อูรักลาโวยจ

ชื่อเรียกตนเอง : อูรักลาโวยจ

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาวเล, ชาวน้ำ, ชาวไทยใหม่, ยิปซีทะเล, นอแมด

ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน

ภาษาพูด : อูรักลาโวยจ

ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

บทความฉบับเต็ม : ดาวน์โหลด

ข้อมูลอัพเดทล่าสุด ณ วันที่ 17 มิ.ย. 2566

370

อูรักลาโวยจ เป็นคำเรียกที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตนเอง คำว่าอูรักลาโวยจ มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู หมายถึง“ชาวทะเล” บุคคลทั่วไปเรียกพวกเขาในหลากหลายชื่อ เช่น ชาวน้ำ ชาวเล ยิปซีทะเล โดยเฉพาะชื่อเรียก”ชาวเล” เป็นชื่อที่เหมารวมกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานบนชายฝั่งและเกาะแก่งทั้งสามกลุ่ม ขณะที่หน่วยงานราชการเรียกว่า “ชาวไทยใหม่” ทั้งนี้ชื่อเรียกหลายชื่อที่บุคคลนอกวัฒนธรรมใช้เรียกพวกเขานั้นไม่เป็นที่ชอบใจนักเนื่องจากมีแง่มุมของการกดทับและเหยียดหยามอยู่บ้านและหากจะเรียกอย่างถูกต้องตามสำเนียงในภาษาอูรักลาโวยจ ที่ใช้เรียกตัวเองนั่นคือ “อูรักลาโวยจ”

ประวัติความเป็นมาของอูรักลาโวยจ มอแกน และมอแกลน ในนามของชาวเล จำแนกออกเป็นสองแนวทาง แนวทางที่หนึ่ง เชื่อว่า ชาวเลเป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่แถบหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือหมู่เกาะ เมลานีเซีย ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานกระจายไปหมู่เกาะทะเลใช้ชีวิตเดินทางเลอพยพจากทะเล จากดินแดนหมู่เกาะทางใต้ขึ้นมายังฝั่งอันดามันทางใต้ของไทย ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายูสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้ามาอาศัยอยู่ ส่วนแนวทางที่สองเชื่อว่า มีการอพยพจากเหนือลงใต้ โดยมีความเห็นว่าเดิมนั้นอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน แล้วได้อพยพหนีภัยเร่ร่อนลงมาทางใต้เป็นกลุ่ม โดยอาศัยลำแม่โขง ล่องเรือเรื่อยลงมาตลอดแหลมอินโดจีน เมื่อออกทะเลได้อาศัยเรือเร่ร่อนอยู่ไปตามเกาะต่างๆ ตลอดลงไปถึงพม่าและมลายู อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวในแถบอันดามันนั้น ยุคโบราณมีร่องรอยคนพื้นเมือง “ชาวเลโอรังลอนตา” ชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลแถบชายฝั่งอันดามัน เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาพักพิงในหมู่เกาะลันตาและเกาะจำมานานแล้ว ต่อมา ประมาณ 600-500 ปีที่ผ่านมา “ชาวเล โอรังลาอุ๊ต” อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบมะละกาได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณหมู่เกาะลันตา จากตำนานและคำบอกเล่าของชาวเลบนเกาะลันตา และชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ กล่าวถึงเส้นทางการอพยพที่ใกล้เคียงกันว่าหนีภัยโรสลัดจนแตกแยกกันไปคนละทิศละทาง กระทั่งปัจจุบัน ชาวเลทั้งสามกลุ่มกระจายอยู่ในหลายเกาะและพื้นที่ชายฝั่งอันดามันในหลายจังหวัดในส่วนของชาวอูรักลาโวยจนั้น อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล กระบี่ และภูเก็ต

วิถีชีวิตดั้งเดิมของอูรักลาโวยจอาศัยเรือทำมาหากินเคลื่อนย้ายตามหมู่เกาะในทะเล พวกเขาจึงมีความผูกพันและสัมพันธ์กับทะเล ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวเลสามารถเก็บเกี่ยวจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติในทะเลและริมฝั่งทะเลทั้งสิ้น ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจบางกลุ่มเริ่มตั้งถิ่นฐานถาวรบนฝั่งมากขึ้น เนื่องจากแหล่งพักพิงแบบเคลื่อนย้ายถูกยึดครองโดยกลุ่มชนอื่น ปรับตัวเข้าสู่วิถีเกษตรกรรมเพื่ยังชีพร่วมกับการออกเรือหาปลา มีพิธีกรรมสำคัญคือพิธีลอยเรือปลาจั๊ก เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และส่งวิญญานบรรพบุรุษกลับไป “ฆูนุงฌึรัย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองเดิมของบรรพบุรุษ และส่งสัตว์ที่ฆ่ากินเป็นอาหารกลับไปให้เจ้าของเดิมเพื่อไถ่บาป พิธีลอยเรือนี้ถือปฏิบัติสทบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยจัดขึ้นปีละสองครั้งในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และเมื่อเริ่มมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

ชื่อเรียกตนเอง : อูรักลาโวยจ

อูรักลาโวยจ เป็นคำเรียกที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตนเองหรือชื่อที่คนทั่วไปรู้จักคือชาวเล ชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นหมู่เกาะทางใต้ของประเทศไทย คำว่า “อูรัก” หมายถึง “คน” “ลาโวยจ” หมายถึง “ทะเล” โดย“อูรักลาโวยจ”มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู แปลว่า “ชาวทะเล”หรือที่ภาษาราชการไทยเรียกว่า“ชาวไทยใหม่”มีคำเรียกรวมกับชาวทะเลกลุ่มอื่น ๆ อย่างมอแกน และมอแกลนง่าย ๆ ว่า“ชาวเล” การเรียกชื่อตนเองนั้น ชาวอูรักลาโวยจนั้นจะเรียกตัวเองว่า “ลาโวยจ” โดยที่มีตัวสะกด “จ” เพราะถูกต้องที่สุดในการออกเสียงตามภาษาอูรักลาโวยจ (ประภารัตน์ ศุขศรีไพศาล, 2559) ทั้งนี้ ในเอกสารวิชาการที่ผ่านมานั้น ใช้การสะกดชื่อเรียกหลากหลายแบบ ได้แก่ อูรักลาโวย อูรักลาโว้ย อูรักลาโว๊ย อุรักลาโว้ย ทั้งนี้ เมื่อพิสูจทราบในทางภาษาศาสตร์และสำเนียง โดยการทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล และพบว่า การเรียกชื่อ และสะกดคำที่ถุกต้องตามหลักภาษาศาสตร์นั้น ควรจะเป็น " อูรักลาโวยจ"

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาวเล, ชาวน้ำ, ชาวไทยใหม่, ยิปซีทะเล, นอแมด

ชาวเล เป็นคำจำกัดความที่เรียกคนทั่วไปที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเล เกาะหรือคนที่เลี้ยงชีพด้านการประมงเป็นหลักชาวเลจึงเป็นชื่อที่ครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์สามกลุ่ม คือ อูรักลาโวยจ มอแกน และมอแกลน ในมิติภาษาศาสตร์คำดังกล่าวไม่ได้มีความหมายเชิงลบ แต่เกิดจากการย่นย่อคำให้สั้นลง ทำให้สามารถเรียกได้ง่ายขึ้นจึงมักได้ยินคนทั่วไป ทั้งในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เรียกคนที่มีวิถีประมงว่าชาวเลอย่างแพร่หลาย แต่คำว่า “ชาวเล” หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่จะได้กล่าวถึงนี้เป็นการสร้างและให้ความหมายของคำจำกัดความที่แฝงเร้นไปด้วยทัศนะคติเชิงลบ การดูถูก ความด้อยค่า ความโง่เขลาเบาปัญญา ความสกปรกซึ่งผู้ถูกเรียกไม่เป็นที่ชอบใจนัก อย่างไรก็ตาม ชื่อนี้กลับเป็นเสมือนชื่อสากลที่เป็นที่รับรู้ในพื้นที่สาธารณะที่สะท้อนถึงชาวอูรักลาโวยจ

ชาวน้ำ เป็นชื่อเรียกโดยคนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้โดยทั่วไป ในอดีตชาวอูรักลาโวยจไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทยมากนัก และคำนี้ยังถูกบัญญัติอยู่ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตราชยสถาน ปี พ.ศ. 2525 อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ชอบถูกเรียกว่า ชาวน้ำ เนื่องจากเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ โดยเขาให้เหตุผลว่า คนเราเกิดมาจากน้ำอสุจิ ดังนั้น คำว่า ชาวน้ำ จึงเป็นคำที่ต่ำ นอกจากนี้ ยังมีคำที่ทางราชการกำหนดให้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้แทนคำว่า ชาวเล หรือ ชาวน้ำ คือคำว่า “ชาวไทยใหม่” ซึ่งเป็นการลดช่องว่างด้านความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์นี้กับคนทั่วไป

ชาวไทยใหม่ เกิดขึ้นมาจากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนแจกวัตถุปัจจัยที่จำเป็นต่าง ๆ แก่ชาวเล ที่หาดราไวย์และโปรดให้เรียกชาวเลว่า “ไทยใหม่”

ยิปซีทะเล (Sea Gypsy) เป็นคำเรียกโดยชาวตะวันตก ในยุคสมัยอาณานิคมเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีวิถีชีวิตคล้ายกับกลุ่มยิปซีในยุโรปที่อพยพโยกย้ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ ปัจจุบันในภาษาอังกฤษมีการปรับเปลี่ยนคำเพื่อให้ไม่ให้เข้าใจผิดระหว่าง “ชาวยิปซี” กับ “ชาวเล” ซึ่งเป็นคนละกลุ่มชาติพันธุ์กัน

นอแมด (Nomad) แปลว่า กลุ่มคนเร่ร่อน พเนจร มีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอด คำนี้ถูกนำมาใช้แทนคำว่ายิบซีทะเล อีกทั้งคำนี้ ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบดังเช่นคำว่า “ยิปซี” ที่คนภายนอกให้ความหมายในทางที่ไม่ดี ดังนั้น หากแปลตามภาษาอังกฤษแล้วจึงเรียก “ชาวเล” ได้อีกชื่อหนึ่งว่า “คนพเนจรทางทะเล” (Sea Nomad)

ภาษา

ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน

ตระกูลภาษาย่อย : อูรักละโว้ย

ภาษาอูรักลาโวยจ จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน กลุ่มภาษามาลาโย-โพลิเนเซียน สาขามาเลย์อิก สาขาย่อยมาลายัน มีรากศัพท์ใกล้เคียงกับภาษามาลายูในด้านเสียง แต่มีความแตกต่างกันในลักษณะทางไวยกรณ์ โดยลักษณะทางภาษาจัดเป็นภาษาถิ่นหนึ่ง (dialact) ของภาษามาเลย์เช่นเดียวกับภาษาของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ของไทย

ภาษาพูด : อูรักลาโวยจ

ชาวเลอูรักลาโวยจ ใช้ภาษาอูรักลาโวยจเป็นภาษาพูด ใช้ภาษามาเลย์กลาง (ภาษามาเลย์มาตรฐาน) สำหรับบทสวดในพิธีกรรม และใช้ภาษามาเลย์กลางผสมภาษามาเลย์ถิ่นและภาษาอูรักลาโวยจสำหรับขับเพลงรำมะนา

ภาษาอูรักลาโวยจในแต่ละคำเป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์กำกับแต่มีการเน้นเสียงหนักเบา (stress) เฉพาะในแต่ละคำ และมีการใช้ทำนองเสียง (intonation) เพื่อแสดงความแตกต่างของความหมายและชนิดของประโยค หน่วยเสียงในภาษาอูรักลาโวยจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ หน่วยเสียงพยัญชนะ 19 หน่วยเสียงและหน่วยเสียงสระ 15 หน่วยเสียง เป็นสระเดี่ยว 8 เสียง สระผสม 7 เสียง ทั้งหน่วยเสียงพยัญชนะและหน่วยเสียงสระไม่มีความแตกต่างระหว่างเสียงสั้นและยาว

คำสรรพนามในภาษาอูรักลาโวยจทุกคำสามารถใช้ได้กับทั้งเพศหญิงและเพศชาย ไม่จำกัดว่าคำใดต้องใช้กับเพศใด การเลือกใช้สรรพนามแต่ละคำไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง หรือไม่มีระดับของสรรพนามว่าคำใดสุภาพหรือไม่สุภาพ เช่น พูดกับพ่อหรือเพื่อนก็ใช้สรรรพนามคำเดียวกัน หากเป็นบุรุษเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีการใช้คำลงท้าย (final particle) และคำลักษณะนาม (classifier) เช่นเดียวกับภาษาไทย (อมร ทวีศักดิ์, 2529,: 22)

จากการใช้กลุ่มคำศัพท์พื้นฐาน 100 คำของ Moris Swadesh พบว่า ภาษาชาวเลอูรักลาโวยจที่เกาะอาดังและภาษามาเลย์มาตรฐานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันถึงร้อยละ 91 และคำศัพท์ในภาษาชาวเลอูรักลาโวยจ
ที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ตกับภาษามาเลย์มาตรฐานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันถึงร้อยละ 90 (อมร ทวีศักดิ์, 2529 : 4)หากเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาชาวเลกับภาษามลายูที่ใช้ใน 4 จังหวัดภาคใต้และภาษามลายูกลาง บางคำจะแตกต่างกันที่ตัวสะกด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาษาอูรักลาโวยจดั้งเดิมประกอบด้วยหน่วยเสียง 2 พยางค์ จะมีหน่วยคำไม่มากนัก ที่มี 1-3 และ 4 พยางค์ เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างกลุ่ม จึงมีการสร้างคำใหม่ เพื่อใช้เรียกวัตถุสิ่งของเครื่องใช้สมัยใหม่ที่รับเข้ามาจากสังคมภายนอก ด้วยวิธีการนำศัพท์ดั้งเดิม 2-3 คำมารวมกัน เพื่อให้เกิดคำใหม่ในลักษณะคำประสมที่มีหน่วยคำ 4- 5- 6 หรือ 7 พยางค์

ลักษณะการสร้างคำใหม่ในลักษณะคำผสม คำประสม หรือคำยืมจากภาษาไทยและภาษาจีน เป็นตัวอย่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ชาวเลอูรักลาโวยจมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวจีนและชาวไทยบนเกาะลันตา จนกระทั่งมีการรับเอาสิ่งใหม่ที่แพร่กระจายเข้าไปในชุมชน จึงต้องสร้างคำใหม่ ส่วนคำว่าอีเย็น หรือ engine อาจจะเรียกตามช่างเครื่องเรือในท้องถิ่น หรือเป็นคำศัพท์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อาศัยเร่ร่อนอยู่ในเขตประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532, 21)

ทั้งนี้ แม้มีความแตกต่างกันในเรื่องระบบเสียง แต่โครงสร้างของประโยคมีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงสร้างของภาษาต่าง ๆ ในแถบเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่ คือ ลำดับของคำต่าง ๆ ในประโยคทั่วไป จะเป็น ประธาน - กริยา – กรรมเช่นku makat nasi (ฉัน กิน ข้าว)(อมร ทวีศักดิ์, 2529, 45)

สำหรับคำเรียกญาติ และเรียกผู้อาวุโสที่นับถือในกลุ่มชาวเล บนเกาะลันตาจะใกล้เคียงกับภาษามลายู ในกลุ่มชาวมุสลิม เช่น คำว่า ป๊ะ (พ่อ)มะ (แม่) โต๊ะ (ปู่ ย่า ตา ยาย)โต๊ะแหนะ (ทวด) จ๊ะ (พี่สาว) บัง (พี่ชาย) สู (ลุง) ฯลฯ นอกจากนั้น คำว่า โต๊ะยังใช้เรียกผู้อาวุโสที่เป็นผู้นำ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่า เป็นตัวแทน
บรรพบุรุษด้วย เช่น โต๊ะกามั้ย (ภาษามลายู เรียกว่า โต๊ะกาหมาด) โต๊ะบุร๊ก (ภาษามลายู เรียกว่า โต๊ะบุหรง) โต๊ะบิดัด (ภาษามลายู เรียกว่า โต๊ะบิดัน) คำว่าโต๊ะบอมอ (ผู้นำกลุ่มของชาวเล) ปัจจุบัน เรียกว่า โต๊ะหมอ โดยใช้คำว่า หมอในภาษาไทย ผสมกับคำว่า โต๊ะ(อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, 202)

ปัจจุบันผู้สูงอายุชาวเลในกลุ่มสังกาอู้ยังคงสื่อสารด้านภาษาอูรักลาโวยจกับญาติพี่น้องและลูกหลาน และสื่อสารภาษาไทยกับเพื่อนบ้านต่างกลุ่ม ส่วนเด็กรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มบ้านหัวแหลมกลาง เกาะลันตา จะสื่อสารภาษาไทยเป็นหลัก เนื่องจากเรียนร่วมกับเด็กไทย จีนและมุสลิม ส่วนคนรุ่นอายุประมาณ 30-40 ปี สามารถฟังภาษาไทยได้ และสื่อสารภาษาไทยมากกว่าคนรุ่นอายุประมาณ 40-50 ปีส่วนอายุประมาณ 50-60 ปีขึ้นไปยังฟังและสื่อสารภาษาอูรักลาโวยจกับชาวเลบ้านหัวแหลม บ้านสังกาอู้ และชาวเลอูรักลาโวยจจากต่างถิ่น เช่น เกาะพีพี เกาะจำ เกาะสิเหร่ ราไวย์ และเกาะหลีเป๊ะ (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, 201)เช่นเกียวกันกับชาวเลกลุ่มอื่นที่ผู้สูงอายุจะสื่อสารภาษาอูรักลาโวยจกับญาติพี่น้องและลูกหลานในกลุ่ม และสื่อสารภาษาไทยกับคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่เด็กอูรักลาโวยจรุ่นใหม่จะนิยมใช้ภาษาไทยท้องถิ่น (ปักษ์ใต้) ผสมคำภาษาชาวเล สำเนียงการพูดภาษาไทยของชาวเลอูรักลาโวยจแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น กลุ่มที่อาศัยอยู่ที่ภูเก็ตจะพูดสำเนียงภูเก็ต กลุ่มที่อาศัยบนเกาะอาดัง หลีเป๊ะ และเกาะบูโหลน จะสื่อสารสำเนียงสตูลผสมศัพท์ภาษาอูรักลาโวยจและภาษายาวี เป็นต้น

ตัวอักษรที่ใช้เขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ชาวเลอูรักลาโวยจไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน ชาวเลอูรักลาโวยจรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษา จะใช้อักษรไทยสำหรับเขียนภาษาอูรักลาโวยจ แต่ไม่สามาถแทนได้ทั้งหมด

ในอดีตชาวเลอูรักลาโวยจเร่ร่อนตามหมู่เกาะแถบทะเลอันดามันตั้งแต่ช่องแคบมะละกาขึ้นมาบริเวณเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลนดอน และเกาะบูโหลนเล จังหวัดสตูล เกาะพีพี (แหลมตง) เกาะจำ (ชุมชนโต๊ะบุหรง ชุมชนท่าเรือมูตู ชุมชนกลาโหม ชุมชนบ้านกลาง)เกาะลันตา (บ้านคลองดาว บ้านในไร่ บ้านโต๊ะบาหลิว บ้านหัวแหลมกลาง และบ้านสังกาอู้) จังหวัดกระบี่ เกาะสิเหร่ (แหลมตุ๊กแก) บ้านราไวย์ และบ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต รายละเอียดการตั้งถิ่นฐานของชาวอูรักลาโวยจในปัจจุบันนั้นกระจายอยู่ตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ในจังหหวัด สตูล กระบี่ และภูเก็ต

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “อูรักลาโวยจ” อพยพเข้ามาอาศัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในแถบทะเลอันดามัน และมีการแต่งงานกับกลุ่มดั้งเดิมบริเวณหมู่เกาะลันตา หรือ“ปูเลาลอนตา” การตั้งถิ่นฐานปรากฎผ่านร่องรอยหลักฐานในพื้นที่สุสานที่บ้านแต้เหล็งและบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองดาว ตลอดจนคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนที่มีการคำนวณอายุของบรรพบุรุษที่เข้ามาพักพิง ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ สิ่งเหนือธรรมชาติ และชื่อสถานที่ต่าง ๆ บริเวณหมู่เกาะลันตาที่เป็นภาษาอูรักลาโวยจ ก็บ่งบอกว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะลันตา แต่ด้วยวัฒนธรรมเร่ร่อนหากินทางทะเลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีวัฒนธรรมในการจับจองพื้นที่เพื่อตั้งถิ่นฐานถาวรอาศัยพักพิงชั่วคราวตามชายฝั่งทะเลเฉพาะช่วงฤดูมรสุม ในระยะหลังเมื่อหวนกลับมายังแหล่งเดิม มักจะพบว่าชนกลุ่มอื่นเข้ามายึดครองแล้วจึงต้องหาแหล่งพักพิงใหม่ และมีการเคลื่อนย้ายเริ่มจากบริเวณ บ้านทุ่งหยีเพ็ง บ้านทุ่งโต๊ะเขียว บ้านเจ๊ะหลี บ้านบ่อแหน (ที่ตั้งศาล “โต๊ะบาหลิว” ดั้งเดิม) บ้านในไร่ แหลมคอกวาง และคลองดาว ด้านหน้าเกาะเดิมอาศัยบริเวณตลาดศรีรายา ขยับไปหัวแหลมแค่ (หัวแหลมใกล้) ปัจจุบันขยับมาอาศัยบริเวณบ้านหัวแหลมกลาง และบ้านสังกาอู้(อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554: 77-78)

สันนิษฐานว่า ชาวเลบนเกาะลันตาเริ่มตั้งถิ่นฐานบนชายฝั่งอย่างน้อยประมาณ 200 - 300-ปีมาแล้ว แต่ยังเคลื่อนย้ายทำมาหากินตามฤดูกาล ทำให้พื้นที่ที่เคยพักพิงมีผู้อื่นเข้ามาครอบครอง จนกระทั่งทำให้ชาวอูรักลาโวยจต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาตั้งถิ่นฐานถาวรบนฝั่ง ตามคำบอกเล่าว่า ในอดีตเกาะลันตา บริเวณบ้านหัวแหลมกลางเป็นศูนย์รวมของชาวอูรักลาโวยจ และเป็นพื้นที่แรกที่ชาวอูรักลาโวยจตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย นับได้ว่าเกาะลันตาเป็นเมืองหลวงของชาวอูรักลาโวยจ (อาภรณ์อุกฤษณ์, 2554: 78) นอกจากนั้นชาวเลอูรักลาโวยจยังกระจายตัวอาศัยตามชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดกระบี่ บริเวณเกาะจำและเกาะพีพี สำหรับชาวเกาะพีพี จะมีการแต่งงานข้ามกลุ่มระหว่างชาวมอแกนกับชาวอูรักลาโวยจ

จากคำบอกเล่าของชาวเกาะลันตา เล่าว่า ประมาณปี พ.ศ. 2452 (รัชกาลที่ 5) โต๊ะฆีรี ซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากสตูล (ภรรยาเป็นชาวเล) ได้มาชักชวนชาวเลจากเกาะลันตาและเกาะสิเหร่ไปตั้งถิ่นฐานที่เกาะอาดัง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของไทยในการปักปันเขตแดนระหว่าง ไทย-มาเลเซีย(อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554 : 78)โต๊ะคีรีถือเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญคาถาอาคม จึงได้รับยกย่องให้เป็นผู้นำ ทุกคนให้ความเคารพนับถือโต๊ะฆีรี เมื่อโต๊ะฆีรีเสียชีวิตจึงมีการบวงสรวงวิญญาณโต๊ะฆีรีในพิธีลอยเรือ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน

จรัส ง๊ะสมัน (2534 : 27)ได้กล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มอูรักลาโวยจที่เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังว่า ผู้ที่มาอาศัยอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะคนแรก คือ โต๊ะมาหมาด หลังจากนั้นอีก 1 ปี โต๊ะฆีรีได้โยกย้ายเข้ามาอาศัยอยู่พร้อมกับโต๊ะสะนู และได้ชักชวนคนอื่น ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ด้วยเนื่องจาก ใน พ.ศ. 2452 อังกฤษต้องการดินแดนฝั่งตะวันตกของไทย โดยเฉพาะเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง พระยาภูมินารถภักดี เจ้าเมืองสตูลขณะนั้น จึงได้นำชาวเลจากเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต และจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มาอยู่ที่เกาะทั้งสองนี้เพื่อเป็นหลักฐานว่าเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังเป็นส่วนหนึ่งของไทย ปัจจุบันชาวเลเหล่านี้ได้เป็นต้นตระกูลของชาวเลเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้นามสกุล “หาญทะเล” และ “ทะเลลึก”

บนเกาะบูโหลนเล อูรักลาโวยจคนแรกที่ขึ้นไปอาศัยอยู่ คือ โต๊ะลอยัง ต่อมาชาวเลจากเกาะลันตาเข้ามาอยู่อีก 2-3 ครอบครัว หลังจากนั้นได้ย้ายไปอยู่เกาะบูโหลนดอน โดยมีโต๊ะสินตาลูกชายของโต๊ะลอเป็นผู้นำและมีชาวเลบางคนกลับไปอยู่เกาะบูโหลนเล แต่ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้นานเนื่องจากไม่มีผู้นำในการประกอบพิธีลอยเรือบูชาเจ้าเกาะ ทำให้เกิดการเจ็บไข้ บางส่วนกลับมาอยู่ที่เกาะบูโหลนดอน บางส่วนไปอยู่ที่เกาะอาดังเกาะบูโหลนเลจึงเป็นเกาะร้าง

กลุ่มที่อาศัยอยู่ที่เกาะบูโหลนดอน มีการตั้งโรงเรียนขึ้นใน พ.ศ. 2515 เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ต่อมา พ.ศ. 2524 ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นเห็นว่า เกาะบูโหลนดอนมีขนาดเล็กไม่มีพื้นที่สำหรับทำเกษตร การทำประมงเพียงอย่างเดียงไม่สามารถหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตได้ อีกทั้งทรัพยากรในทะเลก็มีจำนวนน้อยลง จึงได้ชักชวนให้ย้ายไปอาศัยบนเกาะบูโหลนเล พร้อมกับมีข้อเสนอต่อทางราชการให้ย้ายโรงเรียนไปที่เกาะบูโหลนเล อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ไม่ยินยอมโยกย้ายผู้ใหญ่บ้านจึงชักชวนคนจากเกาะอาดังส่วนหนึ่งมาอยู่ที่บูโหลนเล (หลี องศาราม 2532: สัมภาษณ์ ; อ้างถึงใน จรัส ง๊ะสมัน, 2534: 27-28)

ส่วนจุดแรกที่อูรักลาโวยจเกาะสิเหร่ขึ้นมาอาศัย คือ บริเวณแหลมกลาง ใกล้แหลมตุ๊กแก ต่อมาบริษัทเหมืองแร่ได้ซื้อที่ดินจากผู้ที่อ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน เพื่อทำเป็นสำนักงาน จนกระทั่งเกิดการฟ้องร้องกัน ศาลจึงตัดสินให้บริษัทชนะคดี ทำให้บริษัทได้มีการฟ้องร้องผู้นำ 4 คน เพื่อเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณดังกล่าว ในพ.ศ. 2502 พวกเขาจึงต้องย้ายมาอยู่ที่แหลมตุ๊กแกซึ่งมีเจ้าของอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขว่าห้ามตั้งร้านค้าแข่งขันกับเจ้าของที่ดิน และจะต้องขายปลาที่หาได้กับเจ้าของที่ดินเท่านั้น ชาวอูรักลาโวยจกลุ่มนี้จึงปักหลักอยู่บริเวณดังกล่าว ภายใต้การถูกผูกขาดการซื้อสินค้าที่มีราคาแพงจากร้านเจ้าของที่ดินและต้องขายของทะเลในราคาถูกให้กับเจ้าของที่ดินเพื่อแลกกับที่อยู่อาศัย (พิมพิไล ตั้งเมธากุล, 2529, 21-22)ขณะที่บรรพบุรุษของชาวเลอูรักลาโวยจที่สะปำ ในอดีตเคยอาศัยอยู่ร่วมกับกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจที่แหลมตุ๊กแก ต่อมาบางครอบครัวได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่สะปำจนถึงปัจจุบัน (สิทธิ์ ประโมงกิจ, สัมภาษณ์, 2559)

แหล่งข้อมูล

ผู้เรียบเรียงข้อมูล :

ผศ.อาภรณ์ อุกฤษณ์ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

เอกสารอ้างอิง :

จรัส ง๊ะสมัน. (2534). การศึกษานิทานชาวเลจังหวัดสตูล. ปริญญานิพนธ์หลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สงขลา.

เจน จรจัด. (นามแฝง) (2525). “อูรักลาโวยจ ; วิญญาณอิสระแห่งท้องทะเล” อนุสาร อสท. ปีที่ 22 ฉบับที่ 8 (มีนาคม 2525) หน้า 47-53.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2513). สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน เล่ม 10. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ รุ่งธรรม.

ดี.จี.ฮอลล์.(2549). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (แปลโดยท่านผู้หญิงวรุณยุพาและคณะ) พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

สมิธ, เอช. วาริงตัน.(2539). “บันทึกการเดินทางไปยังบางจังหวัดทางภาคตะวันตกเฉียงใต้,”ในรวมเรื่องแปล หนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 1. (แปลโดย ธนัญญา ทองซ้อนกลีบ) หน้า 139-208กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร

ประทีป ชุมพล. “ชาวเล ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับสังคม ชีวิต การศึกษา”. แลใต้, ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2524)

ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2517). “ชาวน้ำเกาะอาดัง”. วิทยาสาร, 25 (เมษายน 2517)หน้า 25-27

พิมพิไล ตั้งเมธากุล. (2529). การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม. ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนชาวเลเกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สารนิพนธ์ ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

สแตนตัน, แมรี่ บัลค์ลีย์. (2550).สยาม คือบ้านของเรา. (แปลโดย เด็กวัฒฯ รุ่น 100). กรุงเทพมหานคร :คณะบุคคลวัฒนา รุ่น 100

สิริพงษ์ มุกดา. (2009). “ตำนานโต๊ะแซะ”. นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน. VOL.7 No.82 March 2009 สืบค้นเมื่อ 1/9/ 2016 จาก www.phuketbulletin.co.th

สุพัฒน์ธัญญวิบูลย์.(2539).เมืองท่ามะละกาในคริสต์ศตวรรษที่15.สารนิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุวัฒน์ คงแป้น. (2558). รวมญาติชาวเล เพื่อศักดิ์ศรีที่ทัดเทียม. สืบค้น เมื่อ 29/8/2016 chumchonthai.or.th>node

อมร ทวีศักดิ์. (2529). ภาษาชาวเล. กรุงเทพฯ : ปิ่นเกล้าการพิมพ์,

อาณัติ อนันตภาค. (2554).ตำนานโจรสลัด. กรุงเทพมหานคร : ยิปซี.

อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2531). “ตำนานชาวเล”. เมืองโบราณ. ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน2531) หน้า 70-75.

อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2532). พิธีลอยเรือ : ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมของชาวเล กรณี ศึกษา ชุมชนบ้านหัวแหลม เกาะลันตา กระบี่. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิจิมทอมสัน

อาภรณ์อุกฤษณ์.(2545 - 2547).ชาวเล : แหล่งอาศัยและวิถีชีวิต.การวิจัยเพื่อเขียนคำโครงการแผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้. สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา.

อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2554). พลวัตการปฏิสัมพันธ์และชาติพันธุ์ธำรงของชาวเลเกาะลันตา จังหวัดกระบี่.ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2554

อุทัย หิรัญโต. (2516). “เรื่องของชาวน้ำ” วารสารกระบี่ 1. (ฉบับปฐมฤกษ์). (มกราคม 2516) หน้า47-50

Bernazik,H.A. (1958). The Spirits of the Yellow Leaves.London : Robert Hale Ltd.

Court, Chistopher. (1971). “A Fleeting Encounter with the Moken (The Sea gypsies in southern Thailand). Some Linguistic and General note,” The Journal of the Siam Societhy. 5,1 (January 1971).

Hogen, David, W. (1972). “Man of the Sea : Coastal Tribs of South Thailand’s West Coast,” The Journal ofThe SiamSociety. 60, 1 (January 1972), pp.205-235.

Kemp, Peter. ( 2002). The History ofShips. (Reprinted 4th edition). New York : Barnes&Noble

Levi-Struss, Claude. (1963). Structural Antroprology. New York : Basic Books.

Levi-Struss, Claude. (1969). “The Raw and The Cooked,” Introduction to a Science of Mythology. New York : Harper & Row.

Sorat Makboon, (1981). A Survey of Sea People’s Along The West Coat of Thailand. Unpublised M.A. Mahidol University.

สัมภาษณ์ :

กานดา ประโมงกิจ. 44/3 หมู่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2559)

กิมสี้ กิจค้า. บ้านแต้เหล็ง ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2516. ปัจจุบันถึงแก่กรรม)

เกม ช้างน้ำ.หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อ 2530)

ชนะ หาดทรายทอง. 50/16 ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2559)

ชัยรัตน์ ทะเลลึก. หมู่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

ซาเย้ ทะเลลึก.หมู่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อ 2530)

เดียว ทะเลลึก.85 หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559)

ธานี สิงขโรทัย.37 หมู่ 3 บ้านเกาะบูโหลน ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

นพรัตน์ กาญจนวโรดม. 143 หมู่ 1 ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553)

นิกร ไหวพริบ. ตลาดศรีรายา ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 เมษายนพ.ศ. 2530. ปัจจุบันถึงแก่กรรม).

บูเด็น คบคน. 42 หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550)

ประชาทะเลลึก. หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2550)

ประสมกิจค้า. 49 หมู่ 2 ตลาดศรีรายา ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2550. ปัจจุบันเสียชีวิต).

พยนต์ ทิมเจริญ. พยนต์ ทิมเจริญ. 4/1127 หมู่บ้านสหกรณ์เคหสถาน 4แขวงคลองกลุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ.(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2546)

พรสุดา ประโมงกิจ. 24 หมู่ 8 บ้านแหลมตง เกาะพีพี อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2559)

มะสีทะเลลึก. หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19ตุลาคม 2551)

ลู่ดน ทะลึก หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2530ปัจจุบันถึงแก่กรรม)

สิทธิ์ ประโมงกิจ.42/2 หมู่ 3 บ้านสปำ ตำบลเกาะแก้ว อ.เมือง จ. ภูเก็ต(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

สิริพงษ์ มุกดา. (2009). “นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน”. VOL.7 No.82 March 2009 สืบค้นเมื่อ 1/9/ 2016 จาก www.phuketbulletin.co.th

แสงโสม หาญทะเล. 316 หมู่ 7 เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

หีม ดำรงเกษตร. 112 หมู่ 2 ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่พ.ศ. 2559)[SS1]

อูลิน ช้างน้ำ. 164 หมู่ 3 บ้านมู่ตู ตำบลศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)

อัมรี สิเดะ (Amri Sidik) ไกด์ชาวอินโดนีเซีย (สัมภาษณ์เมื่อ March 30, 2008)


[SS1]ข้อมูลขาดความครบถ้วน

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง :

ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ : อูรักลาโวยจ