกใช้โดยหน่วยงานราชการ นักวิชาการ สื่อมวลชนเพื่อเรียกชาวเวียดนามในประเทศไทยโดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของช่วงเวลาของการอพยพ นอกจากนี้ คำเรียกดังกล่าวยังไม่ได้มีความหมายแฝงอคติทางชาติพันธุ์เหมือนคำอื่น ๆ คล้ายกับคำว่า “คนไทยเชื้อสายจีน” ในใช้เรียกชาวจีนอพยพโดยรวมในประเทศไทย

ภาษา

ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน

ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร

ภาษาเวียดนามจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic Language Family) ตระกูลย่อยมอญเขมร (Mon-Khmer Subfamily) สาขาเวียด-เหมื่อง (Việt-Mường Branch) ภาษาในตระกูลนี้ประกอบด้วยภาษามอญ เขมร และเวียดนาม ภาษาเวียดนามเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์นัยสำคัญทางภาษาศาสตร์ถึง 6 เสียง นอกจากภาษาในสาขาเวียด-เหมื่องแล้วก็ไม่มีภาษาใดในตระกูลนี้ที่พัฒนาระบบเสียงวรรณยุกต์ขึ้นมาใช้อย่างสมบูรณ์และนี่ก็คือลักษณะสำคัญที่ทำให้ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก แตกต่างจากภาษาตระกูลอื่น ๆ ที่ใช้พูดจากันอยู่ในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นดิน (สุริยา รัตนกุล, 2531, อ้างถึงใน ภัสธิดา บุญชวลิต, 2564, โสภนา ศรีจำปา, 2543) ภาษาเวียดนามเดิมทีเป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ต่อมาได้มีการกำเนิดและพัฒนาระบบเสียงวรรณยุกต์ขึ้น โดยพัฒนาขึ้นใช้ภายหลังจากการได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนและอิทธิพลจากการสัมผัสภาษาจากตระกูลภาษาไท-กะไดและภาษาในตระกูลออสโตรนีเชียน (Nguyễn Thiện Giáp, 2017 อ้างถึงใน ภัสธิดา บุญชวลิต, 2564)

ภาษาพูด : เวียดนาม

ภาษาเวียดนามสามารถสำเนียงแบ่งออกตามแต่ละถิ่นหรือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ได้ 3 ถิ่นหลัก คือ สำเนียงภาษาถิ่นเหนือ (ฮานอย) ซึ่งเป็นภาษาเมืองหลวง สำเนียงภาษาถิ่นกลาง (เว้) และสำเนียงภาษาถิ่นใต้ (โฮจิมินห์) อย่างไรก็ตาม ระบบเสียงหรือสำเนียงที่มีอยู่แพร่หลายจะเป็นของถิ่นเหนือ และถิ่นใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรมาก ตัวอย่างคำศัพท์เปรียบเทียบระหว่างสำเนียงภาษาเวียดนามถิ่นเหนือ (ฮานอย) และถิ่นใต้ (โฮจิมินห์) (โสภนา ศรีจำปา, 2543)

สำหรับชาวเวียดนามในประเทศไทยพบว่าสามารถพูดทั้งภาษาท้องถิ่นและภาษาเวียดนามได้ ส่วนภาษาเวียดนามที่พูดกันจะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่และภูมิภาคที่ชาวเวียดนามเหล่านั้นอพยพมา ตัวอย่างเช่น ชาวเวียดนามในหมู่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม ภาษาเวียดนามที่นิยมพูดกันจะ “คล้ายภาษาอีสานของเวียดนาม” กล่าวคือ เป็นสำเนียงที่แตกต่างจากภาษาเวียดนามภาคเหนือ (ฮานอย) และก็ไม่คล้ายภาษาเวียดนามภาคใต้ (ไซ่ง่อน) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการผสมกันระหว่างภาษาเวียดนามกับภาษาท้องถิ่นอย่างภาษาอีสานด้วย (จตุพร ดอนโสม, 2555)

ตัวอักษรที่ใช้เขียน : จื๋อฮ้าน

เดิมเวียดนามใช้ระบบตัวเขียนแบบจีนซึ่งเรียกว่า “จื๋อฮ้าน” (chữ hán) มีความหมายว่า “ภาษาของปราชญ์” เมื่อเวียดนามหลุดพ้นจากการปกครองของจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ภาษาจีนยังคงใช้ในการปฏิบัติงานของรัฐบาลเช่นเดียวกับในด้านการศึกษาการติดต่อสื่อสารและวรรณกรรม ภาษาจีนกลายเป็นภาษากลางระหว่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม แต่เมื่อเวียดนามต้องการเขียนวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ของชาติตนเองจึงมีการหยิบยืมอักษรจีนมาดัดแปลงผสมผสานให้ออกเสียงแบบเวียดนามเพื่อสื่อแสดงความคิดของตนเอง เรียกว่า “จื๋อโนม” (chữ Nôm) หรืออักษรโนม แปลว่า “ภาษาธรรมดา” ลักษณะของอักษรในรูปแบบดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับอักษรจีนแต่อาจจะแปลเป็นจีนไม่ได้ อักษรนี้มักพบในวรรณกรรมทั่วไป และเอกสารที่ไม่เป็นทางการ ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ได้มีมิชชันนารีจากสเปน โปรตุเกส อิตาลี และฝรั่งเศสร่วมกันคิดค้นอักษรโรมันเพื่อแทนอักษรจีนขึ้น เรียกว่า “ก๊วก หงือ” (quốc ngữ) แปลว่า “ภาษาประจำชาติ” ใน ค.ศ.1649 (พ.ศ.2192) อเล็กซองเดร เดอ โรดส์ (Alexandre de Rhodes) มิชชันนารีเยซูอิดชาวฝรั่งเศสได้จัดทำพจนานุกรมเวียดนาม-โปรตุเกส-ลาตินขึ้นเป็นเล่มแรก โดยตีพิมพ์ที่กรุงโรมใน ค.ศ. 1651 (พ.ศ.2194) และเป็นที่นิยมใช้ในหมู่มิชชันนารีเพื่อแปลบทสวดและหนังสือถามตอบเกี่ยวกับศาสนา ต่อมาภาคใต้ของเวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส โดยใน ค.ศ.1827 (พ.ศ.2370) ได้มีการสอนหนังสือโดยใช้อักษรนี้ในโรงเรียน และมีนักเขียนชาวเวียดนามเริ่มใช้อักษรนี้เขียนวรรณกรรม นวนิยาย ภายหลังเวียดนามเหนือได้รับอิทธิพลการเขียนด้วยอักษรก๊วกหงือจากเวียดนามใต้ ส่งผลให้อักษรดังกล่าวถูกใช้อย่างแพร่หลายมาจนกระทั่งปัจจุบัน (โสภนา ศรีจำปา, 2543)

ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของภาษาเวียดนามสามารถสรุปได้ ดังนี้ (โสภนา ศรีจำปา, 2543)

      • ระยะก่อนภาษาเวียดนาม (Pre-Vietnamese หรือ Pre-Annamite) เป็นการร่วมเชื้อสายของภาษา (เวียดนามและภาษาเหมื่อง) ก่อนมีการแยกกันทางภาษาศาสตร์
      • ภาษาต้นกำเนิดเวียดนาม (Proto-Vietnamese หรือ Proto-Annamite) เป็นช่วงก่อนการสร้างภาษาจีน-เวียดนาม (Sino-Vietnamese)
      • ภาษาเวียดนามโบราณ (Archaic Vietnamese หรือ Annamite archaique) เป็นภาษาเวียดนามที่มีลักษณะเฉพาะตัวของภาษาจีน-เวียดนามประมาณศตวรรษที่ 10
      • ภาษาเวียดนามสมัยเก่า (Ancient Vietnamese หรือ Annamite ancient) มีการสร้างคำแบบจีนเวียดนามประมาณศตวรรษที่ 15
      • ภาษาเวียดนามสมัยกลาง (Middle Vietnamese หรือ Annamite moyen) สมัยที่มีการจัดทำพจนานุกรมขึ้นในศตวรรษที่ 17
      • ภาษาเวียดนามสมัยใหม่ (Modern Vietnamese หรือ Annamite modeme)เป็นภาษาเวียดนามสมัยต้นศตวรรษที่ 19

สำหรับภาษาเวียดนามในประเทศไทยพบว่าในช่วง พ.ศ.2503-2518 นโยบายของรัฐบาลกลายเป็นเงื่อนไขหลักที่มีผลต่อการเรียนการสอนภาษาเวียดนาม ช่วงเวลาดังกล่าวชาวเวียดนามในประเทศไทยได้พยายามทำการเรียนการสอนภาษาเวียดนามอย่างแข็งขันแม้ต้องหลบซ่อนจากทางการ เนื่องจากภาษาเวียดนามเปรียบเหมือนภาษาชาติพันธุ์ (ethnic language) ที่ต้องมีการถ่ายถอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อมิให้หลงลืมหรือละทิ้งภาษาของชาติพันธุ์ตนเอง กระทั่ง พ.ศ.2518 ความหวาดระแวงของสังคมไทยที่มีต่อคอมมิวนิสต์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทางการไทยได้กำหนดนโยบายห้ามมิให้มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาเวียดนาม เป็นเหตุให้ชาวเวียดนามจำเป็นต้องยุบโรงเรียนตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงช่วง พ.ศ.2532 ในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ สถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้ง ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเวียดนามกลับมามีแนวโน้มที่ดีกว่าเมื่อก่อน ส่งผลให้สังคมของชาวเวียดนามในประเทศไทยหันมาฟื้นฟูการสอนภาษาเวียดนามอีกครั้ง โดยก่อนหน้านั้น มีชาวเวียดนามรุ่นที่สอง (เกิดในประเทศไทย) ได้รับผลจากการดำเนินนโยบายกีดกันการสอนภาษาเวียดนามของรัฐไทย ทำให้พูดภาษาเวียดนามได้น้อยจนถึงไม่สามารถพูดได้ เป็นเหตุให้การสืบสานอัตลักษณ์ทางด้านภาษาขาดตอนไป ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงมีการเปิดโรงเรียนสำหรับสอนภาษาเวียดนามโดยชาวเวียดนามตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีชุมชนชาวเวียดนามอาศัยอยู่ เช่น อุดรธานี และนครพนม นอกจากนี้ ภาษาเวียดนามยังถูกบรรจุเข้าไปส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการไทย ทำให้สามารถเรียนได้ที่โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษา ปัจจุบัน ลูกหลานชาวเวียดนามมีทัศนะต่อภาษาเวียดนามในเชิงธุรกิจมากขึ้น ส่วนใหญ่เลือกเรียนภาษาเวียดนามเพื่อการประกอบอาชีพ ต่างจากในอดีตที่ให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาเวียดนามในฐานะเครื่องมือสำหรับการสืบทอดมรดกทางอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษเพียงเท่านั้น (กรชวัล กริ่งสันเทียะ, 2559)

สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่ราบ

การอพยพเข้ามาในประเทศไทยของชาวเวียดนามสามารถอธิบายและกำหนดได้ตามช่วงเวลา ดังที่ สมจิต สุดสงวน (2542) ได้อธิบายเอาไว้ ซึ่งการอพยพแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเวียดนาม อาทิ สงครามภายในประเทศ การกดขี่ทางศาสนา ความขัดสนทางเศรษฐกิจ และการมองหาโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าชาวเวียดนามที่เข้ามายังประเทศไทยนั้นมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ ชาวเวียดนามกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งแต่กรุงธนบุรีจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย และมีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ กลุ่มที่สองเป็นชาวเวียดนามอพยพที่เข้ามาในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการกลับเข้ามาปกครองอินโดจีนอีกครั้งของฝรั่งเศส กลุ่มหลังมีจำนวนมากถึง 4-5 หมื่นคนมักข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในประเทศไทยและกระจายตัวกันอยู่ในจังหวัดที่ติดริมแม่น้ำโขงและจังหวัดในภาคอีสาน รวมไปถึงบางจังหวัดในภาคใต้ เพื่อให้เห็นภาพการอพยพและตั้งถิ่นฐานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นขอให้ดูตารางสรุปการข้อมูลการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากรชาวเวียดนามในประเทศไทย (ผุสดี จันทวิมล, 2541; Varophas, 1966; กฤษณะ ทองแก้ว, 2562; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548; วิภู ชัยฤทธิ์, 2553)

แหล่งข้อมูล

ผู้เรียบเรียงข้อมูล :

ศิวกร ราชชมภู นักวิจัยผู้ช่วย ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เอกสารอ้างอิง :

กรชวัล กริ่งสันเทียะ. (2559). การดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมผ่านการสอนภาษาเวียดนามของชาวเหวียดเกี่ยวในจังหวัดอุดรธานีและนครพนม [ภาคนิพนธ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

กฤษณะ ทองแก้ว. (2562). ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม: พลวัตการเปลี่ยนแปลงผ่านทางสังคมในเมืองสุราษฎร์ธานี. วารสารราชภัฏสุราษฎร์ธานี, 6(1), 186-211.

จตุพร ดอนโสม. (2555) การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2556). ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:แม่คำผาง.

จิราภรณ์ วีระชัย. (2543). สถานภาพและบทบาทของเจ้าอง โต๋ที่มีผลต่อวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย [การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

เจริญ ไชยชนะ. (2515). ประวัติศาสตร์ประเทศไทยในเอเชีย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ไชยวัฒน์ การพิมพ์

ณรงศักดิ์ คูบุญญอารักษ์, พิสิฏฐ์ บุญไชย, และไพบูลย์ บุญไชย. (2561). บทบาทของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม. 8(2), 107-116.

ณัฐฌา กำจรวัฒนสิริ. (2553). ชุมชนชาวเวียดนาม บริเวณชุมชนมิตรสัมพันธ์ถนนมิตรสัมพันธ์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2556). วิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์เวียดนาม ระหว่าง ค.ศ.1985-2010: สำรวจสถานภาพองค์ความรู้. ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น: หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2565). ประวัติศาสตร์เวียดนามก่อน ค.ศ.1975. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2546). “ชาวเวียดนามอพยพในภาคอีสานของไทย”. วารสารอินโดจีน, (3-4), 59-75.

ธัญญาทิพย์ ศรีพนาและ Trinh Dieu Thin. (2548). เหวียต เกี่ยว ในประเทศไทยกับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กรุงฮานอย.

นุชนงค์ อุเทศพรรัตนกุล. (2544). วัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวเวียดนามในเขตเทศบาลเมืองนครพนม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

ผล อัฐนาค. (2543). วิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

ผุสดี จันทวิมล. (2541). เวียดนามในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

พิสิฐ อำนวยเงินตรา. (2560). การปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนชาวไทยเชื้อสาย เวียดนาม จังหวัดอุดรธานี. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 13(1), 207-244.

เพ็ชรี สุมิตร. (2522). ประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช.

ภัสธิดา บุญชวลิต. (2564). การคงอยู่ของลักษณะน้ำเสียงในระบบเสียงวรรณยุกต์ภาษาเวียดนามของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นที่ 4 ในจังหวัดนครพนม. วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ, 28(2), 442-472.

วิภู ชัยฤทธิ์. (2553). ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างชาวเวียดนามอพยพกับชาวไทยท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

ศริญญา สุขนรี. (2558). ชาวเวียดนามอพยพ: นายทุนยุค “ไทยใหม่” และการกลายเป็นชนชั้นนำเมืองชายแดน. เชียงใหม่: ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก. (2559) อุดรธานีกับขบวนการกู้ชาติเวียดนาม. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก. (2559). อุดรธานีกับการเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติเวียดนาม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยขอนแก่น]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

สมจิต สุดสงวน. (2542). การสืบทอดวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม กรณีศึกษาจังหวัดนครพนม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 2. (2542). กรุงเทพฯ: มูลนิธารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

สุภีร์ สมอนา. (2548). การบริโภคสุนัขในจังหวัดสกลนคร [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยขอนแก่น]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2542). เรือนพักอาศัยชาวไทย-เวียดนามบ้านท่าแร่ สกลนคร. สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสกลนคร.

โสภนา ศรีจำปา. (2543). รู้จักเวียดนามผ่านภาษาและวัฒนธรรม. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

หนึ่งฤทัย จันทรคามิ และสมชัย ภัทรธนานันท์. (2563). เครือข่ายชาตินิยมข้ามชาติ: ชาวเวียดนามในประเทศไทย. วารสารบัณฑิตวิทยาลัยพิชญทรรศน์. 15(3), 233–243.

เหงียน ถิ ถ่าว. (2552). อัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

องค์ บรรจุน. (4 มีนาคม 2565). ที่มาของพิธี “เหม่อ เกื่อ มา” ไฉนถูกมองเป็น “ภาระ” หลังความตายในวิถีชีวิตลูกหลานเวียดนาม. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/culture/article_84074

Varophas, K. (1966). The Vietnamese Refugees in Thailand. World Affairs, 128(4), 233-238.

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :

คนเวียดนามในแผ่นดินสยาม. (16 มิถุนายน 2562). การอพยพของคนไทยเชื้อสายเวียดนามจากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินไทย [Video].

ประวัติศาสตร์นอกตำรา. (6 มกราคม 2564). คนเวียตที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจนถึงวันนี้ที่พวกเขาต้องกลับสู่มาตุภูมิประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.27 [Video].

Thai PBS. (3 เมษายน 2562). อาหารไทยเชื้อสายเวียดนามที่นี่บ้านเรา (3 เม.ย. 62) [Video].อาหารไทยเชื้อสายเวียดนามที่บ้านเรา