อิ้วเมี่ยน

ชื่อเรียกตนเอง : เมี่ยน, อิ้วเมี่ยน

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เย้า, เมี้ยน

ตระกูลภาษา : ม้ง-เมี่ยน

ภาษาพูด : เมี่ยน

ภาษาเขียน : อักษรจีน

บทความฉบับเต็ม : ดาวน์โหลด

ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 17 มิ.ย. 2566

493

กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน” หมายถึง “ชนชาติมนุษย์” หรือ “คน” คำว่า “อิ้ว”ในภาษาอิ้วเมี่ยนแปลว่า “ชนชาติ” ส่วนคำว่า “เมี่ยน” แปลว่า “มนุษย์หรือคน” ฉะนั้นเมื่อรวมสองคำนี้แล้วจึงหมายถึง “ชนชาติมนุษย์หรือคน” ในประเทศไทยนั้นมักเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “เย้า” ซึ่งเป็นชื่อที่คนจีนใช้เรียกชาวอิ้วเมี่ยน เมื่อหน่วยงานราชการเข้ามาจัดทำข้อมูล จึงได้บันทึกตามที่ชาวจีนใช้ ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวอิ้วเมี่ยนจึงถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนมาเนิ่นนาน จนกระแสวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิทธิชุมชนเริ่มเข้มข้นขึ้น ชาวอิ้วเมี่ยนจึงเริ่มรณรงค์การเรียนชื่อให้ถูกต้องมากขึ้น คือ “อิ้วเมี่ยน”

ชาวอิ้วเมี่ยนถูกจัดอยู่ในเชื้อชาติมองโกลอยด์ มีอายุเก่าแก่ใกล้เคียงกับชาวฮั่น มีถิ่นฐานกำเนิดบริเวณเขตภูเขาสูงทางตอนกลางของประเทศจีน การดำรงชีพส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผา (Swidden Agriculture) ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อหาพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์จาก ความรุนแรงทางการเมืองและความจำเป็นทางเศรษฐกิจได้ผลักดันให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องอพยพย้ายถิ่นจากดินแดนมาตุภูมิ ในประเทศไทยชาวอิ้วเมี่ยนตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจาย อิ้วเมี่ยนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงที่ตั้งชุมชนกระจายอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบคนกลุ่มดังกล่าวในบริเวณรอยต่อของประเทศจีน เวียดนาม ลาว และไทย กับบางส่วนที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศตะวันตก ภายหลังจากสงครามอินโดจีนชาวอิ้วเมี่ยนที่อยู่ในประเทศไทยได้อพยพเข้ามาสู่ดินแดนล้านนาเมื่อ 200 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่อำนาจของระบบจักรวรรดินิยมตะวันตกและรัฐไทยได้แผ่ขยายเข้ามาบริเวณนี้ชาวอิ้วเมี่ยนเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณไหล่เขาห่างไกลจากชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกฝิ่นมีการตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจายในบริเวณภาคเหนือตอนบนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ จเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง น่าน กำแพงเพชร สุโขทัย และ ตากอีกทั้งยังมีกลุ่มขนาดเล็กที่กระจายตัวไปภาคอีสาน ในจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และภาคใต้ ในจังหวัดระนอง

จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในประเทศจีนมายาวนานนับพันปีทำให้วัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและสังคมอิ้วเมี่ยนอย่างเข้มข้น เห็นได้จากการมีระบบกลุ่มเครือญาติเดียวกัน โครงสร้างของระบบครอบครัว และระบบสังคมชายเป็นใหญ่ การสร้างตัวอักษรของตนเองโดยดัดแปลงจากตัวอักษรฮั่นของชาวจีนการรับอิทธิพลจากลัทธิเต๋ามาผสมสานกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติกับผีบรรพบุรุษค่านิยมในเรื่องการขยันทำงานและแสวงหาความร่ำรวยเนื่องด้วยชะตากรรมของชนเผ่าที่ต้องอพยพย้ายถิ่นและอาศัยปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นชาวอิ้วเมี่ยนจึงพยายามปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่แต่ยังคงรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้โดยเฉพาะการสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับเงินที่มีลวดลายประณีตงดงามตามจารีตประเพณี


ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

ชื่อเรียกตนเอง : เมี่ยน, อิ้วเมี่ยน

เมี่ยน (Mien) นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเมี่ยนชี้ ให้เห็นว่า คำนี้เป็นคำเรียกชื่อของคนเมี่ยนจำนวน 5 กลุ่ม คือ อิ้วเมี่ยน (Iu Mien) กิมเมี่ยน (Kim Mien) เกียมเมี่ยน (Keim Mien) กัมเมี่ยน (Kam Mien) เก็มเมี่ยน (Kem Mien) เมี่ยนจึงเป็นคำกลางที่ใช้เรียกตนเองโดยไม่ได้แบ่งแยกความแตกต่างภายในกลุ่ม ขณะเดียวกัน ก็เป็นการบ่งบอกความแตกต่างของตนเองว่าพวกเขานั้นแตกต่างจากคนอีก 3 กลุ่มใหญ่ คือ กิมมุน (Kim Mun) บัว มิน (Byau Min) และ ยัวมิน (Yau Min)(Pourret, 2002: 1) โดยคำว่า “เมี่ยน” ในภาษาเมี่ยนแล้วแปลว่า “มนุษย์หรือคน” (องไหน เตรียมพนา ตั่งจั่นย่าน, มปป.: 75)

อิ้วเมี่ยน (Iu-Mien) เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เมี่ยน” โดย พูเรต์ พบว่า กลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนั้นเป็นกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “อิ้วเมี่ยน” และมีภาษาคล้ายคลึงกับกลุ่มกิมมุนมากที่สุด (Pourret, 2002: 1) สอดคล้องกับที่ผู้เขียนเห็นว่า คนอิ้วเมี่ยนในประเทศไทยเริ่มมีการนิยามตัวตนของพวกเขาอย่างชัดเจนว่าพวกเขาคืออิ้วเมี่ยนตามสื่อต่างๆ โดยคำว่า “อิ้วเมี่ยน” ตามที่ องไหน เตรียมพนา ตั่งจั่นย่าน (มปป.: 75) ซึ่งเป็นคนอิ้วเมี่ยน ได้ให้ความหมายของคำนี้ว่าหมายถึง “ชนชาติมนุษย์” หรือ “คน” คำว่า “อิ้ว”ในภาษาอิ้วเมี่ยนแปลว่า “ชนชาติ” ส่วนคำว่า “เมี่ยน” แปลว่า “มนุษย์หรือคน” ฉะนั้นเมื่อรวมสองคำนี้แล้วจึงหมายถึง “ชนชาติมนุษย์หรือคน”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชื่อ “อิ้วเมี่ยน” เป็นชื่อที่พวกเขาใช้เรียกและรับรู้กันเฉพาะภายในกลุ่มวัฒนธรรมเมี่ยน/เย้าเป็นหลัก ทำให้คนนอกวัฒนธรรมที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา มักจะได้ยินเขานิยามตนเองจากฐานความเข้าใจทั่วไปของคนข้างนอกว่า “เย้า” เพื่อให้คนนอกกลุ่มและชาวอิ้วเมี่ยนสามารถจัดความสัมพันธ์หลวมได้ระดับหนึ่ง ในมุมของคนอิ้วเมี่ยนแล้ว คำดังกล่าวยังไม่สื่อถึงตัวตนที่แท้จริงที่พวกเขาได้มากนัก

ในยุคที่คนอิ้วเมี่ยนในประเทศไทยยังไม่มีการเขียนบันทึกเรื่องราวของตนเองและไม่มีสื่อต่าง ๆ ในการสื่อสารกับสาธารณะชนอย่างเช่นในปัจจุบัน พวกเขาได้รับการเขียน บันทึก และความทรงจำด้วยชื่อ “เย้า” เป็นหลัก ดังปรากฏในงานเขียนก่อนทศวรรษ 2540 ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2506; 2551) ที่เรียกคนอิ้วเมี่ยนว่า “เผ่าเย้า” งานเขียนของข้าราชการฝ่ายวิชาการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสถาบันวิจัยชาวเขาที่มีการเติมอัตลักษณ์ของความเป็นอื่นให้กับพวกเขาด้วยการใช้คำว่า “ชาวเขาเผ่าเย้า” (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, 2518; มงคล จันทร์บำรุง, 2529; จันบูรณ์ สุทธิ และคณะ, 2539) ก็ล้วนแล้วแต่ใช้คำดังกล่าวให้หมายถึง คนอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย

จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา จะเห็นงานเขียนทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ที่ใช้คำว่า “เมี่ยน” และ “อิ้วเมี่ยน” เช่น งานของวิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์ (2545) ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในครอบครัว เครือญาติ และผู้หญิงอิ้วเมี่ยน เช่นเดียวกันกับงานศึกษาของประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ (2547) ที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์การเข้ามาทำงานในเมืองของคนเมี่ยน และตามมาด้วยงานเขียนต่างประเทศของ Jonsson (2002) ที่ใช้คำว่า “Mien” ในงานศึกษาของเขาที่เกี่ยวกับคนอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย ในกระแสปัจจุบันที่โลกาภิวัตน์ได้ทำให้ความเป็นท้องถิ่นหรือชาติพันธุ์นั้นมีความโดดเด่นขึ้นมา ประกอบกับสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้านั้น ยิ่งส่งผลให้ได้ยินเสียงจากคนในมากยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์ที่คนอิ้วเมี่ยนนิยามตนเองต่อสาธารณะชนว่า “อิ้วเมี่ยน” จึงเป็นเรื่องใหม่ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ดังเห็นได้จากตั้งชื่อเครือข่ายและองค์กรกุศลของพวกเขาว่า“เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน” “มูลนิธิพัฒนาอิ้วเมี่ยน” และการนำเสนอตัวตนบนโลกออนไลน์ด้วยชื่อเพจต่าง ๆ ที่มีคำว่า“อิ้วเมี่ยน” ปรากฏอยู่ รวมตัวกันจัดการประชุมเสวนาวิชาการระดับชาติในหัวข้อ “อิ้วเมี่ยนศึกษา” ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ได้มีสถาบันวิชาการต่างประเทศจัดงานประชุมเสวนาในปี 1986 หัวข้อ “Yao Studies” (เย้าศึกษา) (Lemoine and Chien, 1991:3-4) นอกจากนั้นในประชุมที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดได้มีการจัด “งานมหกรรมวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนโลก” ที่แสดงอัตลักษณ์ด้านอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และการละเล่นของคนอิ้วเมี่ยน

ความพยายามข้างต้น เป็นการตอกย้ำถึงความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากกลุ่มเมี่ยนหรือเย้ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีนัยยะที่ต้องการสื่อสารให้ลูกหลานอิ้วเมี่ยนสมัยใหม่ที่ถูกวัฒนธรรมกระแสหลักกลืนกลาย รวมถึงต้องการให้สังคมภายนอกนั้น เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ที่มีต่อพวกเขาจาก “เย้า” และ “เมี่ยน” ไปสู่ “อิ้วเมี่ยน” ซึ่งที่ผ่านมา เห็นการเปลี่ยนคำที่ใช้เรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน เริ่มต้นจากองค์กรภาคประชาชนอย่างสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทยที่เดิมทีเคยใช้คำว่า “ชนเผ่าเมี่ยน” แต่ปัจจุบันก็หันไปใช้คำว่า “ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน” แทน (สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย, 2559) รวมถึงสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวและสารคดีก็เริ่มใช้ชื่อ “อิ้วเมี่ยน” (ไทยพีบีเอส., 2560)

กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ไม่สามารถปฏิเสธคำว่า “เย้า” เสียทีเดียว เพราะคำดังกล่าวนั้นแฝงฝังไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับบันทึกไว้ในเอกสารสำคัญของจีน โดยเฉพาะเอกสารที่มีชื่อว่า “พระราชโองการกษัตริย์ผิง” หรือ “เกียเซ็นป๊อง” ในภาษาเมี่ยน และภาษาจีน คือ “กั้วซานป่าง” ที่ระบุถึงประวัติศาสตร์เย้าในบางแง่มุมอย่างชัดเจน รายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิพิเศษทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ชาวเย้าพึงได้รับในฐานะที่เป็นชนชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร (พูเรต์, 2545: 9-11; Yu, 1991) ซึ่งแสดงถึงตัวตนที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองจีนในอดีต จึงมักจะเห็นพวกเขาพยายามใส่คำว่า “เย้า” ในวงเล็บต่อจาก “อิ้วเมี่ยน” ด้วย เพื่อให้มีตัวตนทางประวัติศาสตร์ ดังเอกสารที่เรียบเรียงขึ้นมาของตั่งจันย่าน (มปป.) ที่มักจะใช้คำว่า “Yao” กำกับหลังคำว่า “อิ้วเมี่ยน” ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวอิ้วเมี่ยนนั้นมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองและยาวนานที่ถูกบันทึกและรับรู้ในวงกว้างตามเอกสารสำคัญของจีน รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ที่มีร่วมกับเย้ากลุ่มอื่น ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่ของพวกเขานั้นยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในจีน ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของบรรพบุรุษของชาวอิ้วเมี่ยน ขณะเดียวกันการวงเล็บดังกล่าว ก็ช่วยลดความสับสนให้กับผู้คนที่อยู่นอกวัฒนธรรม

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เย้า, เมี้ยน

เย้า (Yao) เป็นชื่อที่คนจีนมักจะใช้เรียกเหมารวมกลุ่มประชากรทั้งหมดที่มีระบบภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันซึ่งประกอบไปด้วย 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เมี่ยน (Mien) กิมมุน (Kim Mun) บัว มิน (Byau Min) และ ยัวมิน (Yau Min) ภายใน 4 กลุ่มใหญ่นี้ สามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็นหลายกลุ่ม เฉพาะในกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “เมี่ยน” ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าก็สามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็น 5 กลุ่มย่อย ได้แก่อิ้วเมี่ยน กิมเมี่ยน เกียมเมี่ยน กัมเมี่ยน เก็มเมี่ยน โดย Pourret (2002: 1) พบว่า กลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนั้นเป็นกลุ่ม “อิ้วเมี่ยน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาษาคล้ายคลึงกับกลุ่มกิมมุนมากที่สุด (พูเรต์, 2545: 5-6; Pourret, 2002: 11; Chengqian, 1991: 47-48) ทั้งนี้ ในบริบทของประเทศจีนนับตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา ชื่อ “เย้า” กลายเป็นชื่อทางการที่รัฐบาลจีนรับรองว่าเป็นชนชาติหนึ่ง (Yao nationality) เขียนเป็นภาษาจีนคือ “瑶” (Wanjiao, 2020) ประกอบด้วยกลุ่มย่อย จำนวนกว่า 30 กลุ่มย่อย (minzu zhixi) ยิ่งก่อนหน้านั้น คนจีนมีคำนิยามคนเย้ามากกว่า 300 คำ ส่วนใหญ่เป็นคำมีความหมายเชิงลบ เช่น “nan man” แปลว่า “คนเถื่อนทางภาคใต้” (southern barbarians) และอีกส่วนหนึ่งเป็นคำที่เน้นถึงตัวตนที่สัมพันธ์กับพื้นที่สูง เช่น “เย้าภูเขาชา” (Tea-mountain Yao) หรือ “เย้าข้ามภูเขา” (Yao who cross mountains) และยังมีส่วนหนึ่งที่เน้นอัตลักษณ์ของการแต่งกายที่โดดเด่น เช่น “เย้ากางเกงแดง” (Red trouser Yao) เป็นต้น การจัดแบ่งดังกล่าว แม้จะมีเกณฑ์ในการแบ่งโดยใช้วัฒนธรรมและภาษาเป็นหลัก แต่ทว่า กลุ่มย่อยบางกลุ่มอาจมีประวัติศาสตร์หรือที่มาของตนเองแตกต่างกัน (Litzinger, 2000: x, 9, 99) จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ “อิ้วเมี่ยน” ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เมี่ยน” และ “เมี่ยน” ที่จัดอยู่ในกลุ่ม “เย้า”

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า “อิ้วเมี่ยน” หมายถึง “เมี่ยน” หรือ “เย้า” ก็อาจไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะทั้งสองชื่อดังกล่าวยังหมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับอิ้วเมี่ยนปัจจุบันกลุ่มอิ้วเมี่ยนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พยายามนำเสนอตัวตนเพื่อสร้างภาพตัวแทนให้สังคมได้จดจำในนาม “อิ้ววเมี่ยน” มากกว่า“เมี่ยน” หรือ “เย้า” เพื่อสื่อถึงตัวตนทางชาติพันธุ์ที่ อย่างไรก็ตาม ในบางบริบทชาวอิ้วเมี่ยนก็มักนิยามตนเองกับคนนอกวัฒนธรรมแบบหลวม ๆ ว่า “เมี่ยน” ด้วยเช่นกัน

สำหรับการเรียกชื่อชาวอิ้วเมี่ยนที่อยู่ในประเทศไทยนั้น คนไทยเรียกชาวอิ้วเมี่ยนในสำเนียงภาษากลาง ว่า “เย้า” สำเนียงภาษาถิ่นภาคใต้เรียก “ย้าว” และในสำเนียงภาษาถิ่นภาคเหนือ (ญ = เสียง ย ขึ้นจมูก) “ญ้าว” คำเรียก “เย้า” ดังกล่าวอาจเรียกเลียนเสียงจากคำว่า “ย้าว” ของชาวไตลื้อและลาว ซึ่งเรียกชาวอิ้วเมี่ยนที่อพยพผ่านสิบสองปันนาและประเทศลาว ก่อนอพยพมาประเทศไทย คำนี้อาจจะมาจากคำว่า “หยาว” ในภาษาจีน (สถาบันวิจัยชาวเขา, 2539, หน้า 9)

ทั้งนี้ “เย้า”เป็นชื่อเรียกที่ปรากฎในเอกสารทางราชการในยุคแรกก่อนที่จะปรากฏชื่อเมี่ยน หรืออิ้วเมี่ยน ชื่อเรียก “เย้า” ไม่เป็นที่พึงใจของชาวเมี่ยน แม้ว่ากลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นจะเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มเย้า แต่ไม่สามารถหมายรวมว่าอิ้วเมี่ยนเป็นกลุ่มเย้าได้ เนื่องจากเป็นคนละกลุ่มชาติพันธุ์ แม้จะเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันก็ตาม อีกประการหนึ่ง คำว่า เย้า ในสมัยราชวงศ์ถัง หมายถึง ถูกเกณฑ์แรงงาน ส่วยแรงงาน ชาวเมืองประเทศราช และตัวอักษรที่ใช้เขียนมีความหมายว่า ป่าเถื่อนแต่ภาษาพูดของชาวอิ้วเมี่ยนไม่เคยปรากฏคำนี้อย่างไรก็ตาม การใช้คำเรียกว่า เย้า เป็นคำที่ใช้ในภาษาจีนอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20

เมี้ยน เป็นคำที่นักวิชาการไทยใช้ (ชนัญ วงษ์วิภาค, 2530) เป็นการสะกดที่เพี้ยนมาจากการออกเสียงว่า “เมี่ยน” ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป

ชาวจีนในยุคแรกเรียกชนเผ่าอิ้วเมี่ยนว่า เผ่า “เปี้ยน ฮู่ง” (P’an Hu chung) หมายถึง กลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจาก “เปี้ยนฮู่ง” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “พ่านฮูจู๋” นักประวัติศาสตร์ชาวจีนที่ชื่อ Fan Yeh ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่ 5 เป็นผู้แรกที่กำหนดชื่อเรียกนี้ในจดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่น (Chronicles of the Later Han Dynasty) โดยระบุถึงชนเผ่าที่อาศัยอยู่บริเวณทางตอนใต้ของภาคกลางของประเทศจีนในปัจจุบันว่าเป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากเปี้ยนฮู่ง ผู้ที่อาสาไปช่วยสังหารศัตรูของจักรพรรดิผิงหวาง จนกระทั่งได้แต่งงานกับธิดาของจักรพรรดิจักรพรรดิผิงหวางจึงมีพระบรมราชโองการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวอิ้วเมี่ยนในการละเว้นการถูกเรียกเก็บส่วยภาษี เกณฑ์แรงงานและเกณฑ์ทหาร รวมถึงให้อิสระและสิทธิแก่ชาวอิ้วเมี่ยนในการเคลื่อนย้ายเพื่อเลือกหาที่ทำกินบนภูเขาทั่วราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามจดหมายเหตุของ Fan Yeh ยังได้เรียกชื่อชนเผ่า“เปี้ยน ฮู่ง”เหมารวมอยู่ในกลุ่มชนเผ่าอื่น ๆ ทางจีนตอนใต้ว่า “Man Yi” ซึ่งหมายถึง ชนป่าเถื่อน อันสะท้อนถึงทัศนคติของชาวฮั่นในสมัยนั้นว่าชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวฮั่นเป็นพวกป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม (Jacues Lemoine,1983, pp.194-211 อ้างถึงใน พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550,หน้า 12, 14)

ในยุคกลาง ทุกราชวงศ์มักจะเรียกชื่อชาวอิ้วเมี่ยนแตกต่างกันตามแหล่งที่ตั้งของชุมชน โดยผนวกเอาเหตุการณ์หรือภูมิประเทศที่ชาวอิ้วเมี่ยนอาศัยอยู่เป็นที่มาของชื่อประจำของกลุ่ม เช่น ในสมัยจักรพรรดิ Ching Ting (ค.ศ.1260) ของราชวงศ์ซ่งใต้ ได้เรียกชื่อใหม่ว่า “Shan tse” หมายถึง บุตรแห่งภูเขา อันแสดงถึงการที่ชนเผ่าอิ้วเมี่ยนไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของทางการจีนมากนักแต่ปลีกตัวอยู่อาศัยอย่างเป็นอิสระบนภูเขาสูงที่ห่างไกลจากสังคมเมือง ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถังมีการใช้คำว่า “มอเย้า” (Mo Yao) ในเอกสารของทางการครั้งแรก หมายถึง “ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน” แสดงถึงความเป็นชนเผ่าที่มีสิทธิพิเศษกว่าชนเผ่าอื่น (พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550, หน้า 13-14) จนกระทั่งในยุคก่อนสมัยใหม่ ชาวจีนเรียกชาวอิ้วเมี่ยนว่า “เย้า” (Yao) ซึ่งตามอักษรจีน หมายถึง “เกณฑ์แรงงาน” โดยคำนี้ปรากฏครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ โดยการเป็นการตัดแต่งตัวหนังสือที่ใช้ในศตวรรษที่ 7 สมัยราชวงศ์ถังที่ใช้คำว่า “มอเย้า” ที่มีความหมายว่า ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ให้เหลือเพียง “เย้า” ที่หมายถึง ถูกเกณฑ์แรงงาน ส่วยแรงงาน ชาวเมืองประเทศราชและตัวอักษรที่ใช้เขียนก็มีความหมายว่า ป่าเถื่อนแต่ภาษาพูดของชาวอิ้วเมี่ยนไม่เคยปรากฏคำข้างต้นอย่างไรก็ตาม การใช้คำเรียกว่า “เย้า” เป็นคำที่ใช้ในภาษาจีนอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20(จิตร ภูมิศักดิ์, 2540; พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550, หน้า 15 )

ช่วงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบจักรพรรดิจีนเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนสำเร็จแล้ว ได้มีการศึกษาและสำรวจประวัติเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในประเทศจีนมากขึ้น ชาวอิ้วเมี่ยนสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นได้แสดงบทบาททางวิชาการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงคำเรียกชาวอิ้วเมี่ยนใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงตัวอักษรที่ใช้เขียนคำว่า Yao ใหม่ทำให้มีความหมายใหม่ว่า “หยก” หรือหินมีค่าแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงความหมายของอิ้วเมี่ยนจาก “ชนเผ่าที่ป่าเถื่อน” เป็น “ลูกหลานของกษัตริย์” ชาวอิ้วเมี่ยนออกเสียงคำนี้ว่า Yiu ซึ่งเป็นคำใหม่ที่นิยมใช้มากกว่าตัวอักษรอื่น ๆ ในอดีต ปัจจุบันจึงเรียกชื่อว่า “อิ้วเมี่ยน”โดยตัวอักษรภาษาจีนที่ใช้เขียนคำนี้ คือ 瑶族 (ออกเสียงว่า “เหยา จู๋” / Yao Zu)ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Iu-Mien (พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550, หน้า 15 - 16)

ภาษา

ตระกูลภาษา : ม้ง-เมี่ยน

ตระกูลภาษาย่อย : เมี่ยน (เย้า)

ภาษาของชาวอิ้วเมี่ยนถูกจัดอยู่ในตระกูลภาษา ม้ง-เมี่ยน ( Hmong-Mien) โดยกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกุลภาษานี้ในประเทศไทยมีชาวม้ง และชาวอิ้วเมี่ยน (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ 2547)

ภาษาพูด : เมี่ยน

ภาษาพูดของชาวอิ้วเมี่ยนมีทั้งหมด 4 ภาษา คือ ภาษาเมี่ยน ภาษาเหมียว (ม้ง) ภาษาจ้าง (ต้ง) และภาษาจีนแมนดาริน ภายใต้กลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนประกอบด้วยสี่กลุ่มภาษาย่อย คือ เมี่ยน มัน บะเยามิน และเยามิน ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ย่อยที่รัฐบาลจีนรวมไว้ภายใต้ชนชาติเย้านั้น กลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนกับภาษามันเป็นสองกลุ่มหลักในสี่กลุ่มภาษาย่อย กลุ่มดังกล่าวมีจำนวนประชากรประมาณร้อยละ 80 – 85 ของทั้งสี่กลุ่มย่อยที่พูดภาษาเมี่ยน (Pourret, 2002, p.11 อ้างถึงใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 3)ในประเทศไทยพบกลุ่มที่พูดภาษาเมี่ยนเป็นหลัก ซึ่งเรียกตนเองว่าเมี่ยนหรืออิ้วเมี่ยนส่วนกลุ่มที่พูดภาษามันเป็นกลุ่มที่รู้จักกันในชื่อมันและแลนแตนในประเทศลาวและเวียดนาม (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 3)

ตัวอักษรที่ใช้เขียน : อักษรจีน

จากคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมาของชาวอิ้วเมี่ยน นับตั้งแต่สมัยก่อตั้งชุมชนอิ้วเมี่ยนครั้งแรกที่ภูเขาหุ้ยจี้ซาน เมืองหูหนาน บริเวณภาคกลางของประเทศจีน บรรพบุรุษของชาวอิ้วเมี่ยนได้ประดิษฐ์อักษรเขียนเป็นของตนเอง โดยนายว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน ผู้รู้ประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านห้วยเฟือง (สัมภาษณ์, 2562) กล่าวว่า “ในอดีตมีภัยสงครามเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลต่อการทำลายล้างตำราและองค์ความรู้ดั้งเดิมจำนวนมาก ประกอบกับชาวอิ้วเมี่ยนต้องอพยพหนีภัยสงครามลงมาทางใต้ จึงไม่มีโอกาสถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นหลัง”

การมีตัวอักษรเขียนโบราณของชาวอิ้วเมี่ยนจึงเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาในลักษณะตำนานที่ปราศจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับในยุคหลังที่ชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพมาอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน พวกเขาได้สร้างตัวอักษรเขียนของตนเอง โดยดัดแปลงจากตัวอักษรจีนในภาษาฮั่น เพื่อนำมาใช้เป็นภาษาเขียนใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยมีรูปแบบการเขียนแบบ “ถู้สูจื้อ” ซึ่งเป็นตัวหนังสือสามัญของท้องถิ่นของชาวอิ้วเมี่ยน และมีรูปเขียนตัวหนังสือฮั่นในอักษรฮั่นซึ่งเป็นตัวเดียวกัน แต่ในอักษรเมี่ยนจะเขียนคนละรูปแบบกันแต่อักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการเขียนข้อความให้สมบูรณ์จึงต้องมีการใช้ปะปนกับตัวหนังสือฮั่นส่วนหลักการออกเสียง หากเป็นคำศัพท์ในภาษาเมี่ยนจะอ่านเป็นสำเนียงชาวอิ้วเมี่ยนแต่ ถ้าเป็นคำศัพท์ที่ใช้ตัวหนังสือเขียนตัวเดียวกันในภาษาฮั่นจะอ่านเป็นสำเนียงภาษาย่อยชนิดหนึ่งของภาษาถิ่นกวางตุ้งภาษาเขียนดังกล่าวถูกใช้ในหนังสือคัมภีร์ทางศาสนา หนังสือคัดเพลง หนังสือลำดับญาติวงศ์ต่าง ๆ ของชาวอิ้วเมี่ยน (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 2)

การที่ชาวอิ้วเมี่ยนใช้ตัวอักษรเขียนภาษาจีนกวางตุ้งมาดัดแปลงเป็นภาษาของตนเอง ทำให้มีการจดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรมและสืบทอดประวัติศาสตร์ของตนเองให้ลูกหลานได้ยาวนาน อีกทั้งยังกลายเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการค้าขาย เนื่องจากสามารถใช้ตัวหนังสือในการจดบันทึกรายละเอียดของลูกค้าและการคิดคำนวณในระบบบัญชี รวมทั้งเกิดการส่งผ่านระบบความคิดและอุดมการณ์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและการค้าของชาวจีนกวางตุ้งพร้อมกับการยืมตัวหนังสือเขียนของจีนกวางตุ้ง ชาวอิ้วเมี่ยนจึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมความเชื่อที่ได้รับจากชาวจีนกวางตุ้งและระบบจักรวาลวิทยาของอิ้วเมี่ยน ทำให้พวกเขาต้องขยันขันแข็งทำมาหากินเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ แสวงหาความร่ำรวยเพื่อความสุขและชื่อเสียงบารมี อีกทั้งยังเป็นการสะสมผลบุญสำหรับชีวิตภายหลังจากการตายโดยมีเงินเป็นปัจจัยหลักในการที่จะบรรลุถึงสิ่งเหล่านี้ (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2547 และคณะ, หน้า 174-175)

ในการเรียนรู้ภาษาจีน ชาวอิ้วเมี่ยนรุ่นเก่าจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ลูกชายเรียนภาษาจีนเป็นอย่างมาก เพราะตัวอักษรเมี่ยนเป็นตัวอักษรจีนโบราณที่ใช้บันทึกตำราทางศาสนาและพิธีกรรมต่าง ๆลูกชายจึงจำเป็นต้องรู้หนังสือเพื่อเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมของครอบครัว โดยเรียนรู้การอ่านและเขียนจากบิดา ครูภาษาจีนประจำหมู่บ้าน หรือคนในหมู่บ้านเปิดสอนส่วนลูกสาวจะไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนภาษาจีน(วิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์, 2545, หน้า 82)แม้กระทั่งในบริบทของยุคสงครามเย็นที่การเรียนการสอนภาษาจีนถูกรัฐบาลไทยเพ่งเล็งว่า อาจมีส่วนสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ชาวอิ้วเมี่ยนบางส่วนยังคงส่งเสริมการสอนภาษาจีนแก่ลูกหลาน แม้จะประสบความยากลำบากเช่น กรณีของชุมชนอิ้วเมี่ยนที่บ้านละเบ้ายา ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน ชาวบ้านได้ลักลอบสร้างโรงเรียนสอนภาษาจีนที่มีการเรียนการสอนทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนโดยสร้างเป็นกระต๊อบในบริเวณป่าลึกที่หลบเข้าไปในลำห้วยกลางหมู่บ้าน เพื่อหลบหลีกจากการดูแลสอดส่องจากหน่วยงานของรัฐ (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547,หน้า 30)

จะเห็นว่า ความรู้ทางภาษาจีนถือเป็นหนึ่งในทุนทางสังคมสำคัญที่ส่งเสริมให้ชาวอิ้วเมี่ยนสามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้เป็นอย่างดีชาวอิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพค้าขายในเมืองในขณะที่บางส่วนสามารถใช้ความรู้ทางภาษาจีนในการประกอบอาชีพเป็นล่ามภาษาจีน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มของครอบครัวที่เป็นลูกครึ่งจีน-อิ้วเมี่ยน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการรู้ภาษาเขียนของอิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้อาวุโสโดยเฉพาะหมอผีผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในขณะที่ชาวอิ้วเมี่ยนรุ่นใหม่ในประเทศไทยมีจำนวนไม่มากนักที่สามารถอ่านภาษาจีนได้ (จุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา, 2562: สัมภาษณ์)

สภาพพื้นที่อยู่อาศัย : กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือชนชาวเขา

ชาวอิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายบริเวณภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง น่าน กำแพงเพชร สุโขทัย และตาก (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 15 - 16) นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนย้ายกระจายตัวเป็นกลุ่มขนาดเล็กในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี และภาคใต้ ได้แก่ บ้านในกรัง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547; พรชัย เอี่ยมโสภณ, 2558)

บริบทด้านประชากร จากการสำรวจข้อมูลเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับจำนวนประชากรอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย พบว่า ทางการจีนนับรวมชาวอิ้วเมี่ยนรวมกับชนชาติเย้าและเป็นเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย เช่นเดียวกันกันหน่วยงานภาครัฐของไทยที่ได้เรียกชาวอิ้วเมี่ยนว่า “เย้า” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2427 โดยเจมส์ แม็คคาที หรือพระยาวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรกของประเทศไทย
เป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มใช้คำเรียกนี้ (พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550) ชาวอิ้วเมี่ยนได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากแต่ไม่ได้ระบุจำนวนประชากรไว้ ในเวลาต่อมาได้มีการสำรวจประชากรชาวอิ้วเมี่ยน จำนวน 7 ครั้ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ครั้งที่ 1 พ.ศ.2504 ระบุว่ามีชาวอิ้วเมี่ยนจำนวน 10,200 คน 74 หมู่บ้าน

ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2510 จากการสำรวจของสหประชาชาติ พบว่า มีประชากรอิ้วเมี่ยนทั้งหมด 16,119 คน ครั้งที่ พ.ศ. 2526 กองประชาสงเคราะห์ชาวเขาได้สำรวจอีกครั้งพบประชากรจำนวน 31,420 คน อาศัยอยู่ 160 หมู่บ้าน

ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2527 จากรายงานของกรมประชาสงเคราะห์ (2527) ระบุว่า ชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2343 เป็นเวลาประมาณ 208 ปี (กรมประชาสงเคราะห์, 2527)
แต่จำนวนประชากรไม่ได้มีการขยายตัวมากนัก

ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2533 ชอบ คชาอนันท์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญชาวอิ้วเมี่ยน ระบุว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 35,652 คน จำนวน 4,823 ครอบครัว อาศัยอยู่ใน 181 หมู่บ้าน

ครั้งที่ 5 พ.ศ.2540 กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ระบุว่า มีจำนวนประชากร 48,357 คน จำนวน 9,501 หลังคาเรือน อาศัยใน 98 หมู่บ้าน

ครั้งที่ 6 พ.ศ.2545 ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของ Jess G. Pourret นักวิชาการ ระบุว่า ชาวอิ้วเมี่ยนมีจำนวนประมาณ 40,000 คน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนของหมู่บ้านไว้

ครั้งที่ 7 พ.ศ.2546 Emmanuel Perve (2006) กล่าวว่า ประชากรอิ้วเมี่ยนมีจำนวนทั้งสิ้น 45,571 คน อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย 178 หมู่บ้าน

จากข้อมูลสำรวจประชากรอิ้วเมี่ยนในแต่ละครั้งแสดงให้เห็นว่า ชาวอิ้วเมี่ยนมีการขยายตัวของประชากรน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก หรือเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ส่วนการสำรวจข้อมูลจำนวนประชากรอิ้วเมี่ยนในปัจจุบันต้องเผชิญกับข้อจำกัด
4 ประการ ได้แก่ 1) การนิยามความเป็นชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน เนื่องจากชาวอิ้วเมี่ยนมีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตั้งแต่การอพยพจากหมู่บ้านเดิมสู่เขตเมืองภายในประเทศ 2) การอพยพเคลื่อนย้ายไปเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ 3) ชาวอิ้วเมี่ยนมีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้มีความลื่นไหลเพื่อให้สามารถดำรงอยู่อย่างผสมกลมกลืนกับคนเมืองในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อแซ่นามสกุลให้กลายเป็นชื่อภาษาไทย และ 4) การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม เช่น การแต่งงานกับชาวไทยพื้นราบภาคเหนือ ชาวไทยภาคกลาง หรือชาวม้ง ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาในการนิยามชาติพันธุ์ของเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดจากการสมรสข้ามวัฒนธรรม จากเงื่อนไขดังกล่าวที่ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี จึงเป็นการยากที่จะจำแนกแยกแยะประชากรชาวอิ้วเมี่ยนได้อย่างชัดเจน

แหล่งข้อมูล

ผู้เรียบเรียงข้อมูล :

สกุลกร ยาไทย นักวิจัยอิสระ

เอกสารอ้างอิง :

เครือข่ายวัฒนธรรมเมี่ยน. (2545). สาระองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นอิ้วเมี่ยน (เย้า). เชียงใหม่ : เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน องค์กรชุมชนบ้านปางค่า – บ้านปางพริกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย สำนักงานประถมศึกษาอำเภอปง และสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพะเยา

จันทรบูรณ์ สุทธิ. (2539). การเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาของเย้า – แรงงาน ใน วิถีเย้า, จันทรบูรณ์ สุทธิ และ

คณะ (บก.) เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา. หน้า 169 - 240

จันทรบูรณ์ สุทธิ, สมเกียรติ จำลอง และ ทวิช จตุวรพฤกษ์ (2539).วิถีเย้า.เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา

กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

จิตร ภูมิศักดิ์. (2540). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริง ว่าด้วยชนชาติขอม. พิมพ์ครั้งที่ 4 : เคล็ดไทย

ประสิทธิ์ ลีปรีชา, ยรรยง ตระการธำรง และวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์. (2547). เมี่ยน หลากหลายชีวิตจากขุนเขาสูเมือง .เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน. (2550). การปรับตัวของระบบจารีตประเพณีเพื่อการจัดการปัญหาและไกล่เกลี่ยข้อ

พิพาทในชุมชนอิ้วเมี่ยน.รายงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นข้อมูลได้ที่

http://research.culture.go.th/index.php/research/item/652-2012-09-18-01-52-22.html

พูเรต์ม เจมส์ จี. (2545). ชนชาติเย้า : เย้าเมี่ยนและเย้ามุนในจีน เวียดนาม ลาว และไทย. มงคล จันทร์บำรุงและสมเกียรติ จำลอง (แปล). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์

มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิทธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ (2550) ชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) กีฬาอิ้วเมี่ยน.สืบค้นจาก

http://www.openbase.in.th/node/1039?fbclid=IwAR0OAI6Vv62HMNpMpBykzxSCD9_8xf6aAwddtmnl7G2x4fQu6Naf28wevvs

มูลนิธิกระจกเงา. (2552). พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า : เมี่ยน.มูลนิธิกระจกเงา, เชียงราย.แหล่งที่มา : http://lahu.hilltribe.org/thai/mien/.5กันยายน 2552.

มูลนิธิพัฒนาอิ้วเมี่ยนไทย. (2014). สรุปการประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “องค์กรอิ้วเมี่ยนเพื่อวัฒนธรรมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” วันที่ 28 มีนาคม 2552 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ วัดพระนอน บ้านหนองบัว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. สืบค้นจาก

https://www.facebook.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-Thai-Iu-mien-Development-Foundation-1052698758083454/?tn-str=k*F

มงคล จันทร์บำรุง. (2529). ประเพณีการแต่งงานของชาวเขาเผ่าเย้า. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา

มงคล จันทร์บำรุง. (2535). “ชาวเขาเผ่าเย้า” ใน เอกสารทางวิชาการประกอบการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรง

ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการพิเศษด้านวิจัยชาวเขา (เผ่าเย้า) “ตำแหน่ง นักวิจัยสังคมศาสตร์ 7” ของนายมงคล จันทร์บำรุง นักวิจัยสังคมศาสตร์ 6 สถาบันวิจัยชาวเขา จังหวัดเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย

รฐษร ศรีสมบัติ. (2559. บทบาทของผู้หญิงเมี่ยนกับการสร้างอัตลักษณ์ในบริบทความเชื่อแบบประเพณีและเศรษฐกิจสมัยใหม. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์. (2545). พลวัตรของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตครอบครัวและบทบาททางเพศสภาพ

ของผู้หญิงอิ้วเมี่ยน (เย้า) ภายใต้ผลกระทบของการพัฒนา.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมเกียรติ จำลอง. (2545). ปราชญ์แห่งการรักษาพยาบาลตามจารีตของอิ้วเมี่ยน. ข่าวสารสถาบันวิจัยชาวเขา ,20 (1) : 61 - 80

สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม. (2539). วิถีเย้า.สถาบันวิจัยชาวเขา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อภิชาต ภัทรธรรม. (2552). เย้า (ข้อมูลทางวัฒนธรรม) ใน วารสารการจัดการป่าไม้ 3(6) : 134-146 (2552) ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ

ภาษาอังกฤษ

Chob Kacha – Ananda. (1997). Thailand Yao : past, present, and future. Tokyo : Institute forthe study of language and cultures of Asia and Africa

Kandre, Peter. (1967). Autonomy and Integration of Social Systems : The Iu Mien (“Yao” orMian”) Moutain Population and their Neighbors. In Southeast Asian Tribes, Minorities and Nationes and Nations, edited by Kunstadler, Piter, Ed.2 Princeton University Press

Lemoine, Jacques. (1983).Yao Religion and Society, in Highlander of Thailand edited byJohn Mckinnon and Wanat Bhruksasri, Oxford University Press, Kuala Lumper

Perve, Emmanuel. (2006). The Hill Tribes Living in Thailand. Prachakorn, Publised by Alligator Service Co Ltd.Chiang Mai

ข่าว

MGR Online. (2560). “ดอยซิลเวอร์” เพิ่มค่าภูมิปัญญาเครื่องเงินชาวเขาผงาดเวทีโลก.(21 มีนาคม 2560) สืบค้นจากhttps://mgronline.com/smes/detail/9600000027428

ท้องถิ่นนิวส์. (2562). งานมหกรรมวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนสัมพันธ์ ครั้งที่ 2 เล็งยกระดับเป็นงานอิ้วเมี่ยนโลกในปีหน้า. (10 กุมภาพันธ์ 2562). สืบค้นจากhttp://www.localnews2010.com/archives/1018


สัมภาษณ์ :

จุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา (แซ่ตั้ง). อดีตประธานชมรมสตรีแม่บ้านอิ้วเมี่ยนและสมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบล บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยาปัจจุบันเป็นแม่บ้านที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่ อำเภอมหาชัย จ.สมุทรสงคราม อายุ 63 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

เจี้ยว แซ่จาว. เกษตรกร บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 82 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

เลาเถา คิริพานกุล. หมอผีของชุมชน บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปงจังหวัดพะเยา อายุ 82 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

ว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน. เจ้าของกิจการร้านขายของชำ/ผู้รู้ทางด้านประวัติศาสตร์และภาษาอิ้วเมี่ยนของบ้านปางพริก ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 78 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

สิริวรรณ โชติชัยชุติมา. พนักงานบริษัท มีภูมิลำเนาเกิดที่บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยาปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัทที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสงคราม อายุ 33 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

เหมยย่าน วารีวิโรจน์. เจ้าของร้านเหมยย่าน ชุดเมี่ยนปังค่า บ้านปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 55 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

เหยนเกี๋ยว แซ่เติ๋น. เกษตรกรและช่างย้อมผ้า บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยาอายุ 68 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย


งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :

ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : อิ้วเมี่ยน